สารอาหารบำรุงสายตา ที่ควรกินหากอยากสายตาดีไปนานๆ
อายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆ ของร่างกายก็เริ่มเสื่อม รวมเป็นถึงดวงตาด้วย วันนี้เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับ สารอาหารบำรุง สายตา จากหนังสือ สายตาดี ด้วยวิธีมหัศจรรย์ โดย อุราภา วิฒนะโชติ สำนักพิมพ์ AMARIN Health มาฝากค่ะ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
วิตามินเอ
ช่วยไม่ให้เยื่อบุตาแห้ง ลดการปวดกระบอกตา บำรุงสายตา ป้องกันอาการตาบอดตอนกลางคืน เพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น เสริมสร้างเม็ดสีที่มีคุณสมบัติไวต่อแสงในตา ช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับจอตา วิตามินเอแบบสำเร็จที่เราเรียกว่า เรตินอล พบได้ในอาหารที่มาจากสัตว์เท่านั้น ส่วน แคโรทีน พบในอาหารที่มาจากพืชและสัตว์
วิตามินเอพบมากในผักบุ้ง ตำลึง คะน้า พริกหวาน กระเจี๊ยบเขียว ฟักทอง แครอต บีตรู้ต แตงโม มะละกอสุก น้ำมันตับปลา ตับ นม ไข่ ฯลฯ
วิตามินบี
วิตามินบีรวม บี1 บี2 และบี6 เป็นวิตามินที่บำรุงระบบประสาท ส่งผลต่อการทำงานของสมองและหัวใจ การต่อสู้กับความเครียด ส่งเสริมการเจริญเติบโต ช่วยเผาผลาญไขมัน ช่วยสมานแผล และป้องกันโรคตาได้ หากได้รับวิตามินบี2ไม่พอ ตาจะอักเสบ แดง และระคายเคืองได้ง่าย
วิตามินบีพบมากในข้าวกล้องและธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี ขนมปังโฮลวีต ถั่วเหลือง ถั่วลิสง วอลนัต รำข้าว นม ไข่แดง ปลา ตับ ชีส โยเกิร์ต ฯลฯ
วิตามินซี
เป็นสารต้านอนุมูลอิสระสุดทรงพลัง สามารถป้องกันไม่ให้เลนส์ตาขุ่น ช่วยให้เลนส์ตาใส ป้องกันต้อกระจก วิตามินซีจะทำงานได้ประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อทำงานกับไบโอฟลาโวนอยด์ (ฺBioflavonoid) สารที่เพิ่มความแข็งแรงของเส้นเลือดฝอยและควบคุมการดูดซึมของสารต่างๆ ในร่างกาย เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม
วิตามินซีพบมากในส้ม มะนาว มะขามป้อม ฝรั่ง บรอกโคลี พริกหยวกสีแดงกับเขียว สตรอว์เบอร์รี่ แคนตาลูป องุ่น ลูกพลัม และจากโรสฮิปหรือผลกุหลาบ
วิตามินอี
วิตามินอีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของวิตามินเอ โดยเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นเยี่ยม ช่วยป้องกันการเกิดออกซิเดชันของสารในกลุ่มไขมันชนิดไม่ดี รวมทั้งช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวกับการอักเสบเรื่อรัง ชะลอการเสื่อมของเซลล์ และลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจก
วิตามินอีพบมากในจมูกข้าว ผักใบเขียว ไข่ วอลนัต เมล็ดทานตะวัน ซีเรียลชนิดโฮลเกรน (ธัญพืชยังมีส่วนประกอบครบถ้วน ทั้งเยื่อหุ้มเมล็ด เนื้อเมล็ด และจมูดข้าว)
แอนโทไซยานิน
ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เช่น บิลเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ ราสป์เบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ โกจิเบอร์รี่ แบล็กเบอร์รี่ นับว่าอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินต่างๆ เช่น เอ บี ซี อี เค แร่ธาตู เช่น โพแทสเซียม โดยเฉพาะแอนโทไซยานิน ซึ่งพบในพืชและผลไม้ที่ให้สีแดง น้ำเงิน หรือม่วง โดยเฉพาะ ตระกูลเบอร์รี่
แอนโทไซยานินทำหน้าที่จับกับเซลล์บุผิวที่จอภาพเรติน่าได้ดี ช่วยลดความเสื่อมของเซลล์และคืนสภาพสารโรดอปซิน (หรือสารสีม่วงแดงที่อยู่ในเยื่อหุ้มเซลล์รูปแท่ง) ออกมาหลังจากถูกแสง จึงช่วยทำให้มองเห็นในที่มืดได้ดี ช่วยลดอาการเมื่อยล้าของดวงตาเมื่อใช้สายตานานๆ ลดการเสื่อมที่มักจะเกิดขึ้นกับดวงตา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน ต้อเนื้อ ตาเสื่อมในคนสูงอายุ
—————————————————-
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
บำรุงสายตาด้วยอาหารฉบับแพทย์จีน
10 สารอาหารที่เป็นประโยชน์ เพื่อ ดวงตา คู่สวยใสปิ๊ง
วิธีใช้สมุนไพร+แผนปัจจุบัน เพื่อ สมองและดวงตา