แก้ไข ปัญหาเล็บเสีย พร้อมวิธีดูแลรักษา
เล็บสวยนอกจากจะบ่งบอกถึงสุขภาพร่างกายที่ดีแล้ว ยังบอกถึงความเอาใจใส่ในสุขภาพของเราด้วย อาการผิดปกติที่เล็บหรือ ปัญหาเล็บเสีย พบได้บ่อย แต่มักถูกมองข้ามไป บ้างก็ปล่อยจนเรื้อรัง วันนี้มีวิธีแก้ปัญหาเกี่ยวกับเล็บที่พบบ่อยๆ มาฝากค่ะ
เกลือบรรเทาอาการเล็บขบ
บางคนมีอาการเล็บขบแบบเป็นแล้วเป็นอีก แต่ไม่รู้จะแก้ยังไง สาเหตุของเล็บขบอาจเกิดจากการตัดเล็บไม่ได้สัดส่วน ทำให้เล็บที่งอกมาใหม่ฝังลงในผิวหนัง เกิดอาการปวดอักเสบ นอกจากนั้นพฤติกรรมที่ทำเป็นประจำบางอย่าง เช่น การตัดเล็บผิดวิธี การใส่รองเท้าที่บีบรัดเกินไป ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เล็บกดเข้าไปในเนื้อ
ใครกำลังประสบกับปัญหาเล็บขบที่แก้ไม่ตกอยู่ ลองทำตามวิธีต่อไปนี้ดูนะคะ
– แช่เท้าในน้ำอุ่นผสมเกลือ โดยใช้เกลือ 1 ช้อนชาต่อน้ำ 1 ลิตร ทำวันละ 4 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เพื่อลดอาการบวมและอาการกดเจ็บ
– หลังจากแช่เท้า ใช้สำลีชิ้นเล็กๆ ชุบน้ำยาฆ่าเชื้อวางไว้บริเวณเล็บที่ขบ หากทำได้ให้สอดเข้าใต้ขอบเล็บ เพื่อช่วยให้เล็บงอกพ้นผิวหนังออกไป หมั่นเปลี่ยนสำลีทุกวันจนกว่าอาการเจ็บและรอยแดงช้ำจะหายไป
มะกรูดเยียวยาเล็บขึ้นรา
แม้เล็บจะเป็นเซลล์ที่ตายแล้ว แต่หากปล่อยปละละเลยไม่สนใจทำความสะอาด การสัมผัสกับความอับชื้นก็ทำให้เกิดเชื้อราจำพวกกลากและ แคนดิดา (candida) ที่เล็บได้ การติดเชื้อที่เล็บนี้มักเริ่มจากการเป็นปื้นสีขาวที่ขอบเล็บด้านข้างหรือปลายเล็บแล้วขยายช้าๆ จนขาวขุ่นทั้งเล็บ เล็บจะหนาตัวขึ้น มีขุยใต้เล็บบางกรณีอาจมีเล็บเปราะ ขรุขระ บางครั้งอาจมีหนองร่วมด้วย
นอกจากสาเหตุของการไม่รักษาความสะอาดแล้ว เล็บติดเชื้อรายังมักพบในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ในคนเป็นโรคเบาหวานโรคเอดส์ ฯลฯ
เล็บติดเชื้อราสามารถแก้ไขได้ด้วย มะกรูด ก้นครัวเรานี่เอง เพราะมะกรูดมีฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ดี นำมะกรูดมาคั้นเอาน้ำทาบริเวณที่เป็นบ่อยๆ อาการก็จะดีขึ้น
น้ำมันทีทรี (tea tree oil) เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ใช้ได้ผลดี ใช้สำลีชุบทาบ่อยๆ บริเวณเล็บและผิวหนังโดยรอบ
เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายและสร้างความแข็งแรงให้เล็บ แนะนำให้กินหัวหอม กระเทียม อาหารที่มี สังกะสี อย่างปลาหอย ธัญพืชไม่ขัดขาว ถั่วฝัก เพิ่มอาหารที่มี วิตามินซี เพื่อช่วยในการรักษาแผล เช่น ส้มและผลไม้จำพวกส้ม บรอกโคลี พริกและผักทุกชนิด พร้อมทั้งเสริมอาหารมี ฟลาโวนอยด์ ที่มีสารแอนติ-ออกซิแดนท์อย่างธัญพืชไม่ขัดขาว ผักและผลไม้สีสด
และท้ายสุดคืออาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 อย่างปลาที่มีมันมาก เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า
เล็บเปราะ…แร่ธาตุและวิตามินช่วยได้
เล็บเปราะเกิดจากการขาดสารอาหารประเภทวิตามิน โปรตีน นอกจากนั้นอาจเกิดจากการทำลายของสารบางอย่างในผงซักฟอก น้ำยาล้างจานที่ใช้เป็นประจำ ทำให้เล็บไม่แข็งแรง เล็บเปราะบาง อาการเล็บเปราะหักง่ายสามารถแก้ไขได้โดยรับประทานอาหารที่อุดมด้วยสารอาหารเหล่านี้
อาหารที่มี แคลเซียม อย่างปลาเล็กปลาน้อย ธัญพืชไม่ขัดขาว ถั่วเปลือกแข็ง และกะหล่ำสีเขียว เพราะเป็นแร่ธาตุหนึ่งที่สะสมไว้ในเล็บ การได้รับแคลเซียมที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายช่วยให้เล็บแข็งแรงขึ้นได้
วิตามินเอ เป็นแหล่งอาหารที่ช่วยบำรุงผิวหนังและเสริมภูมิต้านทานได้อย่างดี วิตามินเอมีอยู่ในปลาที่มีไขมันมาก ถั่วฝัก แครอท
ธาตุเหล็ก มีความสำคัญต่อโครงสร้างและการทำงานของเยื่อบุผิว หากขาดธาตุเหล็กอาจทำให้เล็บเปราะบาง แบนเว้าเป็นรูปคล้ายช้อน อาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น ธัญพืชไม่ขัดขาว ถั่วต่างๆ สาหร่ายทะเล
ปิดท้ายด้วยอาหารที่มี วิตามิน H หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ ไบโอติน (biotin) ได้แก่ ปลาเนื้อขาว น้ำมันปลา ข้าวกล้อง ข้าวโพด รำข้าวสาลี ผักต่างๆ โดยเฉพาะดอกกะหล่ำ กะหล่ำปลี เห็ด แครอท เป็นต้น เพราะไบโอตินเป็นวิตามินเสริมชนิดหนึ่งซึ่งมีบทบาทต่อการเสริมสุขภาพเส้นผมและเล็บให้แข็งแรง
เสริมภูมิต้านทานรักษาดอกเล็บ
ดอกเล็บคือจุดหรือปื้นสีขาวที่ขึ้นบริเวณเล็บ สาเหตุเกิดจากการขาดสารอาหารประเภทสังกะสีและวิตามินบี
อาหารประเภท สังกะสี ช่วยเสริมภูมิต้านทานให้ร่างกาย บำรุงผิวหนังให้สวยสุขภาพดี สังกะสีมีอยู่ในอาหารทะเล ธัญพืชไม่ขัดขาว ถั่วฝัก พืชหัว และกระเทียม
ส่วน วิตามินบี ซึ่งช่วยบำรุงเล็บและปรับสมดุลให้ร่างกาย มีอยู่ในธัญพืชไม่ขัดขาว ปลา ถั่วฝัก ผักใบเขียว ถั่วเปลือกแข็งเมล็ดพืช
อย่าปล่อยปละละเลยจนเล็บมีปัญหา หันมาดูแลอีกสักนิด คุณจะได้เป็นเจ้าของเล็บสวยจนใครๆ ก็ต้องออกปากชม
วิธีดูแลสุขภาพเล็บ
– เวลาที่เหมาะในการตัดเล็บคือหลังอาบน้ำเสร็จใหม่ๆ เพราะเนื้อเล็บจะอ่อนตัว ทำให้ตัดง่าย ไม่เกิดบาดแผล วิธีตัดเล็บเท้าให้ตัดในแนวตรง อย่าตัดสั้นจนกุด ให้เหลือขอบขาวๆ ไว้เล็กน้อย เพื่อป้องกันเนื้ออ่อนใต้เล็บ
– อย่าล้างมือบ่อยเกินไป หลังล้างมือแล้วต้องเช็ดให้แห้ง
– พยายามทาสีเล็บให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เล็บได้พักผ่อน หลีกเลี่ยงการเพ้นต์สีเล็บที่อาจจะมีสารเคมีทำลายเนื้อเล็บได้
– หลีกเลี่ยงการทำเล็บ เพราะการแคะเล็มและตัดจมูกเล็บเป็นสาเหตุหนึ่งของเล็บขบ
ข้อมูลจาก: นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 211