ก่อนหน้านี้ คุณกาละแมร์ – พัชรศรี เบญจมาศเคยพูดเกี่ยวกับ “ปัญหาการดูแลสุขภาพของคนไทย” ไว้อย่างน่าสนใจค่ะ …วันนี้ก็เช่นกัน เธอบอกเล่ามุมมองของเส้นทางที่จะเปลี่ยนคนไทยให้สุขภาพแข็งแรงที่จริงๆ แล้วไม่ยาก แต่ต้องลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจังนั่นเอง
….
ในตอนที่แล้วได้พูดเรื่องมุมมองและวิธีการดูแลสุขภาพของคนไทย ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก ซึ่งฉันได้แชร์แนวคิดเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจ และการผลักดันในระดับประเทศไป ตอนนี้จึงขอเขียนเกี่ยวกับข้อเสียเปรียบด้านสุขภาพในบ้านเราบ้าง ซึ่งอาจไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้คนไทยยังติดนิสัยไร้สุขภาพกันค่ะ
หัวใจที่ไม่เอาจริง
สืบเนื่องมาจากตอนที่แล้ว เรื่องการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างกายและสุขภาพของตัวเองอย่างลึกซึ้ง ทำให้ไม่เห็นถึงประโยชน์ และความสำคัญของการมีสุขภาพแข็งแรง ว่าจะมีไปเพื่ออะไร ไม่มีเป้าหมายด้านสุขภาพที่ชัดเจน จึงทำให้เพิกเฉย บางคนก็หันมาฟิตร่างกายได้ประเดี๋ยวประด๋าว แล้วก็ล้มเลิกไปอย่างรวดเร็ว บางคนก็ทำๆ หยุดๆ อยู่หลายครั้ง
หลายคนที่ป่วยเป็นโรค ก็ยังใช้ชีวิตเช่นเดิม ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะหวังพึ่งยาที่หมอสั่ง ผลักภาระให้การรักษา แทนที่จะเน้นการดูแลและป้องกัน ซึ่งนอกจากการรักษาจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าหลายเท่าตัว ยังเป็นการละเลยหน้าที่ที่ตนเองพึงกระทำเพื่อตนเอง จนกลายเป็นภาระต่อสังคมและภาครัฐในที่สุด ที่สำคัญคือ ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า รักษาแล้วจะหายทุกราย
เรื่องของหัวใจขาดเป้าหมายที่ชัดเจนนั้น ไม่ใช่มีแต่ในคนไทย ไม่ว่าคนชาติไหนก็มีเหมือนกัน หากยังไม่ตระหนักถึงความจำเป็นในการดูแลสุขภาพ จึงอยากแนะนำให้ลองกลับไปอ่านคอลัมน์นี้ในตอนที่ผ่านๆ มา (สำหรับใครที่เพิ่งรู้จักกันในปักษ์นี้) เพราะมีไอเดียมากมายในการสร้างกำลังใจและจุดยืนแก่คนรักสุขภาพ เช่น การเปลี่ยนจากความอิจฉาเป็นแรงบันดาลใจ การอยากมีสุขภาพดีๆ รูปร่างสวยๆไปจนอายุมากขึ้น ไม่ต้องเป็นภาระกับใคร อยากทำอะไรไปไหนก็ทำได้ด้วยตัวเอง โดยร่างกายไม่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต
เพราะสำหรับแมร์แล้ว ต้องรู้สึกสนุก มีความสุขกับมัน ถึงจะทำไปได้ตลอดรอดฝั่ง คราวนี้ก็เป็นหน้าที่ของคนลงมือทำอย่างผู้อ่านทุกคนแล้ว ว่าจะทำอย่างไร รูปแบบไหน ถึงจะทำให้ตนเองสนุกไปกับการดูแลสุขภาพ
ผลิตภัณฑ์บ่อนทำลายสุขภาพ
เนื่องจากเป็นคนซื้อของเข้าครัวเอง จึงมีโอกาสจับจ่ายตามร้านค้าและซุเปอร์มาร์เก็ตบ่อยๆ พบว่าตามท้องตลาด ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ดีต่อสุขภาพอยู่มาก หลายอย่างดูจากส่วนประกอบแล้ว กินเข้าไปได้อ้วนลงพุงแน่ๆ ที่สำคัญคือไม่ระบุปริมาณพลังงานให้ผู้บริโภครับทราบเสียด้วย
พอมาคิดๆ ดูก็สงสัยเหมือนกัน ว่ามีใครจัดการกับผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้บ้าง เช่น ถ้าหากสินค้าดังกล่าวส่งผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะมีน้ำตาล โซเดียม หรือไขมันมหาศาล ก็ตาม ผู้ประกอบการควรจ่ายภาษีมากกว่าปกติ เพื่อให้ภาครัฐนำเงินตรงนี้มาเป็นทุนในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการขาดความรับผิดชอบ ในการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบถึงข้อมูลโภชนาการที่แท้จริง
หากที่บรรจุภัณฑ์สามารถแจ้งรายละเอียดทางโภชนาการครบถ้วน ชัดเจน ผู้บริโภคจะสามารถตัดสินใจในการเลือกสรรได้ดียิ่งขึ้น และจะเป็นการสนับสนุนการป้องกัน และมีความรับผิดชอบต่อชีวิตของ แต่ละคน ตามสำนวนที่ได้ยินบ่อยๆ ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” นั่นเอง แต่อย่างที่บอกไปว่าในปัจจุบัน คนไทยยังชอบแก้มากกว่าชอบกัน มันเลยกลายเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังที่สูญเสียค่าใช้จ่ายในการกู้ร่างกายคืนมาเป็นจำนวนมาก
หากเราสามารถป้องกันได้เสียตั้งแต่ตอนที่อาหารยังไม่เข้าปาก ผู้ผลิตมีจิตสำนึกในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อย่างตรงไปตรงมา คำนึงถึงสวัสดิภาพของผู้บริโภค และผู้บริโภคเองก็มีจิตสำนึกในหน้าที่ ที่ต้องมีสุขภาพแข็งแรงทั้งเพื่อตนเองและส่วนรวม จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังในประเทศคงจะลดลงมากทีเดียว