วิธีเพิ่มน้ำหนัก อย่างไร ให้สวยสมส่วน
วิธีเพิ่มน้ำหนัก ให้หุ่นสวยสมส่วน ในคนที่ผอมจนเกินไป เพื่อให้ร่างกายดูมีเนื้อมีนวล ดูแข็งแรงและมีบุคลิกภาพที่ดี ซึ่งการจะเพิ่มน้ำหนักตัวนั้นทำได้ ไม่ยากอย่างที่คิด
แค่ไหนถึงเรียกว่าผอม
แรกเริ่มณัฐพลศึกษาข้อมูลเรื่องความผอมจากอินเทอร์เน็ต นั่นทำให้รู้ว่าตนมีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน เพราะความสูง 175 เซนติเมตร น้ำหนักตัว 55 กิโลกรัมเมื่อคำนวณดัชนีมวลกายตามสูตรจะได้ผลลัพธ์ 17.9 ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐาน เพราะตามเกณฑ์ถือว่าดัชนีมวลกายที่ต่ำกว่า 18.5 จัดว่าผอม
นอกจากนี้ยังใช้การประเมินความเหมาะสมของน้ำหนักตัวอย่างง่าย ดังที่ นายแพทย์สุวินัย บุษราคัมวงษ์ แพทย์สาขาอายุรกรรมสมอง แผนกประกันสังคม โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท แนะว่า ในผู้ชายให้ใช้ส่วนสูง (เซนติเมตร) ลบหนึ่งร้อย จะได้น้ำหนักตัวที่เหมาะสม และในผู้หญิงให้ลบหนึ่งร้อยสิบ ซึ่งหากคำนวณตามสูตรนี้ณัฐพลต้องมีน้ำหนักตัว 75 กิโลกรัม
เมื่อแน่ใจว่ามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เขาจึงปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีเพิ่มน้ำหนัก
หลากสาเหตุทำน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์

ขั้นตอนแรกของการเพิ่มน้ำหนักคือ การค้นหาสาเหตุว่าทำไมจึงมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน คุณหมอจึงสอบถามประวัติโรค พฤติกรรมการกิน และวิถีชีวิตอย่างละเอียด จึงพบว่า เป็นเพราะระบบเผาผลาญดีและมีลักษณะทางพันธุกรรมเป็นคนรูปร่างผอม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ
ในผู้ที่น้ำหนักตัวน้อยบางคนอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ดังที่คุณหมอสุวินัยกล่าวว่า
“ผู้ที่กินอาหารมาก แต่น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ อาจเกิดได้จากการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์หรืออาหารที่ไม่ให้พลังงาน เช่น ผัก ผลไม้เพียงอย่างเดียว ดังที่ในต่างประเทศมีลัทธิการกินแต่ผักและผลไม้ที่หล่นจากต้นไม้เท่านั้น
“ในผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นไข้มักพบว่ากินอาหารเท่าไรก็ไม่อ้วน เป็นเพราะร่างกายดึงเอาสารอาหารไปซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอหมด ส่วนในผู้ที่ต้องใช้พลังงานเยอะ เช่น ผู้ใช้แรงงาน ก็พบว่าส่วนใหญ่จะมีรูปร่างผอม
“อารมณ์ก็ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการกินจนก่อปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว เพราะทำให้ไม่มีความอยากอาหาร จึงมักพบว่า ผู้ที่อยู่ในภาวะเครียดและผู้ป่วยโรคทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า จะน้ำหนักตัวลดลง”
ในบางคนที่กินอาหารมาก แต่น้ำหนักตัวไม่ขึ้นอาจเกิดจากโรคบางชนิด
“โรคไทรอยด์ถือเป็นโรคที่ส่งผลต่อระบบย่อยและดูดซึมอาหาร หรือโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น วัณโรค รวมทั้งโรคไม่ติดเชื้อรุนแรง คือ โรคมะเร็ง เพราะเชื้อโรคหรือเซลล์มะเร็งจะดูดซึมอาหารที่เรากินเข้าไป ทำให้เราได้รับสารอาหารน้อยลง
“นอกจากนี้ยังมีโรคที่เกี่ยวกับระบบเมแทบอลิซึมชนิดอื่นๆ อีก เช่น เบาหวานซึ่งทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารและพลังงานไม่เพียงพอ”
แข็งแรง + สมส่วนด้วยวิธีเพิ่มน้ำหนักตามธรรมชาติ
เมื่อรู้สาเหตุของน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ ณัฐพลจึงสอบถามวิธีเพิ่มน้ำหนักจากคุณหมอ ซึ่งแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักด้วยการกินยา เพราะหวังผลที่รวดเร็ว แต่ผลข้างเคียงของยาทำให้เขามึนงงและง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเรียน
อาการดังกล่าวคุณหมอสุวินัยกล่าวว่า
“ยาที่กินเพื่อเพิ่มน้ำหนักตัวจะทำงานกระตุ้นสมองส่วนที่ควบคุมความอยากอาหารทำให้กินอาหารได้มากขึ้น ผลเสียก็คือ ทำให้ง่วงซึม เพราะต้องการให้ผู้ที่กินยาเจริญอาหารและพักผ่อนมากๆ เพื่อลดการใช้พลังงาน น้ำหนักตัวจะได้เพิ่มขึ้น หากกินเป็นระยะเวลานานก็จะทำให้มีอาการติดยาและต้องเพิ่มปริมาณยา ซึ่งอาจตกค้างในไตในระยะยาว”
เขากินยาเพื่อกระตุ้นความอยากอาหารอยู่นานสองเดือนก็ต้องหยุด และหาวิธีการเพิ่มน้ำหนักตามธรรมชาติด้วยการกินอาหารมากขึ้นเป็นสองเท่า โดยเน้นอาหารที่มีประโยชน์ กินให้ตรงเวลา พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกาย
สุดท้ายสุขภาพจึงแข็งแรงขึ้นและน้ำหนักเพิ่มขึ้นสองกิโลกรัมภายในหนึ่งเดือน ซึ่งถือเป็นวิธีที่ถูกต้องดังที่ อาจารย์สุรภี เสริมพานิชกิจ หัวหน้าฝ่ายโภชนาการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า
“การเพิ่มน้ำหนักตัวควรเริ่มจากทัศนคติและพฤติกรรมการกินก่อน เพราะคนที่น้ำหนักตัวน้อยส่วนใหญ่มักไม่ชอบกินอาหารหรือกินแต่อาหารที่ให้พลังงานน้อย จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนิสัยการกิน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัยด้วย เพราะระบบการดูดซึมในเด็กจะดีกว่าผู้ใหญ่”
อ่านต่อหน้าถัดไป วิธีเพิ่มน้ำหนักตัว