หัวใจป่วย ด้วย 5 พฤติกรรม
พฤติกรรมที่ทำให้ หัวใจป่วย นอกจากการกินอาหารไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด และพฤติกรรมดื่มเหล้าหนัก สูบบุหรี่จัดแล้ว ยังมีอีก 5 นิสัย ที่ยิ่งทำแล้วจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคร้ายๆ กับ “หัวใจ” อวัยวะสำคัญของเราได้อีกด้วย ต่อไปนี้ค่ะ
- เจ้าระเบียบ – เข้มงวด
ถึงความมีระเบียบจะเป็นเรื่องดี แต่หากมีมากไปและเคร่งครัดไปก็ทำให้ชีวิตยากเหมือนกัน โดยปัญหาหลักๆ ของคนเข้มงวดคือ การเคี่ยวเข็ญตัวเองและคนรอบตัวตลอดเวลาจนกลายเป็นนิสัยเผด็จการ ไม่ยืดหยุ่น ไม่ค่อยพักหากไม่ได้ดังใจ และจะรู้สึกเครียดเมื่อทุกอย่างไม่ได้ดังใจ พาลให้เป็นไมเกรน ความดันโลหิตสูง และเป็นโรคหัวใจตามมาได้ …ดังนั้น “ยืดหยุ่น” บ้างก็ดีนะคะ
- บ้างานตัวแม่
บางคนเชื่อว่า การทำงานอย่างตั้งใจ คือการชี้คุณค่าของคน ว่าไปก็ไม่ผิดนัก แต่หากทำงานหนักไปจนร่างกายไม่ได้พักผ่อน ก็อาจเสียสุขภาพและอันตรายถึงชีวิตได้ ตัวอย่างเช่นในประเทศญี่ปุ่น ที่มีการค้นพบโรคชื่อ โรคคาโรชิ (Karochi Syndrom) คือภาวะเสียชีวิตเพราะทำงานหนักมากไป จนทำให้ความเครียดสะสม และร่างกายไม่ได้พักผ่อน นอนน้อย และทำให้หัวใจทำงานหนัก อาการที่เกิดขึ้นคล้ายๆ โรคไหลตายนั่นเอง
- ประหม่า กังวล ตีตนไปก่อนไข้
หลายคนเมื่อตกใจ กลัว หรือวิตกกังวล จะมีอาการหัวใจเต้นแรง หายใจติดขัด เหงื่อออก และมือไม้สั่น อาการดังกล่าวสะท้อนว่า ความวิตกกังวลเชื่อมโยงกับอาการของโรคหัวใจอย่างชัดเจน เพราะคนขี้กลัว ขี้ประหม่า จะรู้สึกเครียดง่ายกว่าคนปกติ เพราะจะรู้สึกว่าถูกจับจ้อง และกลัวจะทำบางสิ่งไม่ได้ โดยไม่รู้ว่าความเครียดเหล่านี้จะทำให้เส้นเลือดหัวใจมีความเสี่ยงจะตีบเร็วขึ้น และเสี่ยงจะเกิดอาการหัวใจวายตามมา
- ขี้ใจน้อย
คนขี้ใจน้อยคือคนที่มักรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยด้อยค่า และมักไม่ได้รับความเท่าเทียมอย่างที่ควรจะเป็น จึงเก็บทุกสิ่งทุกอย่างมาคิดและกังวล ทำบ่อยๆ จะกลายเป็นนิสัยติดตัว ซึ่งมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย College London ประเทศอังกฤษชี้แล้วว่า คนที่คิดน้อยเนื้อต่ำใจแบบนี้จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นกว่าคนปกติ เนื่องจากความเครียดสะสมจากอาการน้อยเนื้อต่ำใจนั่นเอง
- คนคิดร้าย ใจคิดลบ
นิสัยสุดเสี่ยงข้อนี้สังเกตยากหน่อย เพราะคนมักไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่ตัวเองคิดนั้นคือการมองโลกในแง่ร้าย หรือจิตใจคิดลบ งั้น! สังเกตง่ายๆ หากเราเป็นคนมองโลกไม่สวยงาม อันก็ไม่ดี นี่ก็ไม่พอใจ เห็นแล้วหดหู่ ไม่มีความสุข ถ้าใช่ก็ถึงเวลาต้องเปลี่ยนมุมมองกับทุกเรื่องแล้วค่ะ
ง่ายๆ ให้เริ่มจากเพิ่ม “เสียงหัวเราะ” ให้ตัวเอง อย่ากังวลว่าหัวเราะง่ายจะคล้ายคนบ้า แต่ให้มองหาแง่ดีจากสิ่งที่เห็นแทนแต่จะมองในด้านมืด หรือด้านเศร้า เพราะมีงานวิจัยชี้แล้ว การมองโลกในแง่ดีจะลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ถึงร้อยละ 50 (ขณะที่การมองโลกในแง่ร้ายให้สิ่งที่ตรงกันข้ามนะ!)
ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 344