อาการ ปวดข้อ เป็นอีกหนึ่งอาการยอดฮิตของใครหลายคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อวัยวะเริ่มมีความเสื่อมไปตามวัย เริ่มตั้งแต่อาการปวดเล็กน้อยไปจนถึงอาการปวดรุนแรงทนไม่ได้ สำหรับ อาการปวดข้อ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและพยาธิสภาพที่เกิดขึ้น
โดยเราได้รวบรวมวิธีบำบัดแบบธรรมชาติ ที่ช่วยแก้อาการ ปวดข้อ ยอดฮิต มาแนะนำดังนี้
วิธีที่ 1 ยาพอกแก้อาการปวดข้อเข่า
สำหรับอาการปวดข้อเข่านั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การปวดข้อเข่าจากความเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน) โรคเกาต์ (เกิดจากการมีกรดยูริก
ในเลือดสูง และมีการตกผลึกของกรดยูริก) ในทางการแพทย์แผนไทยแบ่งอาการปวดข้อเข่าออกเป็น 2 ประเภท คือ จับโปงแห้งและจับโปงน้ำ ซึ่งทั้งสองอาการมีความแตกต่างกันไป
ตามพยาธิสภาพ
จับโปงน้ำ คือข้อเข่ามีอาการปวด บวม แดงร้อน ส่วนจับโปงแห้ง คือมีอาการปวด แต่ไม่มี
อาการบวม แดง ร้อน มีเสียงในข้อเข่าเวลาเดินซึ่งการดูแลและรักษามีความแตกต่างกัน
NATURAL PAINKILLER
แนะนำว่า ผู้ที่มีอาการปวดข้อเข่าควรใช้ยาพอกเข่าในการรักษา เพื่อช่วยลดอาการปวด
ช่วยนำสารอาหารมาเลี้ยงข้อเข่ามากขึ้น และช่วยดูดพิษร้อน ซึ่งมีวิธีทำดังนี้
สูตรยาร้อน (สำหรับข้อเข่าที่มีอาการปวด แต่ไม่มีอาการบวม แดง ร้อน) ประกอบด้วยขิง
น้ำตาล ไพล ปริมาณเท่า ๆ กัน และพริก 2 – 3 เม็ด
สูตรยาเย็น (สำหรับข้อเข่าที่มีอาการปวด บวมแดง ร้อน) ประกอบด้วยดินสอพอง ยาเขียว
ใบย่านาง ตำลึง ปริมาณเท่า ๆ กัน
วิธีทำ ตำสมุนไพรทั้งหมดเข้าด้วยกันพอหยาบ แล้วนำมาพอกเข่าที่มีอาการปวด พันด้วยผ้า
พันแผล ทิ้งไว้ 15 – 20 นาที แล้วล้างออก
วิธีที่ 2 ปูไต่แก้อาการปวดข้อไหล่ติด
แพทย์หญิงชยาภรณ์ โชติญาณวงษ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า ไหล่ติดเป็นภาวะที่หัวไหล่ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้สุดพิสัย ตามองศาการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะขยับเองหรือให้ผู้อื่นช่วยขยับ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดไหล่
โดยสาเหตุการเกิดนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่า เกิดจากการอักเสบ
ของเยื่อหุ้มข้อและมีการหนาตัวของเยื่อหุ้มข้อจนเป็นพังผืดตามมา ทำให้เคลื่อนไหวข้อ
ได้น้อยลงนั่นเอง
NATURAL PAINKILLER
สำหรับท่าบริหารข้อไหล่เมื่อมีอาการไหล่ติด ขอแนะนำท่าปูไต่ เหมาะสำหรับคนที่
ใช้แขนข้างเดียวเป็นประจำ เช่น ครู อาจารย์ที่ต้องเขียนกระดาน ช่างตัดผม – ดรายผม
ฯลฯ โดยมีวิธีดังต่อไปนี้
- ยืนหันหน้าเข้าผนังหรือหันด้านข้างเข้าผนัง โดยยืนห่างจากผนังประมาณ 1 ฟุต
- วางมือที่ผนัง แล้วใช้นิ้วไต่ผนังขึ้นไปเรื่อย ๆ ให้สูงที่สุดเท่าที่จะทนปวดได้ แล้วทำ
เครื่องหมายไว้ วันต่อมาก็พยายามทำให้สูงกว่าเดิม อย่าเขย่งหรือเอี้ยวตัว - ทำซ้ำช้า ๆ อย่างน้อยวันละ 10 – 15 ครั้ง
ในกรณีที่อาการปวดไหล่ไม่รุนแรงให้ประคบด้วยความร้อน โดยใช้ถุงนํ้าร้อน ผ้าชุบ
นํ้าอุ่น หรือลูกประคบสมุนไพร และเริ่มบริหารข้อไหล่ได้ตามปกติ หรือทำเป็นประจำ
ก็ช่วยป้องกันข้อไหล่ติดได้เช่นกัน
วิธีที่ 3 ฤาษีดัดตนป้องกันอาการปวดข้อมือ
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศุภชัย รัตนมณีฉัตร ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า อาการปวดข้อมือที่พบได้บ่อยคือกลุ่มของ Carpal Tunnel Syndrome ทำให้เกิดอาการกระดูกข้อมือเจ็บปวด ข้อกระดูกนิ้วมือเสื่อมและชา ซึ่งเกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ เช่น การกดแป้นพิมพ์ และการใช้เมาส์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน การจับเมาส์โดยมีข้อมือเป็นจุดหมุน อาจเกิดพังผืดบริเวณข้อมือ หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการชาจนไม่สามารถหยิบของได้ รวมไปถึงบุคคลที่มีอาชีพขายส้มตำ ช่างตัดผม ด้วยเช่นกัน
NATURAL PAINKILLER
ขอแนะนำท่าฤาษีดัดตน ท่าอวดแหวนเพชร ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดโรคนิ้วล็อก บริหารส่วนแขน ข้อมือ นิ้วมือ ทำให้เลือดลมไหลเวียนได้ดีขึ้นมีวิธีฝึกดังนี้
- ท่าเตรียม นั่งชันเข่า
- ท่าปฏิบัติ เหยียดแขนทั้งสองข้างให้ตรง และหงายฝ่ามือซ้ายขึ้น แล้วใช้มือขวาดัดที่บริเวณฝ่ามือซ้าย กางมือซ้ายออกแล้วค่อย ๆ พับนิ้วทั้ง 5 ลงทีละนิ้วจนครบ สลัดข้อมือขึ้น – ลงขณะที่กำลังกำมืออยู่ ทำ 5 – 10 ครั้งแล้วสลับข้าง
วิธีที่ 4 กระต่ายขาเดียว
ป้องกันข้อเท้าแพลงซ้ำ อาการปวดข้อเท้าที่พบได้บ่อยคือ อาการข้อเท้าแพลง เกิดจากการพลิกของข้อเท้าทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ ปวด และมีอาการบวม พบได้บ่อยในนักกีฬาหรือคนที่ใช้ข้อเท้าเยอะ ๆ การเดินบนพื้นที่ไม่เรียบ การกระโดด หรือแม้กระทั่งการสวมรองเท้าส้นสูงก็เพิ่มความเสี่ยงเกิดข้อเท้าแพลงได้ โดยเฉพาะคนที่เคยมีอาการเท้าพลิกมาก่อนยิ่งต้องระวัง และต้องทำให้ข้อเท้าแข็งแรง เพื่อป้องกันการเกิดข้อพลิกซ้ำ
นักกายภาพบำบัด วรท เอกพินิจพิทยา คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้มีโอกาสเท้าพลิกซ้ำ เพราะข้อเท้ามีเยื่อหุ้มข้อต่อและเอ็นอยู่รอบ ๆ ซึ่งมีหน้าที่สร้างความมั่นคงให้กับข้อต่อ นอกจากนี้ยังมีตัวรับความรู้สึก (Receptor) ของข้อต่อที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทรับความรู้สึก ดังนั้นคนที่เคยเท้าพลิกและเกิดการบาดเจ็บมาก่อนจะทำให้เยื่อหุ้มข้อและเอ็นเสียหาย และเกิดความบกพร่องของการรับรู้ความรู้สึกของข้อต่อ ปฏิกิริยาการตอบสนองอัตโนมัติมีความล่าช้าลง จึงเพิ่มโอกาสการบาดเจ็บซ้ำได้ง่ายขึ้น และหากบาดเจ็บซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จะทำให้ข้อเท้าหลวมได้
NATURAL PAINKILLER
ข้อมูลจากวารสาร Medicine & Science in Sports & Exercise แนะนำวิธีฝึกการทรงตัวเพื่อกระตุ้นการรับรู้ความรู้สึกของข้อต่อแบบง่าย ๆ ที่สามารถป้องกันและลดการบาดเจ็บ จากข้อเท้าแพลงซ้ำซ้อน โดยเรียงลำดับตามความง่ายไปยาก ดังต่อไปนี้
- ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นแข็ง กางแขนสองข้าง ลืมตา
- ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นแข็ง กอดอก ลืมตา
- ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นนุ่ม กางแขนสองข้าง ลืมตา
- ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นนุ่ม กอดอก ลืมตา
- ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นแข็ง กางแขนสองข้าง หลับตา
- ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นแข็ง กอดอก หลับตา
- ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นนุ่ม กางแขนสองข้าง หลับตา
- ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นนุ่ม กอดอก หลับตา
วิธีฝึก ควรอยู่ใกล้กำแพงเพื่อให้สามารถยึดจับกำแพงได้ และสามารถลืมตาได้ในขณะที่รู้สึกไม่มั่นคง ในการฝึกแต่ละครั้ง ให้ทำท่าละ 30 วินาที จำนวน 3 รอบ โดยมีช่วงพักในแต่ละรอบนาน 30 วินาที
วิธีที่ 5 หลีกเลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนสูง
โรคเกาต์ เป็นโรคหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากการกินอาหาร ซึ่งวิธีการป้องกันและรักษาอาการปวดข้อจากโรคเกาต์ได้ดีที่สุดคือ การเลี่ยงอาหารที่มีสารพิวรีนสูงเพราะจะทำให้เกิดการอักเสบของข้อได้
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปารยะ อาศนะเสน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ระดับกรดยูริกในเลือดสูงเกิดจากร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากกว่าปกติ หรือกินอาหารที่มีสารพิวรีนสูง ซึ่งสารนี้จะเปลี่ยนไปเป็นกรดยูริกในเลือด ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูง ผิดปกติจนกลายเป็นโรคเกาต์และมีอาการปวดข้อได้
NATURAL PAINKILLER
ดังนั้น คนที่มีกรดยูริกในเลือดสูงผิดปกติควรงดอาหารที่มีสารพิวรีนสูง ซึ่งมีดังนี้อาหารต้องห้าม…มีพิวรีนสูง
- ถั่วและเมล็ดต่าง ๆ เช่น ถั่วพู ถั่วงอก ถั่วแขก ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว ถั่วลิสง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว และถั่วเหลือง
- ผักต่าง ๆ เช่น ผักคะน้า ผักบุ้งจีน ผักบุ้งไทย ต้นกระเทียม หน่อไม้ ดอกกะหล่ำ ตำลึง สะตอ กระถิน ใบขี้เหล็ก ชะอม
- เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น หมู วัว ไก่ ปลาดุก ไต กึ๋น ตับ และเครื่องในอาหารแนะนำ…มีพิวรีนต่ำ
- ข้าวชนิดต่าง ๆ ยกเว้นข้าวโอ๊ต
- ผักต่าง ๆ เช่น ถั่วงอก คะน้า
- ผลไม้ชนิดต่าง ๆ
- ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น ไข่ นมสด เนย ขนมปัง ไขมันจากพืช และสัตว์
อย่าลืมว่า เราสามารถหยุดอาการปวดได้ด้วยตัวเอง หากรู้จักวิธีป้องกันและปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง เพราะว่าไม่มีหมอคนไหนจะดีเท่ากับการที่เราเป็นหมอรักษาตนเอง
เรื่อง พท.ป.ชารีฟ หลีอรัญ ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ
ชีวจิต 454 – FREE 84 TIPS FOR NEW AGING
นิตยาสารรายปักษ์ ปีที่ 20 : 1 กันยายน 2560
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –