เฟื่องลดา สรานี สงวนเรือง นางฟ้าไอทีหน้าหวาน
จากคนข่าวสายบันเทิงกลายมาเป็นนางฟ้าไอทีที่มีคนติดตามมากมาย เฟื่องลดา สรานี สงวนเรือง สาวร่างเล็กหน้าหวานวัย 26 อดีตผู้ประกาศข่าวช่องไทยรัฐทีวี และพิธีกรรายการแบไต๋ไฮเทค ปัจจุบันเธอเป็นเจ้าของบริษัท Flourish Digital ทำยูทูบแชนเนลเกี่ยวกับ IT ของตัวเองอย่างเต็มรูปแบบ
ยูทูบแชนเนลของเธอมีผู้ติดตามชมอย่างล้นหลามด้วยยอดวิว 6 หลักขึ้นไปในระยะเวลาแค่ 1 ปีเท่านั้น เธอมีผู้ติดตามในเฟซบุ๊กแฟนเพจเฟื่องลดา-Faunglada กว่า 5 แสนคน และทางยูทูบแชนเนลกว่า 2 แสนคน
“ตอนแรกที่ทำแชนเนลก็ไม่ได้คิดจะทำจริงจัง แค่ขำ ๆ ไม่ได้วางแผนอะไร พอดีเป็นคนชอบร้องเพลง ก็ลองทำคัฟเวอร์เพลงแต่ไม่เกิด (หัวเราะ) หลังจากหาข้อมูลอยู่ 6 เดือนก็ตัดสินใจซื้อกล้องตัวหนึ่งที่คิดว่าคุ้มค่าที่สุด แล้วเอามาบอกต่อในช่องโดยไม่ได้คิดอะไร ใช้ไอแพดถ่ายเองตัดต่อคลิปเอง โดยไม่เคยทำมาก่อน เรียนรู้ด้วยตัวเองทั้งหมด ปรากฏว่ามันบูมขึ้นมาเอง”
หลังจากนั้นเธอจึงทำคลิปรีวิวอย่างจริงจัง และคลิปนี้ทำให้คนรู้จักเธอมากขึ้น ยอดผู้ติดตามจากหลักพันกลายเป็น 2 – 3 หมื่นภายในเวลา 1 – 2 สัปดาห์
“ตอนนั้นงง เอ๊ะ เกิดอะไรขึ้น เขามาจากไหนกัน เพราะไม่ได้โปรโมตอะไรเลย ยังไม่มีเฟซบุ๊กแฟนเพจด้วยซ้ำ เริ่มรู้สึกว่าช่องทางนี้ก็พอไปได้ แต่ในเวลานั้นก็ยังไม่ได้ตัดสินใจลาออกจากสื่อหลัก เราก็ทำงานประจำไป เช้าเข้าช่องอ่านข่าว บ่ายเป็นดีเจวิทยุ และทำคลิปถ่ายทำตัดต่อเองทางนี้ไปด้วยอยู่เป็นปี เหนื่อยแต่รู้สึกสนุกดี เพราะการทำคลิปมันได้เป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องพูดไปตามสคริปต์ และตอนนั้นยังไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นยูทูบเบอร์
“พอมีคนมาตามก็รู้สึกดีใจ มีคอมเมนต์บอกว่า เรารีวิวเข้าใจง่าย พอฟังก็ยิ่งรู้สึกดี เพราะเฟื่องคิดว่าการที่เราทำอะไรแล้วเป็นประโยชน์กับคนอื่นก็เป็นเรื่องดี
“เฟื่องคิดว่าสิ่งที่ทำให้มีคนติดตามเราก็คงเพราะเราเหมือนเป็นเพื่อนเขามั้งคะ เฟื่องพูดเสมอว่าไม่ใช่กูรู ไม่ได้เก่งที่สุด แต่พยายามเรียนรู้และคิดว่าน่าจะมีคนอยากรู้เหมือนเรา เลยเอามาเล่าสู่กันฟัง และมีเสียงตอบรับกลับมาว่า สิ่งที่เราบอกต่อมันมีประโยชน์ ช่วยให้เขาตัดสินใจง่ายขึ้น ข้อมูลฟังเข้าใจง่าย หรือเรื่องวิทยาการใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ เราก็เอามาย่อยให้เขาฟัง
“คนไทยบางส่วนอาจยังไม่รู้เรื่องพวกนี้เท่าไร เฟื่องเห็นความสำคัญก็พยายามเอามาบอกเล่าให้กลุ่มคนที่อาจเคยติดตามเรามาจากรีวิวสมาร์ทโฟนหรือกล้องให้รู้เรื่องพวกนี้มากขึ้น ก็มีฟีดแบ็คมาว่า ดีจังเลย เขาไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้เลย ไม่เคยสนใจมาก่อน พอได้รู้ก็ทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น เกิดไอเดียต่าง ๆ
“อย่างเรื่องสตาร์ตอัพ พอเราได้ไปคลุกคลีก็เอามาเล่าต่อ ก็มีคนมาขอคำปรึกษาเรื่องสตาร์ตอัพ ซึ่งเราก็ไม่ได้เก่งที่สุด แต่เฟื่องเชื่อในพลังของคนว่า Everyone can be the best version of themselves. ชอบพลังความอยากรู้กระตือรือร้นหิวกระหายแบบนี้”
ปริญญาตรีอักษรศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรียกได้ว่าตรงข้ามกับสายงานด้านไอทีอย่างแรง แต่กลับกลายเป็นว่ามีประโยชน์ในการทำงานเป็นอย่างมาก
“ถ้ามองย้อนไป การเรียนอักษรศาสตร์ทำให้เฟื่องเป็นเฟื่องได้ทุกวันนี้ เพราะว่าอักษรฯคือการเล่าเรื่อง สรุปใจความ เรียบเรียงลำดับความคิด ซึ่งสำคัญ การเขียนก็สามารถเอามาใช้กับการเรียบเรียงคำพูดออกมาได้เหมือนกัน เล่าอะไรก่อนหลังดี ประเด็นอะไรถึงจะเข้าใจง่าย ภาษาอังกฤษทำให้เราสามารถอ่าน Source จากเมืองนอกได้ เราก็อัพเดตข่าวได้เร็ว
“เสน่ห์ของออนไลน์คือ มันเป็นทูเวย์คอมมิวนิเคชั่น ดังนั้นเฟื่องใส่ใจแฟนคลับเสมอ ใส่ใจลูกเพจทุกคน ปลายปี 2016 เราก็หาทีมมาช่วยกันจนเพจเติบโต เพราะก่อนหน้านี้ทำคนเดียวมาโดยตลอด เฟื่องบอกทีมเสมอว่า ลูกค้าที่สำคัญที่สุดของเราคือลูกเพจและคนที่ติดตามทางยูทูบ เขามีบุญคุณกับเรา เพราะฉะนั้นเราต้องจริงใจกับเขานะ”
แม้การทำแชนเนลของตัวเองเป็นงานอิสระและได้เป็นตัวของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็มีการแข่งขันสูง
“มันไม่ใช่แค่การกดรีโมตเปลี่ยนช่อง แต่เป็นการแข่งกับนิ้วโป้งของคน คือทำอย่างไรให้คนหยุดดูคอนเทนต์ของเรา บางครั้งเราตั้งใจทำคอนเทนต์แทบตายแต่คนดูไม่มาก รีชน้อยมาก อาจเป็นเพราะตัวเคลือบคอนเทนต์ของเราไม่ดี เช่น รูปปก พาดหัว แคปชั่น คือทำยังไงก็ได้ให้เขาหยุดดูเราตั้งแต่แรกเห็น อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการทำออนไลน์
“เฟื่องยังมีโครงการจะทำอะไรอีกเยอะ แต่เฟื่องเป็นคนไม่ชอบชื่อเสียงเท่าไร แต่มันก็มีข้อดีตรงที่ช่วยให้คอนเทนต์ของเราเข้าไปถึงกลุ่มคนที่กว้างขึ้น แต่เฟื่องไม่ชอบสิ่งที่ตามมากับชื่อเสียง เช่น ความเป็นส่วนตัว การเอาเวลาของเราไป ตอนนี้เฟื่องหว่านเมล็ดพืชไว้ประมาณ 3 – 4 อย่าง รอดูว่าอันไหนจะงอกก่อน เพราะตอนนี้เราเป็นบริษัทแล้ว ไม่ใช่ตัวคนเดียวอีกต่อไป (หัวเราะ) เรียกว่าความรับผิดชอบเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อน
“เฟื่องคิดว่า ถ้าเราทำสิ่งที่รักไม่ได้ ก็จงรักสิ่งที่เราทำ หามุมที่เรารักมันให้ได้ แม้ในสถานการณ์ที่แย่ที่สุด เชื่อเถอะว่าต้องมีอะไรบางอย่างที่มันดีอยู่ แล้วชีวิตเราจะไปต่อได้ค่ะ”
ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 233
เรียบเรียง : ชนาฉัตร
ภาพ : วรวุฒิ วิชาธร
บทความน่าสนใจ
สาวน้อยมหัศจรรย์ ด.ญ. ณัฏฐนันท์ สนุ่นรัตน์ “น้องแพรพาเพลิน”
เที่ยวไปหลงไปกับ อคิร วงษ์เซ็ง แห่งเพจ“อาสา พาไปหลง”
ก้าวข้ามความขี้อาย ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช “Sunbeary Channel”
สตาร์ตอัพรุ่นใหม่วัย 90 บาร์บารา เบสไคนด์