ล้างมือ ยิ่งทำบ่อย ยิ่งตัดหนทางแพร่กระจาย ช่วยหยุดยั้งเชื้อโรค
การล้างมือ นับเป็นหนึ่งในมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่มีประสิทธิภาพ ประหยัด และมีความสำคัญมาก เนื่องจากพบว่ามีโรคต่างๆ มากมายที่แพร่กระจายได้
โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค ฯลฯ ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อเข้าไป และติดต่อจากการสัมผัสสิ่งของ สิ่งคัดหลั่ง(น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ) ของผู้ป่วย
โรคติดต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง อหิวาตกโรค ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ พยาธิชนิดต่างๆฯลฯ ติดต่อโดยมือปนเปื้อนเชื้อแล้วหยิบอาหารใส่ปาก
โรคติดต่อจากการสัมผัสโดยตรง เช่น โรคตาแดง เชื้อรา หิด ฯลฯ ติดต่อโดยมือไปสัมผัสแผล สารคัดหลั่งแล้วมาสัมผัสกับส่วนต่างๆของร่างกาย
เมื่อไรที่เราควรล้างมือ
- ก่อน, ขณะ, และหลังเตรียมอาหาร
- ก่อนรับประทานอาหาร
- ก่อน และหลังการดูแลผู้ป่วย
- ก่อน และหลังการทำแผล
- ภายหลังจากเข้าห้องน้ำ
- ภายหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ
- ภายหลังการไอ จาม สั่งน้ำมูก
- ภายหลังการสัมผัสสัตว์ การให้อาหารสัตว์ และการเก็บมูลสัตว์
- ภายหลังการสัมผัสขยะ
ขั้นตอนการล้างมือ แบ่งเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้
- ล้างมือด้วยน้ำสะอาด(ควรเป็นน้ำไหลผ่านเช่นน้ำก็อก)
- ฟอกมือด้วยสบู่ โดยฟอกสบู่ให้ทั่วทั้งฝ่ามือ หลังมือ ง่ามนิ้วมือ ซอกเล็บ และข้อมือทั้งสองข้าง
- ควรใช้เวลาในการฟอกมือด้วยสบู่ ไม่ต่ำกว่า 20 วินาที
- ล้างมือด้วยน้ำสะอาด
- เช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าสะอาด
หากไม่สามารถล้างมือด้วยสบู่กับน้ำได้ควรทำอย่างไร
เป็นที่ยอมรับว่าการล้างมือด้วยสบู่กับน้ำยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดปริมาณเชื้อโรค แต่ในกรณีที่ไม่สามารถล้างมือด้วยสบู่กับน้ำได้ การเลือกใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือแทนถือเป็นอีกวิธีที่สะดวกรวดเร็ว ใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยควรเลือกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 60% อย่างไรก็ดีควรระลึกว่าการล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลนั้นไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคได้ทั้งหมด รวมถึงไม่สามารถล้างสารเคมีบางอย่างได้
วิธีการใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ
-
- เทเจลแอลกอฮอล์ล้างมือไว้บนฝ่ามือข้างหนึ่ง (ปริมาณการใช้ขึ้นกับคำแนะนำของผู้ผลิต)
- ถูมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน
- ถูให้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือกระจายไปทุกพื้นผิวสัมผัสของมือทั้งสองข้างและนิ้วทุกนิ้วจนรู้สึกว่ามือแห้ง
ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย