ที่พึ่งของใจ – พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ
ที่พึ่งของใจ – ชีวิตเรามีร่างกายกับจิตใจ ร่างกายต้องพึ่งพาอาศัยวัตถุ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ฯลฯ อันเป็นปัจจัยพื้นฐานเพื่อให้ร่างกายมีชีวิตอยู่ได้ นอกจากนี้คนเรายังประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความสะดวกสบายให้แก่ร่างกาย เช่น บ้าน รถยนต์ ตู้เย็น แอร์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ทำให้ผู้คนต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินมาซื้อวัตถุไว้บริโภคได้มาเท่าไรก็ไม่พอ ยังอยากได้สิ่งดี ๆ ยิ่งขึ้นไปอีก
ทัศนะดังกล่าวทำให้จิตใจยึดติดอยู่กับวัตถุ เอาวัตถุมาเป็นที่พึ่งของร่างกายและจิตใจ ทำให้ชีวิตมีความทุกข์ เราคงไม่ปฏิเสธว่าร่างกายต้องการวัตถุเป็นเครื่องอยู่อาศัย เพราะร่างกายก็คือธาตุ 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) ส่วนวัตถุก็คือธาตุเช่นเดียวกับร่างกาย โดยธรรมชาติแล้วธาตุ 4 ต้องอาศัยธาตุ 4 ด้วยกัน เช่น ถ้าบ้านผุพัง เมื่อจะซ่อมแซมก็ต้องหาวัสดุมาซ่อม จะไปใช้พลังจิตหรือวิงวอนร้องขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้บ้านคืนสู่สภาพเดิมไม่ได้ แต่ใจของเรามิใช่วัตถุหรือธาตุ 4 หากปล่อยให้ใจยึดถือเอาวัตถุมาเป็นที่พึ่งที่อาศัยก็จะมีแต่ความทุกข์ใจ
ทั้งนี้เพราะวัตถุเป็นเชื้อกิเลสตัณหาของจิตใจเป็นอย่างดี เช่น กามตัณหา คือ ความทะยานอยากในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ซึ่งมาจากวัตถุหรือธาตุ 4 ทั้งสิ้น พระพุทธองค์ตรัสว่า กิเลสเป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟราคะ (ความอยากได้ อยากเสพ) ไฟโทสะ (เมื่อไม่ได้ดังใจ) และไฟโมหะ (ความลุ่มหลงมัวเมา ยึดติด) เพราะไม่รู้ธรรมชาติความเป็นจริงของวัตถุ
ธรรมชาติความเป็นจริงของวัตถุหรือธาตุ 4 คืออะไร?
ธรรมชาติของความเป็นจริงของวัตถุหรือธาตุ 4 คือ สิ่งที่ตกอยู่ใต้กฎของไตรลักษณ์ดังนี้
1. เป็นของไม่เที่ยง (อนิจจัง) มีความเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา เป็นของไม่แน่นอน เป็นของชั่วคราว
2. คงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (ทุกขัง) เพราะเนื้อในมวลสารของมันเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็มีความขัดแย้งกดดันกันทำให้กร่อนโทรมผุพังไปตามกาลเวลา ไม่สามารถคงทนอยู่ในสภาพเดิมได้
3. เป็นสมบัติของโลก มาจากทรัพยากรของโลกไม่ใช่ของของใคร (อนัตตา) ต่างยืมเอาทรัพยากรของโลกมาใช้กันชั่วคราว เพราะเมื่อตายไปก็ต้องคืนสิ่งที่มีอยู่ไว้กับโลก เอาสมบัติวัตถุไปไม่ได้เลย การเห็นว่าเป็นของคนใดคนหนึ่งนั้น เห็นตามนิยามของชาวโลก เพื่อให้เกิดสิทธิ หน้าที่ และกรรมสิทธิ์ในการครอบครอง นอกจากนี้ยังไม่สามารถบังคับสิ่งที่มีอยู่ให้เป็นไปตามที่ตนปรารถนา เช่น อย่าได้เสื่อมโทรมเลย อย่าได้พลัดพรากจากกันได้เลย
เมื่อธรรมชาติของวัตถุเป็นเช่นนี้หากใครเข้าไปเสพโดยไม่รู้ความเป็นจริงก็จะไปหลงวัตถุดังนี้
1. สิ่งที่ตนรัก ยินดี พอใจ ก็ไม่อยากให้สิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ตนไม่ปรารถนา แต่โดยธรรมชาติของวัตถุย่อมเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย หากการเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทางที่ผู้ครอบครองเสียผลประโยชน์ก็จะมีความทุกข์ใจ
2. สิ่งที่ตนรัก ยินดี พอใจย่อมไม่อยากให้ชำรุดทรุดโทรม หรือต้องสูญเสียไป ครั้นวัตถุนั้นชำรุดทรุดโทรมหรือพลัดพรากจากไปก็จะมีความทุกข์ใจ เพราะไม่ยอมรับความเป็นจริงตามกฎธรรมชาติ
3. เห็นว่าชีวิตนี้ (ร่างกายจิตใจ) เป็นตัวตนและเมื่อครอบครองสิ่งใดก็เห็นสิ่งนั้นเป็นของของตน นอกจากนี้ยังต้องการที่จะบังคับสิ่งต่าง ๆ ที่ตนสัมผัสสัมพันธ์อยู่ให้เป็นไปตามที่ตนปรารถนา ครั้นไม่ได้ดังใจก็จะมีความทุกข์ใจ
ร่างกายไม่มีความคิดจึงไม่สามารถเสาะหาวัตถุมาครอบครองและใช้สอยได้ มีแต่ใจเท่านั้นที่เข้าไปกำกับร่างกายให้แสดงพฤติกรรมต่อวัตถุ การที่ใจเข้าไปสัมผัสสัมพันธ์ต่อวัตถุดังกล่าว หากไม่เข้าใจธรรมชาติความเป็นจริงของวัตถุตามกฎของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว ใจก็มีความลุ่มหลงต่อวัตถุ และไปยึดมั่นสำคัญหมายว่าวัตถุที่ตนครอบครองนั้นเป็นของของตน นอกจากนี้ยังนำเอาวัตถุมาเป็นที่พึ่งทางใจอีกด้วย อันเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์
เมื่อร่างกายมีวัตถุเป็นที่พึ่งที่อาศัย ใจควรจะมีอะไรเป็นที่พึ่งที่อาศัย ก่อนอื่นต้องพิจารณาว่าใจของเราต้องการอะไร แท้จริงแล้วใจต้องการความสงบเย็น ความสุข ความเป็นอิสระจากเครื่องพันธนาการของกิเลสตัณหา และการมีสติปัญญาที่จะละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่ใจต้องการเป็นที่พึ่งที่อาศัยก็คือ ธรรมะ จะมีสักกี่คนที่เอาธรรมะมาเป็นที่พึ่งของใจ เห็นมีแต่เอาวัตถุมาเป็นที่พึ่ง ใจจึงเร่าร้อนยากจะหาสันติสุขได้ ขอให้พิจารณาตามความเป็นจริงเถิดว่า ชีวิตของคนที่มีสมบัติวัตถุมาก ในใจเขาจะสงบเย็นหรือเร่าร้อน ส่วนมากจะเร่าร้อนกันแทบทั้งนั้น
นับจากการแสวงหาวัตถุได้เท่าไรก็ไม่พอ มีแต่ต้องการเพิ่มขึ้น เช่น หามาเพิ่ม ขยายงาน ขยายโครงการ ลงทุนเพิ่ม กู้เงินเพิ่ม เหล่านี้ล้วนเป็นของร้อนใจทั้งสิ้น ทุกครั้งที่ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย หรือเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ก็จะเป็นทุกข์ หากต้องแบ่งปันให้แก่บริวารหรือผู้มีส่วนร่วม เมื่อแบ่งให้ไม่ถูกใจฝ่ายใดก็มีเสียงนินทาว่าร้ายให้ทุกข์ใจ
ในการปกครองบริหารวัตถุ เมื่อวัตถุใดวัตถุหนึ่งชำรุดทรุดโทรม หรือพลัดพรากจากไปก่อนเวลาอันควร ก็ทุกข์ใจ ในการเสพวัตถุเช่นกัน หากเสพโดยขาดปัญญาก็จะนำโรคภัยไข้เจ็บตลอดจนความเดือดร้อนต่าง ๆ มาให้ แม้เสพวัตถุชั้นดีมีความประณีต เช่น นั่งรถเก๋งราคาแพง อยู่ในห้องหรูหราติดแอร์เย็นฉ่ำ เมื่อใจร้อนด้วยความทุกข์ ความเย็น หรือความหรูหราสะดวกสบายของวัตถุ ก็ไม่สามารถดับความทุกข์ใจอันเกิดจากเพลิงกิเลสตัณหาได้เลย
ใจที่มีธรรมะเป็นที่พึ่งจะช่วยดับร้อนผ่อนเย็น เมื่อเข้าไปสัมผัสสัมพันธ์กับวัตถุ โดยไม่ยอมให้วัตถุเข้ามาผูกพันใจจนขาดอิสรภาพ นับตั้งแต่การหามา การปกครองครอบครอง และการใช้ไป เป็นการสัมพันธ์กับวัตถุอย่างมีปัญญา มีสถานะเป็นนายของวัตถุ มิใช่สัมพันธ์อย่างมีกิเลสตัณหา ยอมตกเป็นทาสของวัตถุ โดยเฉพาะในวาระสุดท้ายที่จะต้องจากโลกไปก็ไม่ห่วงหาอาลัย ให้วัตถุมาฉุดรั้งจูงจิตไปสู่อบายภูมิ ไม่ว่าวัตถุนั้นจะเป็นทรัพย์สิน เงินทองรวมถึงบุคคลผู้ใกล้ชิด แม้ร่างของตนซึ่งเป็นธาตุ 4 ก็สามารถปล่อยวางได้โดยไม่อาลัย เพราะใจมีธรรมเป็นที่พึ่ง ธรรมจะช่วยคุ้มครองป้องกันใจให้พ้นจากทุกข์ เติมสันติสุขให้เพิ่มพูนยิ่ง ๆ ขึ้นไป
จงใช้ชีวิตอย่างมีปัญญา อย่ายอมให้กิเลสตัณหานำพาเอาวัตถุหรือธาตุ 4 มาหลอกล่อใจให้ลุ่มหลง จนเป็นนายเหนือใจอีกต่อไปเลย
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ
บทความที่น่าสนใจ
หลวงปู่ทุย พระป่าสายปฏิบัติที่คงข้อวัตรได้อย่างเคร่งครัด
“ธรรม” ที่พึ่งพิงของชีวิต บทความให้แง่คิด จาก พระไพศาล วิสาโล