รับมือความชราที่ใกล้มาถึง

รับมืออย่างไรกับความชราที่ใกล้จะมาถึง?

รับมืออย่างไรกับความชราที่ใกล้จะมาถึง?

ความแก่ชราเป็นสิ่งที่ค่อยๆ มาทีละนิดๆ จะมาช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับการดูแลร่างกายของเรา แต่ยังไงความแก่ชราก็ต้องมาถึงสักวันเพราะสภาพร่างกายของคนเรานานวันเข้าก็ย่อมเสื่อมถอย อะไรๆ ก็คงไม่ดีเหมือนสมัยยังหนุ่มสาว ฉะนั้นการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงและเตรียมความพร้อมรับความชราตั้งแต่เนิ่นๆ ย่อมเป็นหนทางที่ดีสำหรับเราทุกคน

เพื่อที่ถึงวันที่แก่ตัวไปจริงๆ จะได้ไม่ต้องลำบาก เพราะกระบวนการชราภาพเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย

อายุ 30 ปี ผมเริ่มหงอก 

ต้อนรับเข้าสู่วัยเลขสามด้วยการมีสีผมที่เปลี่ยนไป เส้นผมขาวจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20% ในทุกๆ 10 ปี รองศาสตราจารย์ ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เขียนบทความในเว็บไซต์คณะเภสัชศาสตร์ ถึงงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์เมื่อปี พ.ศ. 2548 ว่า คนเอเชียจะเริ่มมีผมหงอกหรือผมขาวในช่วงอายุ 30 ปีปลายๆ ส่วนชาวตะวันตกมักจะเริ่มกันตั้งแต่อายุ 35 ปี ส่วนชาวแอฟริกัน-อเมริกันจะหงอกช้ากว่าคืออายุประมาณ 45 ปีขึ้นไป

จะเห็นว่าไม่ต้องแก่เวอร์ผมก็เริ่มหงอกได้แล้ว เพราะสาเหตุหลักที่ผมหงอกนั้นเกิดจากการที่รากผมไม่สร้างเม็ดสีทำให้ผมส่วนที่งอกออกมาใหม่กลายเป็นสีขาวหรือสีเทา ซึ่งจะเกิดเมื่อเราอายุมากขึ้น และในบางเคสก็พบผมขาวในคนที่เป็นโรคต่อมไทรอยด์หรือคนที่ร่างกายขาดวิตามินบี 12  ได้อีกด้วย ส่วนที่ว่ากันว่าหากดึงผมหงอก 1 เส้น ผมหงอกใหม่จะตามมาอีกหลายเส้น ยังเป็นสิ่งที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันค่ะ

รับมือสู่ช่วงสูงวัย

 

ร่องรอยเริ่มมา

ริ้วรอยรอบดวงตา เส้นขีดเป็นชั้นๆ บนหน้าผากไล่ไปจนถึงตีนกาอันชัดเจน สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณที่ยกทัพพามาสะกิดว่า คุณเริ่มอายุมากแล้ว จากการศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนพบว่า ผิวหนังบนใบหน้าจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงอายุประมาณ 30 ปี และเปลี่ยนแปลงทีละนิดๆ จนเราแทบไม่รู้ตัว โดยส่วนประกอบต่างๆ ภายในชั้นผิวสามารถผลิตได้น้อยลง

เริ่มตั้งแต่คอลลาเจน (Collagen ตัวช่วยให้ผิวเราเต่งตึง ซึ่งจะเคานต์ดาวน์ผลิตลดลงกันปีละ 1% ตั้งแต่อายุ 20 ปี ต่อด้วยอีลาสติน (Elastin) ที่ทำให้ผิวยืดหยุ่นได้ดีก็ลดลง และสารชื่อยาวอย่าง ไกลโคซามิโนไกลแคนส์(Glycosaminoglycans) ที่ช่วยรักษาน้ำในผิวก็ลดลงตามกันมาติดๆ และยิ่งถ้าได้รับแสงแดดมาก ผิวหนังก็จะเสื่อมเร็วเข้าไปอีก

อายุ 40 ปี สายตายิ่งยาวไกล

เปิดฉากการเข้าสู่วัยกลางคนด้วยสายตาอันยาวไกลขึ้น เพราะการเริ่มเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อตามัดเล็กที่อยู่รอบเลนส์ตา(Ciliary Muscles) ทำให้ความยืดหยุ่นของเลนส์ตาลดลงจนเราไม่สามารถปรับโฟกัสให้มองสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ ได้ หรือเรียกง่ายๆ ว่าสายตายาวนั่นเอง เพียงระยะแค่ 1 ฟุต ก็ต้องถอยหลังออกไปเพื่อให้มองได้ชัดเจนขึ้น จนใครหลายคนต้องหาแว่นสายตามาใส่เพื่อช่วยในการมองเห็นนอกจากสายตายาวแล้ว หนังตาด้านบนยังหย่อนคล้อยทำให้เบ้าตาลึกลงไปกว่าเดิมอีกด้วย

อายุ 50 ปี มีความย่อยยาก       

เมื่อแก่ตัวลงลงศักยภาพในการเผาผลาญแคลอรี่ก็ยิ่งน้อยลง คือยิ่งกินเท่าไรตัวก็ยิ่งหนาขึ้นเท่านั้น ซึ่งความจริงระบบการเผาผลาญจะเริ่มมีประสิทธิภาพในการทำงานต่ำลงมาตั้งแต่ช่วงอายุ 30 ปี แต่ในระยะอายุ 50 นี้ ระบบทางเดินอาหารทั้งหมดจะถดถอยแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อีกทั้งฟันที่เคยแข็งแรงก็เริ่มสึกกร่อนหรือเหลือฟันในปากน้อยลง ทำให้เคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียดนัก

กล้ามเนื้อส่วนควบคุมการกลืนก็ทำงานด้อยประสิทธิภาพลง รวมไปถึงกระเพาะอาหารก็หลั่งน้ำย่อยได้ลดลง เพราะฉะนั้นการเลือกกินอาหารที่เหมาะกับวัยจึงมีความสำคัญต่อสุขภาพของผู้สูงอายุอย่างยิ่ง

กลุ่มผู้สูงวัย

 

อายุ 60  ปี หูได้ยินน้อยลง

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ประสาทรับเสียงในหูชั้นในจะค่อยๆ เสื่อมลง ทำให้ความสามารถในการส่งเสียงไปยังอวัยวะรับการได้ยินลดลง ความสามารถในการรับฟังเสียงจึงลดลงไปด้วย โดยคนปกติจะมีระดับการได้ยินที่ 25 เดซิเบล หรือน้อยกว่า แต่อาการหูตึงในผู้สูงอายุจะน้อยกว่านั้นเข้าไปอีก หนักสุดทำให้การพูดคุยกันใกล้ๆ ธรรมดาอาจจะ ต้องตะโกนคุยกันเลยนอกจากสาเหตุจากความเสื่อมของระบบแล้ว ยังขึ้นกับปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น โรคประจำตัวเรื้อรังอย่างความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ที่ส่งผลโดยตรงต่อประสาทหู

อายุ 70 ปี สู่ชีวิตสโลว์ไลฟ์

การเคลื่อนไหวของร่างกายที่ช้าลงนั่นบ่งบอกถึงอายุที่มากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ร่างกายเริ่มแสดงความเก่าและแก่ออกมาแทบทุกส่วนแล้ว โครงสร้างหลักอย่างกระดูกก็ส่งสัญญาณชราภาพอย่างเป็นทางการเช่นกันโดยจะเริ่มผุกร่อนและเสื่อมตามอายุ กล้ามเนื้อลีบและเล็กลง ทั้งนี้ ความเสื่อมลงของกระดูกยังนำมาซึ่งโรคต่างๆ เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม ข้อสะโพกเสื่อม ไปจนถึงข้อกระดูกสันหลังเสื่อม จะขยับตัวแต่ละทีก็ปวดไปหมดการเคลื่อนไหวร่างกายจึงช้าลงไปโดยปริยาย

ต่อไปเรามาดูกันดีกว่าค่ะว่า เมื่อเราก้าวเข้าสู่วัยชราแล้ว มักจะมีโรคภัยอะไรบ้างที่มักจะมากร้ำกรายผู้สูงวัยอยู่เสมอ

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดเผยงานวิจัยที่พูดถึงอายุเฉลี่ยของคนไทยว่า เราอายุยืนกันกว่าเดิม โดยได้เพิ่มขึ้นจาก 60 ปี เป็น 73 ปี และมีแนวโน้มจะถึง 80 ปี ในอีกไม่ถึงสิบปีข้างหน้า แต่ความสงสัยนั้นมีอยู่ว่า การมีอายุยืนจะยังใช่เรื่องน่าสนุกอยู่ไหม หากเรามีสุขภาพไม่แข็งแรงเต็มร้อย หรือโดนโรครุมเร้ามากกว่าหนึ่งโรค

>>อ่านต่อหน้าถัดไป<<

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.