ตับอักเสบ เยียวยาตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ภาวะ ตับอักเสบ สำหรับ “ตับ” ในภาษาจีนเรียกว่า “肝 gan กาน” ในศาสตร์ทางการแพทย์แผนจีนให้ความหมายของตับว่า อวัยวะสำคัญเปรียบเสมือนเป็นแม่ทัพใหญ่ของร่างกาย ทำหน้าที่เก็บเลือดและส่งเลือดไปสู่อวัยวะต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้า
แพทย์จีนให้นิยามว่า ตับเป็นอวัยวะที่เป็น “หยิน” แต่การทำงานมีความเป็น “หยาง” กลไกพลังของตับมีทิศทางขึ้นสู่ด้านบนเพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจระบบความสมดุลของหยินและหยางของตับคือ การเก็บเลือดและการขับเคลื่อนเลือดของร่างกาย
ปัจจุบันนี้ โรคเกี่ยวกับตับมีหลายโรค เช่น “โรคไขมันพอกตับ” เนื่องจากภาวะอ้วน เบาหวาน การบริโภคอาหารหวานหรือแป้งมากเกินไป ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง และ “โรคตับอักเสบ” เกิดจาก “โรคไวรัส
ตับอักเสบที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและโรคไวรัสตับอักเสบซี หรือการได้ยาเคมีสารพิษ สมุนไพรบางชนิด หรือภายหลังป่วยเป็นไข้เลือดออก ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันนี้มีคนไทยเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
“โรคตับอักเสบเรื้อรัง” เมื่อเป็นนานเข้าอาการจะลุกลามไปทำลายเซลล์ตับมากจนเป็นภาวะตับแข็ง สุดท้ายป่วยกลายเป็นมะเร็ง ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบัน
หน้าที่ของตับในทางการแพทย์ปัจจุบันเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ขับสารพิษออกจากร่างกาย และเป็นเมแทบอลิซึมสำคัญ ช่วยสร้างน้ำดีเพื่อย่อยไขมันในระบบย่อยอาหาร มีหน้าที่เปลี่ยนสภาพของเสียจากโปรตีนเป็นกรดยูเรีย สร้างคอเลสเตอรอล เป็นที่สะสมน้ำตาลส่วนเกินเป็นคลังสต๊อกไว้ เพื่อเวลาฉุกเฉินร่างกายจะดึงมาใช้เป็นพลังงาน
ภาวะไขมันพอกตับส่วนใหญ่มีสาเหตุเกิดจากไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่มีไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ผิด การดื่มเหล้าจัด การสูบบุหรี่ และไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น
ในศาสตร์การแพทย์จีนตับมีบทบาทความสำคัญ คือ เป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่เก็บเลือด ตับจะขับดันเลือดที่สำรองไว้ให้ร่างกายได้ใช้ การที่ร่างกายเกิดการเก็บเลือดได้อย่างดีเยี่ยมต้องมีการนอน ร่างกายจะเกิดความสงบ คือ ต้องปิดตา อยู่ในความมืด ไม่มีแสงกระตุ้น การเก็บเลือดเข้าสู่ตับจะทำได้ดีที่สุดในช่วงกลางคืน ช่วงตี 1 ถึงตี 3 ของวัน
กลไกระบบการทำงานของตับจะไม่สมดุลต่อเมื่อร่างกายทำงานตลอดเวลา ร่างกายมีการเคลื่อนไหวไม่ได้พัก จึงทำให้ตับขับเลือดออกมาอยู่ภายนอกร่างกายตลอด ในทางการแพทย์แผนจีน เมื่อร่างกายมีสิ่งเร้ากระตุ้น เลือดจะไหลเวียนและสูบฉีดอยู่ภายนอก เพราะฉะนั้นการนอนหลับที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยให้เลือดกลับเข้าตับ ตับจึงทำงานขับสารพิษ ขับของเสียออกจากร่างกายได้ และมีการสำรองเลือดไว้มากพอ
การนอนที่ดีในความหมายของศาสตร์แพทย์แผนจีนคือ การนอนหลับสนิทแล้วโกร๊ธฮอร์โมนหลั่งออกมาเพื่อมาซ่อมแซมเตรียมพร้อมร่างกาย ยิ่งนอนหลับสนิท เลือดจะกลับเข้าสู่ตับมากยิ่งขึ้น มีการล้าง การฟอกเลือดที่ดี เพื่อมีเลือดสะอาดให้ร่างกายในวันรุ่งขึ้นระบบการทำงานของตับก็จะสมดุล เวลาที่เหมาะสมเพื่อการนอนหลับที่ดี คือ ช่วงเวลา 01.00 น. – 03.00 น. ร่างกายควรเริ่มนอนตั้งแต่เวลา 23.00 น. เป็นต้นไป
ตามศาสตร์ของแพทย์จีน “ตับ” สัมพันธ์กับปัจจัยอื่น
1. ดวงตา
คนจีนเชื่อว่า ถ้าดวงตาเปิดตลอด เลือดลมต่างๆ จะหมุนเวียนทั่วร่างกาย มีคำจีนพูดไว้ว่า “ตับเปิดทวารที่ตา” และถ้าเราปิดตา ไม่มีสิ่งเร้า สิ่งกระตุ้น เลือดจะสามารถกลับเข้ามาที่ตับได้ดี เพราะฉะนั้นการนอนหลับที่ดีต้องปิดไฟ ป้องกันแสงไฟรบกวน สำหรับเด็กชาวจีนตอนเด็กๆ พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะมีผ้าปิด
เพื่อให้ตอนนอนไม่ให้มีแสงรบกวน
2. อารมณ์
เช่น อารมณ์โกรธโมโหนั้นกระทบการทำงานของตับ เพราะตับเป็นอวัยวะที่ขับเคลื่อนพลัง เมื่อร่างกายโกรธ โมโหพลังจะถูกดึงขึ้นข้างบนมาก จึงทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เลือดจะขึ้นที่สมองมาก เสี่ยงเกิดเป็นภาวะเส้นเลือดสมองแตกและเส้นเลือดสมองตีบ
3. การติดขัดหมกมุ่นของอารมณ์
การแพทย์จีนมองว่า ตับไม่ชอบการปิดกั้น อารมณ์ติดขัด ขุ่นมัว ทำให้พลังงานไม่สามารถกระจายออกมาเต็มที่ เมื่อร่างกายสะสมความเครียดไว้มาก พลังของตับจะถูกปิดกั้น ทำให้ซึมเศร้า ยังส่งผลทำให้เกิดโรคหลายโรคตามมาโดยเฉพาะผู้หญิง เช่น โรคประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ เลือด
ไหลเวียนไม่คล่อง มีอาการปวดประจำเดือน เกิดก้อนเนื้อที่เต้านมหรือมดลูก สาเหตุมาจากการเก็บเลือดจากระบบตับไม่สมบูรณ์
4. สีเขียว
ในทางการแพทย์แผนจีนมองว่า สีเขียวจะวิ่งที่เส้นลมปราณตับ อาหารผักสีเขียวจึงช่วยบำรุงตับ ตับทำงานได้ดีในสิ่งแวดล้อมสีเขียว สวน ต้นไม้ ป่าไม้ ทำให้อารมณ์ผ่อนคลาย
5. รสชาติเปรี้ยวอมหวานจากอาหารผัก
ผลไม้หรือสมุนไพรรสเปรี้ยวเข้าเส้นลมปราณตับ ส่งผลให้การทำงานของตับสมดุล แต่ควรเป็นรสเปรี้ยวที่มีอมหวานเพื่อเสริมการทำงานของม้าม เช่น ลิ้นจี่ เก๋ากี้ เก๊กฮวย กุยช่าย
6. การนอนตะแคงด้านขวา
ช่วยให้เลือดกลับเข้าตับมากขึ้นการทำงานของตับในการทำลายสารพิษ ขับของเสียทำได้ดีขึ้น
หลีกเลี่ยง 9 ปัจจัยเสี่ยงทำลายระบบการทำงานของตับ
1. ความเครียด
หลีกเลี่ยงอารมณ์รุนแรง โกรธ ฉุนเฉียวควรฝึกสมาธิหรือการปล่อยวางความคิด ประมาณวันละ 15 – 30 นาที
2. นอนดึก
นอนไม่เพียงพอ ควรฝึกร่างกายเข้านอนตามกำหนดเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เลือดกลับเข้ามาสู่ตับร่างกายได้เก็บพลังงาน เก็บเลือด ซ่อมแซมร่างกาย เสมือนได้ชาร์จไฟโทรศัพท์มือถือ
3. หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์
เมื่อดื่มแอลกอฮอล์เข้าร่างกายจะอยู่ในกระเพาะอาหารประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ และถูกส่งไปที่ตับประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นภาระกับตับ ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ไขมันพอกตับ เกิดพังผืดในตับ ระยะยาวเกิดภาวะตับแข็งลุกลามเป็นมะเร็งได้
4. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหลังกินข้าว
ควรเว้นระยะประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง เพราะจะทำให้ร่างกายดึงเลือดจากกระเพาะอาหารไปที่อวัยวะอื่น เช่น ปอด หัวใจ ทำให้ระบบการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ ขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ควรพักจิตใจหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้พลังเพื่อควบคุมเลือดไม่ให้กระจายไปสู่ภายนอก
5. ความเมื่อยล้าอ่อนล้า
เมื่อร่างกายเกิดอาการเมื่อยล้าจะส่งผลให้การทำงานของตับไม่สมดุล เพราะฉะนั้นควรปิดตาสงบจิต หรือนอนพักให้เพียงพอ เพื่อดึงเลือดกลับสู่ร่างกายบรรเทาอาการอ่อนล้า
6. หลีกเลี่ยงการกินอาหารมื้อดึก
ตับจะทำงานช่วงเวลากลางคืนขณะที่ร่างกายปิดตานอนหลับ เป็นช่วงที่ร่างกายเกิดความสงบ จึงไม่ควรกินอาหารมื้อดึกซึ่งเป็นการขัดขวางการเก็บเลือดของตับ เพราะการย่อยอาหารต้องดึงเลือดไปที่กระเพาะอาหาร ระยะเวลาที่ควรกินมื้อเย็นกับเวลานอนจึงควรห่างกันประมาณ 4 ชั่วโมง
7. หลีกเลี่ยงการใช้สายตาตอนดึก
งดการทำงาน การดูจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ในเวลากลางคืน ควรพักสายตาจากการใช้งานทั้งวัน เพื่อปิดสิ่งเร้า สิ่งกระตุ้นให้ระบบของตับได้ทำงานเต็มที่
8. หลีกเลี่ยงอาหารเย็น
อาหารเย็นในความหมายของคนจีนคือ อาหารที่เย็นจัด น้ำเย็น อาหารที่แช่เย็น เมื่อร่างกายกินของเย็นเข้าไปจะทำให้การไหลเวียนเลือดช้าลง รบกวนการขับเคลื่อนเลือด
9. งดสูบบุหรี่
เพราะสารเคมีในบุหรี่เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับ และเป็นภาระหนักในการดูดซึมสารพิษ ทำลายสารพิษมากขึ้น
ท้ายนี้ผู้อ่านจะเห็นว่า การดูแลระบบการทำงานของตับนั้นต้องดูแลสุขภาพ ปรับวิถีชีวิตประจำวันให้ดี มีการกินอาหารให้ถูกต้องสอดคล้องกับสภาพร่างกาย และมีการนอนในเวลาที่เหมาะสม การนอนหลับสนิทให้เพียงพอ มีอารมณ์ที่ปลอดโปร่งเพิ่มพลังบวกให้ร่างกาย ฝึกทำสมาธิระหว่างวัน โดยเฉพาะเวลาที่ร่างกายอ่อนล้า เพื่อช่วยการทำงานของตับให้สมดุล
ศาสตราจารย์คลินิกแพทย์จีน นายแพทย์ภาสกิจ วัณนาวิบูล
อุปนายกและเลขาธิการสมาคมแพทย์แผนจีนประเทศไทยวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกมหาวิทยาลัยรังสิต
ข้อมูลจาก คอลัมน์หมอจีนประจำบ้าน นิตยสารชีวจิต ฉบับ 506
บทความน่าสนใจอื่นๆ
“ตับ” ของเราป่วยด้วยอาการใดได้บ้าง
“ไขมันพอกตับ” ภัยเงียบของคนอ้วน รักษาด้วยสมุนไพร
แจ่วมะเขือเทศ อร่อย ทำง่าย กินต้านการเกิดมะเร็ง
ติดตามชีวจิตได้ที่
Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต