อาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม

ปรับพฤติกรรม ป้องกันโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

ปรับพฤติกรรม ป้องกันโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

เท่าที่สังเกตผู้คนในทุกวันนี้จะมีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรือหลายคนเรียกรวมๆ กันให้เข้าใจง่ายๆ ว่า อาการบ้านหมุน ซึ่งถูกพบมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ และก็ไม่มีใครจะคาดคิดว่าอาการเหล่านี้จะเกี่ยวกับเรื่องในหูโดยตรง ซึ่งโรคบ้านหมุนและเวียนหัวโดยส่วนมากจะสันนิษฐานว่า เกิดจาก “โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน”

รู้เท่าทันโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

อาการบ้านหมุน หรืออาการเวียนศีรษะอย่างรุนแรงเป็นภาวะที่มักเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งกับสมาชิกในครอบครัว รวมไปถึงในวัยผู้สูงอายุ พบได้ในผู้คนอายุ 30-60 ปี สำหรับสาเหตุของอาการบ้านหมุนนั้น หลายคนทราบว่าเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไปของโรคเมเนียร์ (Meniere’s disease) ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของน้ำที่อยู่ภายในหูชั้นในนั่นก็คือ มีแรงดันของน้ำในหูมากเกินปกติ

ว่าแต่โรคน้ำในหูไม่เท่ากันจะมีอาการอย่างไร และหากมีอาการควรปฏิบัติตนอย่างไรบ้างนั้น วันนี้เรามีข้อมูลสุขภาพเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากค่ะ

มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย เมื่อมีอาการเวียนศีรษะก็มักจะวินิจฉัยตัวเองว่าเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน อันที่จริงแล้วอาการเวียนหัวอย่างชนิดที่เรียกว่าบ้านหมุนนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เหมือนอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ ที่มีสาเหตุทำให้เกิดอาการได้มากมาย

ในหูไม่เท่ากัน

โรคน้ำในหูไม่เท่ากันควรมีอาการดังต่อไปนี้

-เวียนหัวบ้านหมุนเป็นๆ หายๆ รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุน ขอเน้นว่าไม่ใช่อาการแค่มึนงงเกิดขึ้นทันทีทันใด อาการค่อนข้างรุนแรง ลุกขึ้นก็ทรงตัวไม่อยู่ ต้องนอนนิ่งหลับตา พอเปลี่ยนท่าก็ทำให้อาการมากขึ้น ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ระยะเวลาของอาการเวียนศีรษะแต่ละครั้งที่เป็นนานมากกว่า 20 นาที ถึงหลายๆ ชั่วโมง โดยที่คนไข้ไม่มีอาการหมดสติหรืออ่อนแรงร่วมด้วย การซักประวัติเรื่องระยะเวลาที่มีอาการและความถี่บ่อยของโรค ช่วยทำให้แพทย์วินิจฉัยแยกจากโรคอื่นได้ง่ายขึ้น

-หูอื้อ ประสาทหูเสื่อมเป็น ๆ หาย ๆ ระยะแรกมักมีอาการชั่วคราว กล่าวคือเมื่อมีอาการเวียนศีรษะทุเลาอาการหูอื้อก็หายไปด้วย ในผู้ป่วยที่มีอาการซ้ำ ๆ หลาย ๆครั้งอาจทำให้การได้ยินเสื่อมลงถาวรได้

-เสียงดังในหู อาจเป็นเสียงหึ่ง วี้ เสียงลม เสียงจักจั่น เสียงดังในหูสามารถรบกวนจนทำให้ผู้ป่วยนอนไม่หลับ หงุดหงิดได้เลยทีเดียว

-อาการหนัก ๆ หน่วง ๆ ในหู คล้ายมีแรงดัน

ในหูมีน้ำแฉะๆ ทำให้เป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันหรือไม่?

หูของคนเราแบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน หูชั้นในมีหน้าที่ควบคุมเรื่องการได้ยินและการทรงตัว ผู้ป่วยน้ำในหูไม่เท่ากันจะมีของเหลวในหูชั้นในคั่งอยู่มากกว่าปกติ แรงดันที่เพิ่มขึ้นได้ไปขวางการทำงานของกระแสประสาท ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหูอื้อและเวียนศีรษะ ดังนั้นผู้ป่วยที่หูชั้นนอกอักเสบ ปวดบวม หรือมีน้ำแฉะภายในช่องหูด้านนอก จะไม่ทำให้เกิดโรคนี้เลย

 มีโอกาสเป็นซ้ำอีกได้มากน้อยแค่ไหน

ผู้ป่วยที่มีความเครียด อดนอน ไม่ค่อยออกกำลังกาย อาการมักกำเริบได้บ่อยกว่าคนที่ดูแลสุขภาพอย่างดี ดังนั้นการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง การลดอาหารที่มีรสเค็ม หลีกเลี่ยงชากาแฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ช่วยให้อาการไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก

อาการบ้านหมุน

เมื่อที่มีอาการควรทำตัวอย่างไร

เมื่อรู้สึกว่าเริ่มมีอาการไม่ต้องตกใจ ควรหยุดพัก ถ้าเกิดอาการขึ้นในขณะขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรต้องหยุดทันที นอนพักจนกว่าอาการจะดีขึ้น อย่าเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนท่ากะทันหัน งดอาหารที่มีรสเค็ม โดยจำกัดเกลือในอาหารไม่ควรเกินวันละ 2 กรัมต่อวัน งดเหล้า บุหรี่ ชากาแฟ ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นควรรีบมาพบแพทย์

โรคน้ำในหูไม่เท่ากันนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มักพบบ่อยในคนวัยทำงาน เพศหญิงพบได้บ่อยกว่าเพศชาย เป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ อาการอาจเกิดขึ้นได้ในหูข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น อาการเวียนศีรษะเกิดได้จากหลายสาเหตุ การวินิจฉัยโรคน้ำในหูไม่เท่ากันของแพทย์มักใช้การซักประวัติอย่างละเอียดเป็นหลัก อาจร่วมกับการตรวจพิเศษอย่างอื่นเพื่อแยกโรคที่อาจเป็นสาเหตุอื่น ๆ

เนื่องจากโรคนี้มีโอกาสจะเกิดอาการได้หลาย ๆ ครั้ง จึงถือว่าไม่หายขาด คุณมีโอกาสจะเกิดอาการขึ้นได้อีก ผลที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วยตามมาได้ คือ ลื่นล้มกระแทก เกิดอุบัติเหตุถ้าเกิดอาการขณะขับรถหรือกำลังทำงานกับเครื่องจักร ซึมเศร้ากังวล หรือมีอาการหูอื้อถาวร

การดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อน ลดความเครียด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ชากาแฟ และอาจมียาแก้เวียนศีรษะติดบ้านไว้เสมอ มีน้อยรายเท่านั้นที่ทานยาแล้วไม่ได้ผลจนต้องรักษาโดยการผ่าตัด

Info น้ำในหู

หากใครที่กำลังเจอปัญหานี้อยู่ลองปรับพฤติกรรมของตัวเองดู เชื่อว่าการปรับพฤติกรรมบางอย่างที่เคยทำ จะช่วยให้อาการป่วยดีขึ้นได้

-รับประทานอาหารให้ครบหมู่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ

-งดอาหารรสเค็มจัด หวานจัด อาหารไขมันสูง และคอเลสเตอรอลสูง

-หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารที่มีผงชูรสหรือสารปรุงแต่งมาก

-พักผ่อนให้เพียงพอ

-งดสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ

-ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

-หลีกเลี่ยงการอดนอน ความเครียด

-หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น สถานที่ที่มีเสียงดัง แสงแดดจ้า หรืออากาศร้อนอบอ้าว

-หมั่นดูแลสุขภาพใจ ทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใส

ข้อมูลจาก: รพ.วิชัยยุทธ

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สังเกตอาการ เวียนหัว แบบไหนอันตราย พร้อมวิธีรับมือง่ายๆ

5 วิธี สยบเวียนหัว อาการบ้านหมุน

บ้านหมุน อาการที่เป็นบ่อย แต่ละเลยไม่ได้

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.