หัวใจวายเฉียบพลัน

หัวใจวายเฉียบพลัน รู้เท่าทันก่อนชีพวาย 

หัวใจวายเฉียบพลัน ใกล้ตัวทุกคนกว่าที่คิด

หัวใจวายเฉียบพลัน ภาวะที่ก่อให้เกิดการสูญเสียในแบบที่เราแทบจะไม่รู้ตัวมาก่อนล่วงหน้า และยังเป็นโรคที่เกิดได้ไม่เลือกไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน เพราะมีรายงานมาแล้วว่าในปัจจุบันนี้ แม้อยู่ในวัยต่ำกว่า 20 ปี ก็เกิดภาวะนี้ขึ้นได้แล้วเช่นเดียวกัน แล้วเราจะรับมือกันอย่างไร แอดมีคำตอบมาฝากกันค่ะ

หัวใจวายเฉียบพลัน อันตรายเสี้ยววินาที

รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุพจน์ ศรีมหาโชตะ แพทย์อายุรศาสตร์โรคหัวใจ  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายว่า “ในอดีต ภาวะ หัวใจวายเฉียบพลัน มักเกิดกับผู้ที่มีอายุ 50-60 ปี  แต่ในปัจจุบันไลฟ์สไตล์แบบคนเมืองคือ  กินอาหารไม่ถูก นอนดึก  พักผ่อนน้อย  ไม่ออกกําลังกาย ก็ทําให้เกิดภาวะนี้ในวัย 30 ปีได้ อายุน้อยที่สุดที่เคยพบคือ 20 ปี”

สาเหตุการเกิดภาวะ หัวใจวายเฉียบพลัน

ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน 

หมายถึง  ภาวะที่เส้นเลือดหัวใจเกิดการอุดตันเฉียบพลัน โดยมากกว่าร้อยละ 90 ของภาวะดังกล่าวเกิดจากผนังหลอดเลือดตีบ

ในคนทั่วไปอาจมีการตีบของผนังหลอดเลือดขณะที่ออกแรง แต่ในกลุ่มของผู้ป่วยหัวใจวายเฉียบพลันมักตีบ เพราะมีการอุดตันของก้อนไขมันหรือตะกรัน แรกเริ่มผนังหลอดเลือดอาจตีบเพียงร้อยละ 30-40 แต่เมื่อก้อนไขมันที่เกาะภายในผนังหลอดเลือดแตก จะกระตุ้นให้เกล็ดเลือดมาเกาะที่แผลอย่างรวดเร็ว คล้ายเวลาเราเป็นแผลแล้วมีเกล็ดเลือดมาสมาน แต่การสมานแผลนี้เป็นไปในทางที่ไม่ดี เนื่องจากไปขวางทางเดินของเลือด จึงเกิดการอุดตันภายในหลอดเลือดเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

การที่ก้อนไขมันภายในหลอดเลือดแตกและเกิดการอุดตัน นับเป็นเรื่องน่ากังวลไม่ใช่น้อย เมื่อเส้นเลือดเกิดอุดตันเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจ ส่วนนั้นๆ จะไม่มีเลือดเข้าไปเลี้ยง หัวใจจึงขาดเลือด ส่งผลให้เกิดปัญหา 2 ประการ 

  • การบีบตัวของหัวใจลดลง ทําให้คนไข้ช็อก หรือมีภาวะน้ำท่วมปอดได้
  • หัวใจจะเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง

และนี่เป็นสาเหตุของภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ทําให้เสียชีวิตได้ แม้แต่นักกีฬาที่เห็นอยู่ว่าแข็งแรงดี  ก็สามารถเสียชีวิตด้วยภาวะนี้ได้ อย่างที่เราได้เห็นข่าวกันบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาสมัครเล่น ผู้ชื่นชอบการออกกำลังกาย หรือแม้แต่นักกีฬาอาชีพ ก็เกิดการเสียชีวิตในสนามมาแล้ว

ตีบน้อยอันตรายมาก ตีบมากอันตรายน้อย

จะเห็นได้ว่าภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน นั้น เกี่ยวข้องกับการตีบของผนังหลอดเลือด  แต่ที่น่าแปลกใจคือ ปริมาณการตีบที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่สัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดโรคเลย

คุณหมอสุพจน์ อธิบายว่า ภาวะนี้มักเกิดกับผู้ป่วยที่ผนังหลอดเลือดตีบไม่มาก  จึงทําให้ไม่สามารถสังเกตอาการผิดปกติได้ง่ายนัก  เนื่องจากหากคนไข้มีการตีบของผนังหลอดเลือดเพียงร้อยละ 30-40 จะไม่สามารถ ตรวจพบอาการได้เลย  หรือแม้แต่เกิดการตีบถึงร้อยละ70-80ก็อาจมีอาการแสดงให้เห็นบ้าง  และสามารถตรวจพบได้จากการเดินสายพาน

นอกจากนี้ แม้ผู้ป่วยจะมีผนังหลอดเลือดตีบถึงร้อยละ 90 ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ เพราะอาจเป็นชนิดเรื้อรัง คือ มีการดําเนินโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป  แต่อาการไม่รุนแรง และสามารถดูแล และป้องกันได้

โดยปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงภาวะหัวใจวายเฉียบพลันนั้นมีอะไรบ้าง สิ่งที่ทําให้เกิดภาวะดังกล่าวขึ้นง่ายคือ การมีปัจจัยเสี่ยง เช่น  เป็นโรคเบาหวาน  ความดันโลหิตสูง  มีไขมันในเลือดสูงความเครียด  โดยเฉพาะการสูบบุหรี่จัด เนื่องจากสารพิษในบุหรี่ จะทําให้สารบางชนิดในร่างกายที่ทําหน้าที่ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันสูญสลายไป

หัวใจวายเฉียบพลัน หัวใจวาย หัวใจ โรคหัวใจ

รู้ให้ทันกับหัวใจวาย

แม้ว่าจะไม่สามารถสังเกตอาการภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ง่ายดายนัก  แต่อย่างน้อยภาวะนี้ ก็มีสัญญาณเตือนแบบฉับพลันทันด่วนให้คนใกล้ตัวต้องรีบนําผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

อาจารย์สาทิส อินทรกําแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต ให้ข้อมูลไว้ว่า

หาหมอให้เร็วที่สุด หากมีอาการเหล่านี้

  1. ปวดบริเวณหน้าอก การปวดแบบนี้จะมีอาการเหมือนกับมีก้อนหินหนักๆ อยู่ในอก และจะมีอาการบีบคั้นภายในอกอย่างรุนแรง
  2. เหงื่อแตก มักจะเป็นเหงื่อแบบเหนียวๆ
  3. การปวดหน้าอกจะลามไปถึงกราม คอ และแขนข้างซ้าย และก็อาจจะลามไปถึงสะบักด้านหลังและท้องได้ด้วย
  4. หายใจไม่ออก คลื่นไส้อาเจียน  

การรักษาจะได้ผลดีแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าคนไข้มาถึงมือหมอเร็วแค่ไหน เพราะการมาถึงโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วจะทําให้เราป้องกันการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายได้มากที่สุด ถ้ามาช้าผู้ป่วยอาจ เสียชีวิต  หรือถ้าไม่เสียชีวิตเขาก็อาจกลายเป็นผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจวายเรื้อรัง  ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันมากกว่าคนปกติ

หัวใจวายเฉียบพลัน หัวใจวาย หัวใจ โรคหัวใจ

หยุดสาเหตุหัวใจวายเฉียบพลัน 

เราจะป้องกันภาวะนี้ได้อย่างไร เมื่อสังเกตอาการได้ลําบาก การป้องกันจึงเป็นหนทางดีที่สุด  เช่น  การออกกําลังกายพอเหมาะ เพราะจะช่วยให้ผนังหลอดเลือดมีความยืดหยุ่นดีขึ้น  แต่ขณะเดียวกันการออกกําลังกายที่หักโหมเกินไป ก็อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการแตกของก้อนไขมันได้เช่นกัน  ดังนั้นจึงต้องออกกําลังกายอย่างสมดุล

นอกจากนี้ สิ่งที่ไม่ควรทําเลยคือ การสูบบุหรี่ ในกรณีที่ผู้ป่วยยังอายุน้อย ปัจจัยสําคัญที่ทําให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน มักเกิดจากการสูบบุหรี่ ดังนั้นจึงไม่ควรสูบบุหรี่ หรือถ้าสูบอยู่ก็ควรจะเลิกเสีย

นายแพทย์แอนดรู ไวล์ แนะนําวิธีกินเพื่อป้องกันและเยียวยาผู้ป่วย โรคหัวใจไว้ว่า

  • ลดการกินอาหารที่ทําจากสัตว์และไขมันอิ่มตัวให้น้อยลง
  • กินผักและผลไม้สดให้มากๆ  เพื่อให้ร่างกายได้รับ  สารแอนติออกซิแดนต์
  • กินธัญพืชเต็มเมล็ด  ถั่วเปลือกแข็งให้มากขึ้น  เพื่อ ให้ร่างกายได้รับใยอาหาร
  • กินกระเทียมและเห็ดหอมเป็นประจํา  

หากเราสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงโดยการหันมาดูแล สุขภาพอย่างเต็มที่แล้ว เชื่อว่าเราคงไม่ตกเป็นเหยื่อของภาวะหัวใจวายเฉียบพลันแน่นอน

ข้อมูลจาก คอลัมน์อยู่เป็นลืมป่วย นิตยสารชีวจิต ฉบับ 402


บทความอื่นที่น่าสนใจ

เปิดเทคนิค การฝึกหายใจ ช่วยให้ผ่อนคลาย คลายเครียด และคลายกังวล

ขี้โมโห ก่อ 7 โรคอันตรายถึงชีวิต!

4 เทคนิค ออกกำลังกายสำหรับคนเป็น โรคหัวใจ

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.