เลือก ครีมกันแดด ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
ในแสงแดดมีทั้งรังสี ยูวีบี ทำให้ผิวไหม้แสบร้อน และสร้างเม็ดสีเมลานิน และยูวีเอ ทำให้เกิดการสร้างเม็ดสี และทำให้เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นแก่ก่อนวัย ทั้งยูวีบีและยูวีเอก่อให้เกิดฝ้าและกระ หากผิวของคุณเผชิญกับแสงแดดโดยปราศจากสารป้องกันเพียงไม่นาน ผิวจะร้อนแดง ตามด้วยผิวลอกเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้น เมื่อเป็นบ่อยๆ ระยะเวลาหนึ่ง อาจเสี่ยงอันตรายต่อการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง การเลือก ครีมกันแดด ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
เลือกครีมกันแดดให้เหมาะกับผิว
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เลือกครีมกันแดดที่เหมาะสมกับผิวของตนเองเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะผิวแต่ละชนิดเหมาะกับครีมกันแดดแตกต่างกัน
- ผิวขาวแบบชาวยุโรป เป็นผิวบางมาก เกิดผิวไหม้ง่ายมากหลังสัมผัสกับแสงแดด จึงจำเป็นต้องใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง ๆ (SPF 45-60)
- ผิวขาวอมชมพูในคนเอเชีย ผิวชนิดนี้บอบบางมาก เกิดผิวไหม้ได้ไว เกิดผิวสีแทนได้ ควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF ค่อนข้างสูง (SPF 30-45)
- ผิวขาวเหลืองในคนเอเชีย ผิวชนิดนี้บางแต่ยังมีเมลานินอยู่บ้างจึงสามารถทนต่อแสงแดด การเกิดผิวหนังร้อนแดงได้ช้ากว่าผิว 2 ชนิดแรก ควรเลือกครีมกันแดดชนิดที่มีค่า SPF ปานกลาง (SPF30)
- ผิวคล้ำ มีเมลานินสูง ผิวสีน้ำตาลไม่เกิดการไหม้ ไม่เกิดสีแทน ใช้ครีมกันแดดที่มี SPF ต่ำ (SPF 15)
คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป
SPF ค่าสูงป้องกันได้นานกว่า ไม่ใช่ป้องกันได้ดีกว่า
ความเป็นจริงแล้วค่า SPF (Sun Protection Factor) บ่งบอกถึงระดับความยาวนานของการป้องกันแสงแดดโดยไม่ทำให้ผิวร้อนแดง โดยค่าสูงสามารถปกป้องได้ยาวนานกว่าค่าต่ำ ทำให้ไม่ต้องทาครีมบ่อย
- สำหรับผู้ผิวขาวชนิดที่ 1-3
ครีมกันแดดที่มี SPF 15 ป้องกันผิวก่อนร้อนแดงได้นาน (15 x 5) = 75 นาที หรือ 1 ชั่วโมง 15 นาที
ครีมกันแดดที่มี SPF 30 ป้องกันผิวก่อนร้อนแดงได้นาน (30 x 5) = 150 นาที หรือ 2 ชั่วโมง 30 นาที
ครีมกันแดดที่มี SPF 60 ป้องกันผิวก่อนร้อนแดงได้นาน (60 x 5) = 300 นาที หรือ 5 ชั่วโมง
- สำหรับผู้มีผิวคล้ำ ชนิดที่ 4
ครีมกันแดดที่มี SPF 15 มีระยะเวลาที่ทำให้ผิวร้อนแดง(15 x 15) = 225 นาที หรือ 3 ชั่วโมง 45 นาที
ครีมกันแดดที่มี SPF 30 ป้องกันผิวก่อนร้อนแดงได้นาน (30 x 15) = 450 นาที หรือ 7 ชั่วโมง 30 นาที
ครีมกันแดดที่มี SPF 60 ป้องกันผิวก่อนร้อนแดงได้นาน (60 x 15) = 900 นาที หรือ 15 ชั่วโมง
เลือกครีมกันแดดอย่างฉลาด
- เลือกที่ป้องกันได้ทั้ง ยูวีเอ และ ยูวีบี
ครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพควรสามารถป้องกันทั้งรังสี ยูวีเอ และยูวีบี โดยสังเกตฉลากจากส่วนผสมแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ
Physical sunscreen (สารอนินทรีย์) ได้แก่ ไททาเนียมไดออกไซด์ (TiO2 ) มีคุณสมบัติป้องกันรังสี ยูวีบีและซิงค์ออกไซด์ (ZnO) ป้องกันรังสี ยูวีเอ สาร Physical sunscreen นี้ไม่กำหนดปริมาณที่อนุญาต แต่เมื่อทาแล้วไม่ก่ออันตราย ไม่แพ้ แต่ทาแล้วเป็นปื้นขาว ทำให้หน้าขาววอกเกินไป
Chemical sunscreen (สารอินทรีย์) ลักษณะเป็นน้ำมันไม่เกิดปื้นขาว เป็นสารผสมในเครื่องสำอางควบคุม ต้องขึ้นทะเบียน อย. เพื่อควบคุมความเข้มข้นที่ไม่ก่ออันตรายกับผิวหนัง เพราะสารเคมีบางชนิดก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ สารประเภทนี้ได้แก่ Padimate O อนุญาตให้ใช้ได้ถึง 8% , Octylmethoxycinnamte 10%, Octyl salicylate 5% , Homosalate 10%
คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป
- SPF ยิ่งสูงยิ่งต้องระวังแพ้
ผู้ผลิตครีมกันแดดนิยมเพิ่มสาร chemical sunscreen เข้าไปเพื่อเพิ่มค่า SPF ให้สูงและเพิ่มราคาได้มาก ทำให้มีส่วนผสมของสารเคมีที่อาจทำให้เกิดการแพ้มากกว่า SPF ต่ำซึ่งมีสาร physical sunscreen ในสัดส่วนที่มากกว่า
- วิธีทดสอบการแพ้ครีมกันแดด
ให้ทาครีมกันแดดบริเวณใต้ท้องแขนทิ้งไว้ 15 นาทีแล้วสังเกตว่ามีอาการบวม แดงหรือไม่ ถ้าปรากฏอาการดังกล่าวแสดงว่าแพ้สารเคมีชนิดหนึ่ง อย่างไรก็ตามคนบางประเภท (delay sensitivity) จะใช้เวลานานกว่าจะปรากฏอาการแพ้ ดังนั้นจึงควรรอดูอาการถึง 24 ชั่วโมง หรือ 72 ชั่วโมง จึงจะสรุปได้ว่าไม่มีอาการแพ้จริงๆ
- กันน้ำได้ชัวร์กว่า
ครีมกันแดดที่กันน้ำได้ เลือกที่มีส่วนผสมของ Silicone หรือระบุในฉลากว่ากันน้ำได้ มีวิธีการทดสอบด้วยตนเองโดยทาครีมให้ทั่วแขนแล้วจุ่มแขนลงน้ำแล้วยกแขนขึ้นมา น้ำจะไหลลงจากแขนไปหมด โดยไม่มีน้ำเกาะติดกับผิวเหมือนที่ไม่ได้ทาครีมกันแดด
- เล่นน้ำทั้งวันควรทาหลายครั้ง
ไม่ควรชะล่าใจเพียงเพราะเห็นว่าครีมยังเหนียวเกาะผิวอยู่ เพราะครีมกันแดดทุกชนิดเมื่อครบเวลาที่สามารถป้องกันได้แล้ว ประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดจะลดลงทันที ทำให้เกิดผิวสีแทนและลอกในเวลาต่อมา โดยที่ไม่รู้สึกแสบร้อนเลย
- ลมแรงไม่มีแสงแดด อย่าประมาท
ธรรมชาติของรังสี ยูวีเอ และ ยูวีบี ไม่สามารถมองเห็นได้เหมือนแสงทั่วไป และยูวีบี ไม่สามารถทะลุผ่านกระจกในสำนักงานได้แต่แสงยูวีเอสามารถทะลุผ่านกระจกในสำนักงานได้ จึงควรทาครีมกันแดดไว้เสมอแม้อยู่ที่ร่ม และลมแรงพาความชุ่มชื้นจากผิวหนังออกไปได้เช่นกัน ทำให้ผิวแห้งกร้าน ควรทามอยเจอร์ไรเซอร์ร่วมด้วย หรือทาครีมกันแดดที่มีมอยเจอร์ไรเซอร์หรือน้ำมันผสมอยู่เพื่อความสะดวก ทำให้ได้ผิวขาวและนุ่มเนียนไร้ริ้วรอย