8 สมุนไพรใกล้ตัว จากตำราการ แพทย์แผนจีน
ศาสตร์การ แพทย์แผนจีน มีประวัติยาวนานกว่า 3,000 ปี โดยมีความโดดเด่นเรื่อง โภชนบำบัด หรือการใช้อาหารเป็นยา มีคำเรียกพืชที่มีคุณสมบัติทางยาว่า เปิ่นเฉ่า และ มีการจดบันทึกคุณสมบัติต่างๆ ของพืชที่ส่งผลต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ปรากฏเป็นทังเย่ลุน หรือตำรับอาหารเพื่อรักษาโรคในยุคราชวงศ์ชาง ช่วง 1,700 – 1,100 ปีก่อนคริสตกาล โดยขุนนาง ในราชสำนักผู้มีความรู้ความชำนาญการปรุงอาหารเป็นยามีชื่อว่า ยี่ยิน
หัวใจของศาสตร์การแพทย์แผนจีน คือ จงทำให้ทุกมื้ออาหารช่วยปรับสมดุลร่างกาย ให้ทำงานได้ตามปกติ โดยพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างสภาพร่างกายของผู้กินกับฤดูกาล ณ ขณะนั้นประกอบกัน
“ถ้าจะรักษาโรคให้ใช้อาหารก่อน หากยังไม่หายจึงค่อยใช้ยารักษา” ซุนซือเหมียว ครูแพทย์ชาวจีนในยุคราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581 – 618) ผู้เขียน ตำราโภชนบำบัดชื่อ เซียนจินเอี่ยวฝาง
1. หัวไช้เท้า
ไช้เท้าเป็นพืชหัวในตระกูล Cruciferae จัดอยู่ในวงศ์ผักกาด มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ภาสกิจ วัณณาวิบูล แพทย์ แผนปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์การแพทย์แผนจีนอธิบายไว้ในหนังสือ หายป่วย สุขภาพดี ด้วยอาหารและสมุนไพรจีน ว่า หัวไช้เท้ามีฤทธิ์ เย็น มีรสเผ็ด หวาน สรรพคุณช่วยขับพิษ บรรเทาอาการท้องร่วง ท้องเสีย โรคบิด ขับปัสสาวะ กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว แก้ไอ ขับเสมหะ ลดน้ำตาลในเลือด บรรเทาอาการเลือดกำเดาไหล แก้อาเจียน
ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า หัวไช้เท้ามีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และมีวิตามินบี 1 บี 12 ไนอะซิน วิตามินซีสูง อีกทั้ง ในน้ำคั้นหัวไช้เท้าสดยังมีเอนไซม์ช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และ ไขมัน จึงมีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องผูกได้
อีกหนึ่งคุณประโยชน์ที่คนรักสวยรักงามคงเคยได้ยิน คือ สามารถนำ น้ำคั้นหัวไช้เท้ามาทาเพื่อลบจุดด่างดำและฝ้าบนใบหน้าได้ ประเด็นดังกล่าว ชีวจิต ได้ค้นคว้าและตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่ามีความเป็นไปได้ ดังที่ ข้อมูลจากสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล อธิบายว่า ในน้ำคั้นสดของหัวไช้เท้ามีสารสกัดเอทานอลและ สารสกัดเอทิลอะซิเทตช่วยยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ซึ่ง ทำหน้าที่สร้างเม็ดสีได้ ดังนั้นจึงช่วยลบเลือนจุดด่างดำได้ แต่ต้องอาศัย ระยะเวลาพอสมควร
อย่างไรก็ตาม ชีวจิต ขอแนะนำว่า หากต้องการให้ได้ประสิทธิภาพ ดีที่สุดต้องคั้นสดแล้วทาทันที หรือควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำหรือเก็บไว้ ในตู้เย็น และไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1 สัปดาห์
ส่วนคุณประโยชน์อื่นๆ ที่น่าสนใจของหัวไช้เท้านั้น นายแพทย์ ภาสกิจได้แนะนำเป็นสูตรง่ายๆ ดังนี้
สูตรน้ำคั้นหัวไช้เท้า – ขิง สรรพคุณบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ เป็นยาระบายอ่อนๆ
วิธีทำ
ใช้หัวไช้เท้า 500 กรัม ขิงสด 15 กรัมหรือประมาณ 1 ข้อนิ้วมือ นำมาสับให้ละเอียด เติมน้ำเปล่า 1 – 2 ช้อนโต๊ะ กรองเอาแต่น้ำ ดื่ม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร หรือจิบขณะที่มีอาการ
สูตรชาหัวไช้เท้า – น้ำผึ้ง สรรพคุณแก้อาการไอเรื้อรังเนื่องจาก โรคหลอดลมอักเสบ
วิธีทำ
ใช้หัวไช้เท้า 250 กรัม สับละเอียด เติมน้ำเปล่า 1 ช้อนโต๊ะ ผสมให้เข้ากัน กรองเอาแต่น้ำ จากนั้นเติมน้ำอีก 1 แก้ว (250 มิลลิกรัม) นำไปต้มด้วยไฟอ่อน 3 นาที พักให้อุ่น ปรุงรสด้วยน้ำผึ้ง 1-2 ช้อนชา คนให้เข้ากัน จิบขณะที่ยังอุ่น วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น อย่างต่อเนื่อง จนกว่าอาการจะทุเลาลง