ยาเคมีบำบัด
นายแพทย์ธีรภัทร อึ้งตระกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า
“ยาเคมีบำบัดคือยาที่ใช้เพื่อทำลายหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง มีจุดประสงค์เพื่อรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคมะเร็งและไม่กลับมาเป็นซ้ำ ควบคุมให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงและไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น”
ข้อมูลจาก วารสารสมาคมอเมริกัน เพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง ได้สรุปการพัฒนายาเคมีบำบัดเพื่อใช้รักษาโรคมะเร็งไว้ดังนี้
การใช้ยาเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งในช่วงเริ่มต้นนั้น มีความพยายามค้นหาสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคมะเร็งในหนูทดลอง ซึ่งมุ่งสู่เป้าหมาย 2 ข้อด้วยกัน คือ การพัฒนายาต้นเเบบเพื่อใช้รักษาโรคมะเร็งให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และการพัฒนายาในระดับคลินิกเพื่อใช้ทดสอบยารักษา
5 วิธีรักษาโรคมะเร็ง
เนื่องจากยาเคมีบำบัดออกฤทธิ์ต่อเซลล์ที่มีการแบ่งตัว ทำให้ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างเซลล์ปกติที่กำลังแบ่งตัว เช่น เซลล์รากผม เซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร กับเซลล์มะเร็งที่มีการแบ่งตัวได้ ทำให้เกิดผลข้างเคียง
คุณหมอธีรภัทรอธิบายว่า การพัฒนายาเคมีบำบัดในปัจจุบันนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เซลล์มะเร็งตอบสนองต่อการรักษามากขึ้น รวมถึงช่วยให้ผลของการรักษาที่จำกัดเฉพาะเซลล์มะเร็ง โดยมีผลต่อเซลล์ปกติอื่น ๆ น้อยที่สุดเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้
1. การรักษาแบบมุ่งเป้า
คุณหมอธีรภัทรอธิบายว่า การรักษาแบบมุ่งเป้า (Target Therapy) เป็นการรักษาโรคมะเร็งที่ต้องการให้ยาออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยให้ยา หรือสารไปยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณระดับเซลล์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง
ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีตัวรับหรือเป้าหมาย (Target) ที่ตอบสนองต่อยา โดยก่อนเข้ารับการรักษา แพทย์จะต้องทำการตรวจผู้ป่วยก่อนว่ามียีนหรือตัวรับที่สามารถใช้รักษาได้หรือไม่

2. ภูมิคุ้มกันบำบัด
คุณหมอธีรภัทรอธิบายว่า ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เนื่องจากโรคมะเร็งทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำ ร่างกายไม่สามารถตอบรับการรักษาด้วยยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การให้ยาเพิ่มภูมิคุ้มกันจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวกลับมาทำงานเป็นปกติ สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้
ซึ่งมีการนำไปใช้รักษากันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ แต่สำหรับในประเทศไทยอาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3 - 5 ปี เพื่อดำเนินการขอการรับรองจากองค์การอาหารและยา
3. ฮอร์โมนบำบัด
คุณหมอธีรภัทรอธิบายว่าฮอร์โมนบำบัด (Hormone Therapy) คือการรักษาโรคมะเร็งด้วยการให้ยาฮอร์โมนเข้าไปยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนที่ส่งผลให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งเต้านมโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
4. วัคซีนรักษาโรคมะเร็ง
คุณหมอธีรภัทรอธิบายว่าวัคซีนรักษาโรคมะเร็ง (Cancer Vaccine) นั้นมีความเเตกต่างจากวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกและโรคไวรัสตับอักเสบ ซึ่งวัคซีนรักษาโรคมะเร็งนี้ผลิตขึ้นจากเซลล์มะเร็ง หรือชิ้นส่วนของเซลล์มะเร็ง หรือแอนติเจนของเซลล์มะเร็ง เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายแล้วจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ของภูมิคุ้มกันในการต่อต้านเซลล์มะเร็ง และมีแอนติบอดีที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น
ปัจจุบันวัคซีนที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาคือวัคซีนรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
5. การรักษาแบบใช้ยาเฉพาะบุคคล
คุณหมอธีรภัทรอธิบายว่า หลังจากโลกคิดค้นวิธีการถอดจีโนมระดับดีเอ็นเอเฉพาะรายได้สำเร็จ ซึ่งนำไปสู่การรักษาแบบใช้ยาเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) ที่เหมาะสมกับยีนของแต่ละคน ทำให้การรักษามีความเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น ทั้งยังลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาและการแพ้ยาได้