คนนี้แหละ “รักแท้” ของ เจนนิเฟอร์ คิ้ม

คนนี้แหละ “รักแท้” ของ เจนนิเฟอร์ คิ้ม

หลายคนคงรู้จัก เจนนิเฟอร์ คิ้ม ไม่ว่าจากชีวิตด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสามด้าน และคงมีคนอีกจำนวนมากที่ชื่นชมการแสดงบนเวทีของเธอที่มักสลับเพลงเพราะ ๆ ด้วยการปล่อยมุกสุดแพรวพราวเรียกเสียงฮาได้สนั่นทุกครั้ง…แต่ลึกเข้าไปในเสียงหัวเราะและมุกชวนยิ้มที่จิกกัดเรื่องโน่นนี่นั่นได้อย่างเจ็บแสบนั้น ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างซุกซ่อนอยู่

เราได้พูดคุยกับหญิงสาว (ใหญ่) เชื้อสายจีน เจ้าของชื่อ-สกุลจริงว่า พรพรรณ ชุนหชัย หรือ ไก่ ในบรรยากาศแบบสบาย ๆ …รอยยิ้มยังคงมีให้เห็น…ทั้งที่วันนั้นเป็นวันถัดจากที่คุณพ่อสุดที่รักของเธอเพิ่งจากไป

 

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของคุณพ่อด้วยนะครับ

ขอบคุณค่ะ…เรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ไม่ว่าใครก็ต้องเจอ แม้ตลอดเวลาก่อนหน้านั้นทุกลมหายใจของพ่อมีความหมายกับเรามาก แต่ดิฉันดูแลพ่ออย่างดีมาตลอด จึงสบายใจ ไม่รู้สึกว่ามีอะไรติดค้าง ถ้าป๊าอยากจะไปตอนนี้อยากจะหยุดตอนนี้ ก็โอเค หยุดไปเลยนะ แล้วในที่สุดป๊าก็จากไปอย่างสงบ

 

มีผลกระทบกับงานบ้างไหมครับ

วันแรกที่พ่อเสีย (วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557) ดิฉันยังต้องไปทำงานนะคะ ไปร้องเพลงเฮฮาเถิดเทิงไปตามปกติ เพราะโดยส่วนตัวแล้วดิฉันคิดว่า สาระและหัวใจในการเป็นนักร้องก็คือ การให้แต่ความสุขกับผู้ชม ดิฉันคงไม่สามารถเอาความไม่ดี ความทุกข์ ความหงุดหงิด หรือแม้แต่ความป่วยของตัวเอง ไปเปรอะ เลอะอารมณ์สุขของคนอื่น เราไม่มีสิทธิ์ที่จะโวยวายเวลารู้สึกไม่พอใจ อย่างเก่งดิฉันก็คุยกับคนใกล้ตัว คุยกับผู้จัดการ หรือคุยกับ โก้ (โก้ Mr.Saxman) แต่ดิฉันจะไม่โพสต์ลงไปในไอจี (jkim4real) ไอจีดิฉันจึงไม่มีรูปที่ดูโศกเศร้า อย่างวันที่ป๊าจากไป ดิฉันก็โพสต์รูปดอกไม้หรือภาพจากงาน

ชีวิตคนเรานั้นมีหลายแง่หลายมุมขึ้นอยู่กับว่า เราจะเลือกมองหรือเลือกตีความไปทางด้านไหนเช่นเดียวกัน เวลาที่เราเป็นนักร้อง เราก็จะเลือกทำในส่วนที่ทำให้คนดูรู้สึกมีความสุข ส่วนที่ไม่ดีดิฉันก็คงต้องเก็บไว้ คือไม่กด แค่เก็บไว้ ก็เท่านั้นค่ะ

 

อยากให้ช่วยแนะนำเรื่องวิธีทำใจให้ผู้อ่านที่ต้องพบกับการสูญเสียแบบเดียวกันนี้สักเล็กน้อยครับ

ขอให้เลือกจำแต่ภาพดี ๆ ที่ตัวเองเคยทำไว้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเริ่มจากจุดเริ่มต้นที่ดีก่อนนะคะ คือทำทุกอย่างให้เต็มที่เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องกลับมารู้สึกผิดทีหลัง อย่างการดูแลพ่อแม่หรือคนที่เรารักอย่างดีที่สุดในทุก ๆ ครั้ง แล้วภาพความทรงจำเหล่านั้นก็จะเป็นเหมือนยาที่สมานความเสียใจให้เราได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะข้ามจุดนั้นมาได้โดยสิ้นเชิง เราข้ามจุดจุดนั้นไม่ได้หรอก อย่าไปข้ามมัน แค่ต้องผ่านไปให้ได้ ส่วนจะร้องไห้หรือเสียใจแค่ไหนก็ปล่อยให้เป็นไป อย่าอายที่จะร้องไห้ ไม่จริงหรอกที่คนร้องไห้หรือฟูมฟายมาก ๆ แล้วจะอ่อนแอ การร้องไห้เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเราเป็นมนุษย์ ยังอยู่ในวังวนของรัก โลภ โกรธ หลง ทั้งน้ำตา และเสียงที่ร้องออกมาเป็นสิ่งที่ช่วยบรรเทาความเศร้า เหมือนกับเวลาเป็นหวัดแล้วร่างกายต้องระบายความร้อนออกมาเพื่อลดไข้

เมื่อได้ปลดปล่อย ได้ระบายออกเรียบร้อยแล้วค่อยปรับใจให้กลับมาอยู่ตรงกลาง เวลาที่ชีวิตมีปัญหาก็เหมือนกับข้าวของที่เราตั้งไว้ล้มลงมากองรวมกัน เมื่อเปลี่ยนแปลงไม่ได้ก็ปล่อยให้มันระเนระนาดไป เดี๋ยวเราค่อยจัดขึ้นมาใหม่ ข้อดีของความล้มเหลว ก็คือ ทุกครั้งที่ความผิดพลาดเกิดขึ้นจะทิ้งบางสิ่งบางอย่างให้กับเรา เช่น ทำให้เราเรียนรู้ว่าตรงนี้น้ำหนักมากไป ตรงนี้บอบบางไปถึงได้พังครืนลงมา หรือวางชิ้นนี้ไว้ข้างบนไม่ได้ ต้องเอามาวางไว้ตรงนี้ถึงจะมั่นคงขึ้น

ทุกอย่างต้องเรียนรู้จากตัวเอง ทุกครั้งที่มีความผิดพลาดหรือล้มเหลว อย่ามัวไปมองสิ่งอื่น ๆ ให้กลับมามองว่า เราผิดตรงไหน อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรควรเก็บไว้ อะไรควรทิ้งไป เพราะความล้มเหลวบางอย่างก็ควรทิ้งไปจากใจ อย่าเอาความล้มเหลวมาตอกย้ำว่า เราไม่น่าเลย เมื่อคุณได้เรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว ชีวิตคุณก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ

 

“รักแท้” ของเจนนิเฟอร์ คิ้ม

คุณพ่อ

     “ป๊าเป็นต้นแบบของความอึด แล้วก็เป็นคนซื่อสัตย์และมีศักดิ์ศรี ถึงแม้จะเป็นนักพนันซึ่งย่อมต้องมีโกง มีอะไรกันบ้าง แต่ป๊าเป็นคนมีศักดิ์ศรี เวลาป๊าเสีย ป๊าจ่ายนะ ป๊าไม่เคยโกงใคร ดิฉันก็จะได้รับสิ่งเหล่านี้มา คนเราต้องซื่อสัตย์ มีความเที่ยงธรรม มีศักดิ์ศรี แล้วก็ต้องมีอารมณ์ขัน ป๊าเป็นคนมีอารมณ์ขันมาก สามารถพูดเรื่องวิกฤติให้กลายเป็นเรื่องขำขันได้ ดิฉันชอบความเป็นป๊าอยู่อย่างหนึ่งคือ แกเป็นคนไม่อาลัยอาวรณ์ แล้วก็แล้วไป ไม่โกรธไม่แค้น ไม่เคยเห็นป๊าคิดถึงอะไรมาก ๆ โหยหาอะไรมาก ๆ อะไรที่อยู่กับเขาตอนนี้ถือว่าดีแล้ว โอเคแล้ว”

 

คุณแม่

“แม่เป็นคนใจดี เป็นต้นแบบของคนที่รักพ่อ รักแม่ รักพี่ รักน้อง และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เวลาทำกับข้าว แม่จะทำเยอะ ๆ แจกข้างบ้าน แจกคนนู้นคนนี้ แต่ขณะเดียวกันแม่ก็เป็นต้นแบบของความอดทน และการถูกกระทำมากมาย คือแม่เป็นเมียคนสุดท้าย จึงถูกเมียคนอื่น ๆ ของป๊าข่มอยู่เสมอ ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือการกระทำ ไม่ถึงขั้นตบตีหรือลงมือลงไม้นะคะ แต่เป็นลักษณะของการข่มเหงน้ำใจมากกว่า ซึ่งแม่ก็อดทนมาตลอด เวลาเขามาบ้าน แม่ก็ยังหาข้าวหาปลาให้กิน เรียกเขาว่าพี่ ยกย่องในสิ่งที่เขาเป็น ซึ่ง ณ เวลานั้นดิฉันไม่เคยเข้าใจแม่เลย แต่พอมาถึงตอนนี้ดิฉันก็เริ่มเข้าใจแม่มากขึ้น”

 

พี่น้อง

“พี่น้องเปรียบเสมือนแขนขาของดิฉัน ดิฉันรักพวกเขามาก มากยิ่งกว่าตัวเองซะอีกนะคะ เพราะโตมาด้วยกัน กินข้าวชามเดียวกัน นอนมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก ๆ ถึงจะทะเลาะกันยังไง ดิฉันก็ต้องเป็นฝ่ายยอม สิ่งนี้ก็ได้มาจากแม่ คือตอนเด็ก ๆ เวลาแม่ทำกับข้าว แม่จะเอาข้าวใส่ถ้วยแล้วก็ราดน้ำแกงแล้วก็ใส่ช้อนเอาไว้ 3 – 4 คัน แล้วจากนั้นพวกเราก็จะกินข้าวในชามเดียวกัน ในขณะที่กิน แม่ก็จะคอยสอนว่า เป็นพี่ก็ต้องตักของดี ๆ ป้อนให้น้องก่อนนะ ดิฉันก็เลยติดนิสัยนั้นมาตลอด”

 

ส่วนหนึ่งจากคอลัมน์ Secret of Life ::: เบื้องหลังเสียงหัวเราะ และรอยยิ้มของ Jennifer Kim

 เรื่อง พีรภัทร โพธิสารัตนะ ภาพ วรวุฒิ วิชาธร

 นิตยสาร Secret ฉบับวันที่ 26 เมษายน 2557


บทความน่าสนใจ

“ดู” ก่อน อย่าเพิ่ง “Do” ข้อคิดโดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.