กินอาหารเป็นยา เครื่องยาจีน อาหารจีน สมุนไพรจีน แพทย์แผนจีน แพทย์จีน ยาจีน

กินอาหารเป็นยา ตามตำราชาวจีน

กินอาหารได้ยาบำรุงร่างกายได้อย่างไร  

ตามประวัติอันยาวนานกว่า 3,000 ปีของอาหารเพื่อสุขภาพนั้น ชาวจีนเชื่อว่า ยารักษาโรคและอาหารมีที่มาจากแหล่งเดียว ไม่มีเส้นแบ่งขอบเขตที่แน่นอนระหว่างยากับอาหารŽ จากหนังสือ อาหารเครื่องยาจีน ของสำนักพิมพ์รีดเดอร์สไดเจสท์ กล่าวถึงคำพูดของนายแพทย์ซุนซือเหมี่ยวว่า

อาหารสามารถขจัดปัจจัยภายนอก ช่วยปรับสภาพอวัยวะภายใน ทำให้จิตใจสงบ มีอารมณ์ดี และช่วยบำรุงพลังเลือด ผู้ที่สามารถใช้อาหารบำบัดโรคและบรรเทาอาการต่างๆ ถือว่าเป็นผู้มีความรู้อันประเสริฐ ดังนั้นในฐานะที่เป็นแพทย์จึงต้องเข้าใจสมุฏฐานของโรค แล้วรักษาด้วยอาหาร ถ้าไม่ได้ผลจึงรักษาด้วยยา

การใช้อาหารบำบัดโรคหมายถึง การอาศัยสารอาหารชนิดพิเศษที่มีอยู่ในอาหารมาประกอบกับวิธีการปรุงที่เหมาะสมเพื่อบำบัดโรค ซึ่งมีหลักการหลายประการ เช่น ทฤษฎีหยิน – หยาง

คุณมานพ เลิศสุทธิรักษ์ นายกสมาคมแพทย์แผนจีนในประเทศไทยเป็นผู้อธิบายให้เราฟังดังนี้ค่ะ 

ร่างกายมนุษย์จำเป็นต้องดำรงหยิน – หยางให้คงไว้ในสภาวะสมดุล ร่างกายประกอบด้วยเนื้อเยื่อ โครงกระดูก เส้นผมเล็บ ซึ่งเป็นหยิน ส่วนหยางคือพลังงานของชีวิต ภายใต้สภาพปกติหยิน – หยางจะมีสภาวะสมดุลในลักษณะที่ตรงกันข้าม ก่อให้เกิดการไหลเวียนของพลังในร่างกายไปทั่วทุกจุด ถ้าปริมาณหรือลักษณะของตัวใดตัวหนึ่งเหลื่อมล้ำเกินไป ร่างกายจะผิดปกติ

เช่นเมื่อใดที่หยางในร่างกายน้อย ทำให้การหมุนเวียนเลือดไม่ดี หน้าซีด ตัวเย็น แต่ถ้าหยางมากเกินไปจะทำให้ร้อนในผิวพรรณแห้ง อวัยวะภายในเป็นพังผืด หยิน – หยางไม่สมดุลจุดไหน อวัยวะนั้นจะเกิดการอุดตันและเกิดโรคต่างๆ ตามมา

เมื่อพิจารณาจากอาการของโรคแล้ว เราสามารถจำแนกลักษณะโรคหยินและหยางได้ดังนี้

โรคหยาง เป็นโรคชนิดเฉียบพลัน มีลักษณะเดินหน้าและเพิ่มขึ้น มักปรากฏเป็นอาการไข้สูง จิตใจกระสับกระส่าย กระหายน้ำ ชอบกินของเย็น ท้องผูก ขัดเบา เป็นต้น

โรคหยิน เป็นโรคชนิดเรื้อรัง มีลักษณะถอยหลังและลดลง มักปรากฏเป็นอาการเย็นง่าย หนาวง่าย เซื่องซึม ไม่มีเรี่ยวแรง กินอาหารน้อยลง ท้องเดิน อุจจาระเหลว มือเท้าเย็น เป็นต้นอาจารย์มานพยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า

สำหรับอาหารและเครื่องยาจีนแต่ละชนิดมีฤทธิ์เป็นหยินหยางอยู่แล้ว การกินให้ถูกหลักจึงสามารถช่วยปรับสมดุลของร่างกายได้

นอกจากนี้แพทย์แผนโบราณยังมีความรู้เรื่องอาหารว่ามีสรรพคุณและบำรุงร่างกายได้โดยการแบ่งย่อย ประกอบด้วยธาตุทั้งสามและรสทั้งห้า รวมถึงปฏิกิริยาขึ้น ลง ลอย จมของร่างกาย

 

กินอาหารเป็นยา เครื่องยาจีน อาหารจีน สมุนไพรจีน แพทย์แผนจีน แพทย์จีน ยาจีน

 

การจำแนกตามธาตุอาหาร

แพทย์จีนจำแนกธาตุอาหารหลากหลาย มีสรรพคุณแตกต่างกันดังนี้

อาหารที่มีธาตุเย็นและเย็นจัด : ช่วยขับร้อน ถอนพิษ เช่น ข้าวเดือย แห้ว บวบ มะระ

อาหารที่มีธาตุร้อนและอุ่น : ช่วยขจัดเย็น บำรุงส่วนที่พร่องของร่างกาย เช่น ขิงสด น้ำตาล ผักชี

อาหารที่มีธาตุเป็นกลาง : ช่วยบำรุงม้าม ทำให้เจริญอาหาร เช่น ข้าวเหนียว ถั่วเหลือง น้ำมันงา

และแบ่งแยกเป็นรสทั้งห้า มีสรรพคุณแตกต่างกันและมีการแยกเป็นหยิน – หยาง

รสทั้งห้าของอาหาร

รสเผ็ด

เป็นอาหารจำพวกหยาง ช่วยระบาย ช่วยให้พลังเดิน ทำให้โลหิตไหลเวียน แก้ไข้ ปวดกระเพาะ ปวดรอบเดือนอาหารรสนี้ได้แก่ ขิง กระเทียม ฮวยเจีย กุ้ยพวย กานพลู

รสหวาน

(รวมรสจืด) เป็นอาหารจำพวกหยาง ช่วยปรับโจงชี่ให้สมดุล มักใช้บำบัดม้ามและกระเพาะอ่อนแอ อาหารไม่ย่อย สตรีร่างกายอ่อนแอหลังคลอด ปวดตามกระดูกและเอว อาหารรสหวานได้แก่ พุทราจีน ลำไย

รสเปรี้ยว

(รวมรสฝาด) เป็นอาหารจำพวกหยิน ช่วยหยุดการหลั่งของเหลวและเพิ่มน้ำในร่างกาย มักใช้บำบัดอาการเหงื่อออกผิดปกติขณะหลับ ปัสสาวะบ่อย ม้ามพร่อง สตรีตกขาว ร้อนใน อาหารรสเปรี้ยวได้แก่ ลูกเคียมซิก เม็ดบัว ลูกบ๊วย

รสขม

เป็นอาหารจำพวกหยิน ช่วยขับร้อน สลายชื้น ปรับสภาวะพลังย้อนกลับ มักใช้บำบัดอาการหวัดแดด เป็นไข้ ตามัว ดีซ่าน อาหารรสขมได้แก่ เก๋ากี้ ผักขม มะระ

รสเค็ม

เป็นอาหารจำพวกหยิน ช่วยระบายและขับของเหลวในร่างกาย บำรุงไตและเลือด มักใช้บำบัดอาการท้องผูก ฝี ตัวบวม ไตพร่อง ขาดเลือด อาหารรสเค็มนี้ได้แก่ สาหร่าย ปลิงทะเล

เหล่านี้คือความรู้ตามหลักโภชนาการของชาวจีน ซึ่งสามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ค่ะ

 

ข้อมูลจาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 182


บความน่าสนใจอื่นๆ

สมุนไพรใกล้ตัว จากตำราการแพทย์แผนจีน

เรื่องน่ารู้ แพทย์แผนจีน

มหัศจรรย์กิน สุขภาพแข็งแรง ด้วยแพทย์แผนจีน

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.