ฉลุลายไม้งานศิลป์จากหัวใจรักพ่อ สนไชย ฤทธิโชติ
กล่าวถึงย้อนไป ทันทีที่สำนักงานช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศรับสมัครจิตอาสาร่วมทำงานสร้างพระเมรุมาศ และพระโกศจันทน์เพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สนไชย ฤทธิโชติ ข้าราชการเกษียณวัย 66 ปี อดีตหัวหน้าแผนกหัตถกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเพาะช่าง (ชื่อในสมัยนั้น) ไม่ลังเลใจเลยที่จะรีบเสนอตัวเข้าร่วมงาน เพราะอาจารย์สนไชยรู้ว่าตนเองมีคุณสมบัติตามที่สำนักงานช่างสิบหมู่กำหนด นั่นคือ มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้านศิลปกรรม มีทักษะฝีมือและผลงานด้านช่างศิลปกรรมเป็นที่ยอมรับ และมีทักษะฝีมือและผลงานสอดคล้องกับ
การปฏิบัติงานของสำนักช่างสิบหมู่
เหนืออื่นใด อาจารย์สนไชยรู้ว่า การที่ตัวเองต้องการมาร่วมปฏิบัติงานในครั้งนี้มิใช่เรื่องอื่นใด นอกจากความจงรักภักดีที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปฟังอาจารย์สนไชยเล่าถึงการปฏิบัติงานของท่านกันค่ะ
ในหลวงรัชกาลที่ 9 คือแรงบันดาลใจ
อาจารย์สนไชยคลุกคลีกับงานฉลุลายไม้มาตั้งแต่เรียนที่วิทยาลัยเพาะช่าง (มหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์) และยังได้ทำงานฉลุลายไม้สำหรับพระโกศจันทน์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ด้วย ใคร ๆ ต่างพากันยกย่องฝีมือของอาจารย์สนไชยว่าเป็นงานศิลปะฉลุลายไม้ชั้นครู
ท่านยังเล่าเรื่องศิลปะการฉลุลายไม้ว่าเป็นศิลปะล้ำค่าของไทย เป็นหนึ่งในงานช่างสิบหมู่ การทำงานฉลุลายไม้เกิดจากความเชื่อว่า เป็นงานที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยทำนุบำรุงศาสนา เช่น การสร้างโบสถ์ หรือวิหารที่บางครั้งมีการฉลุลายไม้เพื่อให้เกิดเป็นรูหรือเป็นช่องโปร่งให้ลมพัดผ่าน
แต่เบื้องหลังการทำงานฉลุลายไม้ให้ออกมาสวยงามนี้ เกิดจากความต้องการถวายความจงรักภักดีแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9
“บางคนไม่รู้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาศิลปะ พระองค์ทรงวาดภาพสวยและเคยตรัสถามว่า ศิลปะแต่ละยุคสมัยมีความแตกต่างกันอย่างไร แล้วศิลปะในรัชกาลที่ 9 เป็นอย่างไร ผมตอบไม่ได้
เพราะไม่เคยเตรียมคำตอบสำหรับคำถามนี้ไว้ พระองค์มักทรงมีความรู้ล้ำหน้าคนเรียนศิลปะอยู่เสมอ อาจเรียกได้ว่า ท่านคือศูนย์กลางของศิลปะและวัฒนธรรมความเป็นไทย
“ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงคือแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะของผม และทำให้ผมพยายามจะมาทำงานฉลุลายไม้เพื่อถวายแด่พระองค์ท่าน ขณะนั่งฉลุลายไม้ก็คิดเสมอว่า กำลังทำงานถวายเทพเจ้า
ด้วยจิตใจบริสุทธิ์ ด้วยความรักความศรัทธา
“สิ่งสำคัญที่สุดอีกประการคือ หลังจากเสร็จสิ้นพิธีแล้ว ผมอยากให้คนรุ่นหลังได้เห็นผลงานชิ้นนี้ เพื่อให้พวกเขารู้ว่า ผลงานที่สวยงามละเอียดอ่อนนี้เกิดจากความจงรักภักดีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ของช่างศิลป์ทุกคน
เมื่อถามถึงหน้าที่ของอาจารย์สนไชยในตอนนี้ ท่านเล่าว่า
“หน้าที่ของผมคือ ทำงานฉลุลายไม้ตามที่เจ้าหน้าที่บอก งานชิ้นแรก ๆ เป็นงานชิ้นใหญ่ ไม่ค่อยมีรายละเอียดชัดเจนแต่ช่วงหลังจะฉลุลายที่ละเอียดมากขึ้นมีการวางแบบที่ซับซ้อน ใช้ไม้ชิ้นเล็ก ๆ มาวางซ้อนกันเพื่อให้เกิดมิติ มีแสงเงาเมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้วจะมองคล้ายภาพที่เคลื่อนไหวได้”
จิตอาสาพาลืมป่วย
อย่างที่เราทราบกันดีว่า งานศิลปะสามารถบำบัดความเจ็บป่วยได้ เช่นเดียวกับอาจารย์สนไชยที่แม้จะป่วยเป็นโรคหัวใจ เคยผ่าตัดทำบายพาสและทำบอลลูนหัวใจมาแล้ว แต่เมื่อมาทำงานฉลุลายไม้ สุขภาพของอาจารย์ก็ดีขึ้น
“ผมมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ป่วยเป็นโรคหัวใจ หมอบอกว่า วิธีทางการแพทย์ช่วยผมได้ 25 - 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือการดูแลตัวเองและกำลังใจของคนไข้ ซึ่งการมาทำงานตรงนี้ส่งผลดีต่อสุขภาพผมร้อยเปอร์เซ็นต์
“เพราะผมได้พบเจอจิตอาสาหรืออาสาสมัครหลายรุ่น ทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้อง ทุกคนต่างมีความห่วงใย ผูกพันกัน เราคุยเรื่องเดียวกัน ไม่มีเรื่องการเมือง ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องเราสามารถแลกเปลี่ยนความรู้กัน ใครอยากให้ผมสอน ผมสอนเต็มที่ เลยเป็นความสุขทางใจที่ดีต่อร่างกาย แต่งานบางชิ้นที่หนักเกินกำลัง เด็ก ๆ จะคอยห้ามไม่ให้ผมทำเพราะกลัวว่าผมจะไม่ไหว ซึ่งผมก็ประเมินความพร้อมของตัวเองอยู่เหมือนกัน”
นอกจากกลุ่มช่างศิลป์แล้ว ยังมีคนในสาขาอาชีพอื่น ๆ มาร่วมงานด้วย ซึ่งเกิดเป็นสังคมแห่งความสามัคคีกลมเกลียว
“มีคนหลากหลายอาชีพเข้ามาช่วยทำงาน ทั้งช่างรับเหมา คนขายก๋วยเตี๋ยว ทหารหรือบางคนเป็นผู้สูงอายุ อายุกว่า 70 ก็มา พวกเขาต่างขอมาช่วย แต่ต้องให้ทดลองฝีมือก่อนว่าทำได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็คัดให้ไปอยู่ในส่วนของงานขัดไม้ ทำความสะอาด เช็ดถูโต๊ะ ซึ่งทุกคนยินดีทำ เพราะเราถือว่า เราได้มาทำงานเพื่อถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 เหมือนกัน”
แม้ต้องเดินทางไป - กลับระหว่างบ้านกับสนามหลวงทุกวัน แต่อาจารย์สนไชยก็ไม่เคยเหนื่อย ไม่เคยท้อ ทุกวันที่เดินทางมา อาจารย์มาพร้อมหัวใจของความจงรักภักดี แม้เดินทางกลับก็พกความภาคภูมิใจ ความสุขในการทำงานร่วมกับเพื่อนจิตอาสากลับไปด้วย
“ผมรู้สึกว่าตัวเองสุขภาพแข็งแรงกว่าเมื่อก่อนเยอะ มีทั้งความภูมิใจและสบายใจ ข้อสำคัญคือ ความภูมิใจที่ได้ร่วมในงานสำคัญ เพื่อนร่วมรุ่นบอกผมว่าเขาดีใจนะ ถึงเขาไม่ได้เข้ามาทำงานตรงนี้
แต่ยังมีเพื่อนรุ่นเดียวกันเข้ามาทำ เขาก็ภูมิใจไปด้วย เป็นความสุขที่แท้จริงครับ”
นี่คือการหลอมรวมหัวใจแห่งความภักดีผ่านงานศิลปะอันทรงคุณค่าของไทยเพื่อถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
จาก คอลัมน์ตามรอยพ่อหลวง นิตยสารชีวจิต ฉบับ 450 (1 กรกฎาคม 2560)
บทความน่าสนใจอื่นๆ
ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ : พระมหากรุณาธิคุณด้านสาธารณสุข
ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ : พระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9