สารพัดวิธีดูแล “ตุ่มพองน้ำ”

สารพัดวิธีดูแล “ตุ่มพองน้ำ”

หลากหลายสาเหตุการเกิดและสารพัดวิธีดูแล “ ตุ่มพองน้ำ ”

สารพัดสาเหตุของตุ่มพอง

นายแพทย์รัสมิ์ภูมิ สุเมธีวิทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังได้อธิบายถึง ตุ่มพองน้ำ ไว้ว่า “ผิวหนังพองหรือตุ่มพอง (blister) มีสาเหตุมาจากการเสียดสีจนชั้นหนังกำพร้าแยกออกจากชั้นหนังแท้ เกิดการไหลซึมของของเหลวจากเลือดและน้ำเหลืองมาคั่งอยู่จนเกิดเป็นตุ่มพองขึ้นมา”

สำหรับการเกิดตุ่มพองนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งคุณหมอรัสมิ์ภูมิได้สรุปไว้ดังนี้ค่ะ

  1. โรคทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นตั้งแต่กำเนิด เช่น โรคเอพิเดอร์โมลิซิส บุลโลซา (epidermolysis

bullosa) เป็นโรคที่ทำให้เกิดรอยแยกของผิวหนังทำให้เกิดตุ่มพองขึ้นมาได้

  1. โรคที่เกี่ยวข้องกับอิมมูนซิสเต็มมีอยู่หลายโรคด้วยกัน เช่น โรคเพมฟิกัส (pemphigus) ซึ่งมีหลายชนิด ได้แก่ เพมฟิกัส วัลการิส (pemphigus vulgaris) เพมฟิกัส โฟลิเอเซียส (pemphigus foliaceus) เพมฟิกัส เอริธีมาโทซัส (pemphigus erythematosus) รวมทั้งโรคบูลลูส เพมฟิกอยด์ (bullous pemphigoid) ซึ่งพบได้บ่อยกว่า
  2. โรคจากการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคบูลลัส อิมเพทติโก้ (Bullous?Impatigo) หรือเชื้อไวรัส เช่น เริมงูสวัด อีสุกอีใส
  3. กลุ่มอาการแพ้ ได้แก่ การแพ้ยา เช่น โรคสตีเวนส์จอห์นสัน ซินโดรม (Stevens – Johnson Syndrome) รวมถึงสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ผื่นเอ็กซีมา (Eczema) แมลงสัตว์กัดต่อย ตลอดจนการแพ้เครื่องสำอาง ผงซักฟอก และ สารเคมีต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดตุ่มพองได้
  4. ปัจจัยภายนอก เกิดได้จาก แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกโดนความร้อน หรือสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ การเสียดสีผิวหนังซึ่งมักเกิดที่มือและเท้า เช่น นักกีฬายกน้ำหนัก นักเทนนิส หรือผู้ที่ใส่รองเท้าใหญ่เกินไปหรือเล็กเกินไป และไม่ชอบใส่ถุงเท้าตลอดจนผู้ที่ชื่นชอบการทำสวน

ตุ่มพองน้ำ

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

หากเกิดตุ่มพองขึ้นแล้ว คุณหมอแนะนำว่า ควรรักษาตามสาเหตุที่เกิดขึ้น แต่หากไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุใด ก็ควรรีบไปพบแพทย์ และถ้าคุณมีแผลตุ่มพองที่เกิดจากสาเหตุเล็กๆ น้อยๆ เช่น การเสียดสีของรองเท้า เหมือนเช่นน้องสาวของเมษาแล้ว เมษามีวิธีเยียวยาง่ายๆ มาแนะนำค่ะ

เยียวยาตุ่มพองด้วยการปล่อยทิ้งไว้

เมื่อผิวหนังเกิดตุ่มพองเราควรทำอย่างไร ระหว่างเจาะตุ่มพองใสให้แตกหรือปล่อยทิ้งไว้

คำตอบก็คือ ถ้าเป็นตุ่มพองขนาดเล็กหรือดูท่าว่ามันจะไม่แตกเอง ก็ไม่จำเป็นต้องยุ่งกับตุ่มพองนั้นควรปล่อยให้แตกและแห้งไปเอง เพราะของเหลวในตุ่มจะเป็นเหมือนเกราะป้องกันผิวหนังใหม่ที่ขึ้นมาทดแทน ดังนั้นตราบใดที่ผิวหนังยังไม่ปริแตกออก โอกาสที่จะติดเชื้อโรคก็น้อยลงไปด้วย ซึ่งคุณสามารถดูแลแผลด้วยตัวเองง่ายๆ ได้ดังนี้

  • ไม่ควรไปยุ่งกับตุ่มพองที่เกิดขึ้น คุณแค่ล้างแผลด้วยสบู่และล้างออกด้วยน้ำเปล่า หลังจากนั้นใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้ง และแต้มปิโตรเลียมเจลเพียงเล็กน้อย หรือทาด้วยวุ้นว่านหางจระเข้ โดยตัดใบว่านหางจระเข้สดมาหนึ่งใบ แล้วกรีดเอาเนื้อวุ้นจากตรงกลางใบ ล้างน้ำให้สะอาด นำมาทาบางๆ รอบตุ่มพอง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและป้องกันไม่ให้ผิวหนังบริเวณนั้นแห้งตึง
  • ถ้าเป็นตุ่มพองบริเวณที่เสี่ยงกับการแตกก็ควรปิดแผลไว้โดยใช้ผ้าก๊อซนุ่มๆ ปิดแผล และควรเปลี่ยนแผ่นใหม่อย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง ที่สำคัญ ควรเอาผ้าออกอย่างเบามือและระมัดระวังไม่ให้ผิวหนังฉีกขาด
  • ตอนกลางคืนให้เปิดแผลไว้ เพื่อปล่อยให้แผลสัมผัสอากาศซึ่งจะช่วยให้หายเร็วขึ้น แต่หากตุ่มพองอยู่ในบริเวณที่สัมผัสกับที่นอน ก็ควรใช้ผ้าสะอาดบางๆ ปิดไว้
  • ใช้ความเย็นลดอาการปวดและคัน โดยแช่ผ้าขนหนูในน้ำเย็น บิดพอหมาด แล้วนำมาวางประคบบนตุ่มพองประมาณ 10 – 30 นาที จะช่วยลดอาการปวดและคันตุ่มพองได้อย่างดี

ตุ่มพองน้ำ

แต่หากคุณทำตุ่มพองแตกโดยไม่ตั้งใจ มีวิธีดูแลแผลมาฝากค่ะ

  • สูตรน้ำมันทีทรีสมานแผล ให้คุณล้างแผลด้วยสบู่และน้ำเปล่าทิ้งไว้ให้แห้งสักพัก แล้วจึงทาน้ำมันทีทรี (tea tree oil) โดยใช้น้ำมันทีทรี 1 ส่วน น้ำมันพืช 3 ส่วน ผสมให้เข้ากันดี แล้วจึงนำ

สำลีก้อนเล็กๆ จุ่มน้ำมันที่ผสมแล้วเพียงเล็กน้อย ทาบางๆ บริเวณแผลวันละ 4 ครั้ง น้ำมันทีทรีจะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และป้องกันไม่ให้แผลอักเสบได้ค่ะ

แต่หากคุณมีแผลตุ่มพองขนาดใหญ่หรือตุ่มพองที่เกิดในบริเวณที่จะโดนกดทับ คุณควรเจาะเอาน้ำใสออกโดยถูกวิธี (ยกเว้นกรณีเป็นตุ่มที่เกิดจากการโดนความร้อน ห้ามเจาะเอาน้ำออกเด็ดขาด เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้)

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

เคล็ด (ไม่) ลับเจาะตุ่มพอง

ถ้าไม่จำเป็นเราไม่ควรเจาะตุ่มพองเป็นอันขาด แต่ถ้าหากเป็นตุ่มพองขนาดใหญ่หรืออยู่ในบริเวณที่คุณจะต้องสัมผัสโดนหรือกดทับโดยเลี่ยงไม่ได้ เมษาก็มีเทคนิควิธีเจาะตุ่มพองมาฝากค่ะ

  1. เตรียมอุปกรณ์ทำแผล ใช้เข็มที่สะอาด ผ่านการฆ่าเชื้อโดยแอลกอฮอล์หรือการใช้แหนบจับเข็มไปจ่อเปลวไฟโดยตรงสักครู่หนึ่ง จนกระทั่งเข็มเป็นสีแดง แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น ล้างตุ่มพองด้วยน้ำยาทำความสะอาดผิวหนังก่อนผ่าตัดหรือยาฆ่าเชื้อ เช่นเบตาดีน (Betadine)
  2. การเจาะตุ่มพอง วางผ้าก๊อซปิดแผลตุ่มพองไว้ ใช้เข็มเจาะตุ่มบริเวณขอบ โดยดันเข็มในลักษณะเอียงเข้าไปข้างใน จากนั้นค่อยๆ กดผ้าก๊อซเพื่อไล่น้ำออกจากตุ่มจนแห้ง แต่ระวังอย่าให้ผิวหนังด้านบนฉีกขาดหรือหลุดออก เพราะนั่นคือเกราะช่วยปกป้องผิวหนังบริเวณข้างใต้ ซึ่งกำลังอ่อนแอมาก
  3. การปิดแผล ทาแผลด้วยยาแดงหรือยาใส่แผลสด แล้วใช้ผ้าก๊อซปิดแผลไว้ ทำความสะอาดแผลและเปลี่ยนผ้าก๊อซใหม่วันละ 2 ครั้งจนกว่าจะหาย หากแผลหายดีแล้ว สิ่งสำคัญนอกจากนี้ คือ การดูแลตัวเองด้วยการป้องกันไว้ก่อนค่ะ

ตุ่มพองน้ำ

ป้องกันไว้ก่อน

ตุ่มพองจากการเสียดสีซ้ำๆ สามารถเกิดขึ้นบ่อยในชีวิตประจำวันของเรา ดังนั้นทางที่ดีเราจึงควรมีวิธีป้องกันการเกิดตุ่มพองดังนี้ค่ะ

  • เลือกซื้อรองเท้าอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันตุ่มพองที่เท้าควรวัดขนาดเท้าทุกครั้งที่ซื้อรองเท้าใหม่ ทเมื่อลองรองเท้าอย่าลืมสวมถุงเท้าแบบเดียวกับที่คุณจะใส่กับรองเท้าคู่นั้นจริงๆ และควรเลือกซื้อรองเท้าในตอนบ่าย เพราะเท้าคนเราจะขยายใหญ่ขึ้นเล็กน้อยในช่วงบ่ายๆ ค่ะ
  • ก่อนวิ่งออกกำลังกาย เดินไกลๆ หรือเดินป่า ควรโรยแป้งที่เท้าเพื่อให้เท้าแห้ง และปิดผิวหนังบริเวณที่เกิดตุ่มพองได้ง่ายเช่น ส้นเท้า ด้วยผ้าก๊อซหรือพลาสเตอร์ยา
  • สำหรับผู้ที่ทำสวนเป็นประจำ ควรปกป้องมือโดยสวมถุงมือหนังนุ่มสำหรับทำสวน แต่ถ้าสวมถุงมือแล้วก็ยังเป็นตุ่มพอง ควรเลือกใช้จอบที่มีด้ามจับใหญ่ขึ้นและมียางรองตรงมือจับ
  • คนที่เล่นกีฬาเทนนิสที่ใช้แร็กเกตเป็นประจำอาจเกิดตุ่มพองได้บ่อยเช่นกัน ควรหุ้มด้ามจับแร็กเกตด้วยวัสดุที่นุ่มและรองรับแรงเสียดสีได้ดี

ที่นี้คุณจะใส่รองเท้าคู่สวยหรือเล่นกีฬาได้อย่างสบายใจ เพราะหมดห่วงปัญหาเรื่องตุ่มพองแล้วค่ะ

 

เมื่อใดควรพบแพทย์

  • ตุ่มพองมีขนาดใหญ่หรือกว้างเกิน 5 เซนติเมตร
  • มีอาการติดเชื้อร่วมด้วย เช่น ตัวร้อน ปวดแผลเพิ่มมากขึ้นผิวหนังเป็นปื้นแดงรอบๆ แผล มีของเหลวสีขุ่นไหลออกจากตุ่มพองหรือมีกลิ่นเหม็น เป็นต้น

 

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 235 

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.