7 สมุนไพรไทยรักษาโรค
วันนี้ชีวจิตขอมาแนะนำ 7 สมุนไพรไทยรักษาโรค ที่เป็นสุดยอดคุณประโยชน์ กินดีแก้โรคได้ มาให้ผู้อ่านได้มีสุขภาพแข็งแรงห่างไกลความเจ็บป่วยกันค่ะ
- ข้าวโพดสีม่วง
ข้าวโพดสีม่วงมีปริมาณสารประกอบฟีโนลิก (Phenolic Compounds) และสารประกอบแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งชนิดเนื้องอก และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงป้องกันความเสื่อมที่เกิดกับระบบประสาท อันได้แก่ โรคสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน และช่วยฟื้นฟูการทำงานของเส้นประสาทที่ผิดปกติซึ่งเกิดจากโรคเบาหวานได้ ยืนยันจากงานวิจัยของ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการแพทย์ทางเลือดแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นค่ะ
Tips : กินข้าวโพดม่วงอย่างไรให้สุขภาพดี
สามารถต้มกินเป็นของว่าง หรือฝานเป็นชิ้นเล็กๆ คลุกกับธัญพืชประเภทถั่ว งา ก็จะได้ประโยชน์มากขึ้น อีกทั้งเพิ่มความหอมได้ด้วย ส่วนปริมาณที่แนะนำคือ วันละ 1 ฝัก
- ลูกหม่อน หรือมัลเบอร์รี่
คนไทยรู้จักลูกหม่อนมานานแล้ว แต่มารู้จักในนาม “มัลเบอร์รี่” ผลไม้รสชาติกลมกล่อมไม่นานมานี้ แต่นอกจากอร่อยแล้วลูกหม่อนยังมากประโยชน์ เพราะในผลสุกรสหวานอมเปรี้ยวนี้ มีทั้งวิตามินบี 6 วิตามินบี 1 อีกทั้งสารแอนโทไซยานิน และสารแอนติออกซิแดนท์สูงอีกด้วย โดยมีมากกว่าเบอร์รี่ชนิดอื่นๆ 2 – 10 เท่า
นอกจากนี้มีงานวิจัยชี้ว่า สารพฤษเคมีในลูกหม่อนช่วยปกป้องเซลล์ประสาทของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองขาดเลือดได้ และยับยั้งไม่ให้เซลล์สมองถูกทำลายด้วยอนุมูลอิสระ หรือฟรีเรดิคัล
อีกทั้งสารดังกล่าวยังมีประโยชน์ในการช่วยเพิ่มความจำ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และโรคสมองเสื่อมที่มีสาเหตุมาจากการติดแอลกอฮอล์เรื้อรังอีกด้วย
Tips: กินลูกหม่อนเท่าไรถึงจะดี
ปริมาณที่แนะนำคือ กินวันละ ½ – 1 ถ้วยตวง โดยแนะนำให้กินผลสดจะได้ประโยชน์สูงสุด หรือลูกหม่อนแปรรูปประเภทแยม น้ำผลไม้สกัดเข้มข้น ก็ไม่ควรเติมน้ำตาลปริมาณมากเกินไป
คลิกเลข 2 เพื่ออ่านหน้าถัดไป
- ขิง
ขิงเป็นสมุนไพรที่เราใช้บรรเทาอาการผิดปกติของระบบย่อยอาหารกันมานานแล้ว ทั้งอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก รวมถึงอาการคลื่นไส้อาเจียน โดยผลวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ชี้ว่า ขิงมีสารแอนติออกซิแดนท์สูงจึงมีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังช่วยระงับความเจ็บปวดจากอาการกล้ามเนื้ออักเสบ ข้ออักเสบ และลดไขมันในเส้นเลือด ต้านเครียด ลดอาการล้าและป้องกันการตายของเซลล์ประสาทได้อีกด้วย
Tips: ข้อควรระวัง
สตรีที่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการกินขิงมาก เพราะอาจทำให้เกิดการแท้งได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีภาวะนิ่วในถุงน้ำดี ผู้ที่มีปัญหาการเจ็บตัวของเกล็ดเลือดต่ำ และเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบก็ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากจะยิ่งทำให้อาการของโรคแย่ลง
- ฟักข้าว
ฟักข้าวเป็นพืชที่คนในท้องถิ่นไทยรู้จักกันมานาน แต่ยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นหลักจากมีงานวิจัยชี้ว่า ลูกฟักข้าวที่สุกและมีเนื้อแดงจัด มีสารไลโคปีสูงกว่ามะเขือเทศถึง 12 เท่า และมีเบต้าแคโรทีนมากกว่าแครอทถึง 10 เท่า
นอกจากนี้ ในเนื้อสุกยังมีสารแอนติออกซิแดนท์สูง จึงช่วยป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง ป้องกันโอกาสเกิดโรคต้อกระจก ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของเชื้ออสุจิ และชะลอการเกิดภาวะกระดูกพรุน ลอดการอักเสบของหลอดเลือด และกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายได้อีกด้วย
Tips: กินอย่างไรให้ปลอดสารพิษ
การกินฟักข้าวทำได้หลายวิธี วิธีที่ง่ายที่สุดคือ การดื่มน้ำคั้นเยื่อหุ้มเมล็ด ทำได้โดยการนำเยื่อหุ้มเมล็ดมาห่อด้วยผ้าขาวบางแล้วกรองเอาแต่น้ำ (ห้ามใช้เครื่องปั่น เพราะในเมล็ดดิบมีสารพิษอยู่) จากนั้นเติมน้ำเปล่าครึ่งส่วน ต้มให้สุกด้วยไฟอ่อน พักให้เย็นแล้วดื่ม ปริมาณที่แนะนำคือ วันละ 1 ถ้วยตวง
- พริกไทยดำ
จากงานวิจัยพบว่า ในเมล็ดพริกไทยดำมีสารอัลคาลอยด์ชื่อ พิเพอรีน (Piperine) ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ช่วยลดอาการปวดได้ดีกว่าพาราเซตามอลถึง 70 เท่า นอกจากนี้ยังกระตุ้นการเรียนรู้ เพิ่มความจำ ลดอาการซึมเศร้า อีกทั้งยังช่วยย่อยอาหาร แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ และบรรเทาอาการนอนไม่หลับ
Tips: ข้อควรระวัง
ปริมาณที่แนะนำให้กินคือ ½ – 1 ช้อนชาใส่ในอาหาร แต่ผู้ป่วยที่ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจส่งผลให้เกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้
คลิกเลข 3 เพื่ออ่านหน้าถัดไป
- สะเดา
สะเดาเป็นพืชพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์ที่รสขม คนนิยมนำดอกอ่อน ยอด และใบมาลวกกิน โดยนักวิจัยพบสารสำคัญคือ ไตรเตอร์พีนอยด์ (Triterpenoid) เคอร์เซติน (Quercetin) แคมป์เฟอรอล (Kaempferol) รูติน (Rutin) และอื่นๆ ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบในระดับเซลล์ และชะลอการแบ่งเซลล์ที่ผิดปกติได้ รวมถึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย
Tips: เทคนิคลดความขมของสะเดา
นำน้ำผสมน้ำซาวข้าวใส่เกลือเล็กน้อย ตั้งไฟให้เดือดแล้วยกลง นำสะเดาไปลวกทิ้งไว้ จากนั้นตักสะเดาแช่ในน้ำเย็นแล้วพักให้สะเด็ดน้ำ รสชมก็จะลดลง
- ใบมะรุม
มะรุมเป็นผักพื้นบ้านที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน มักนิยมบริโภคผลสดและใบ โดยจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นพบว่า ใน “ใบมะรุม” มีสารอาหารหลายชนิดในปริมาณสูง ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนซึ่งมากกว่านมสด 2 เท่า วิตามินเอมากกว่าแครรอต 3 เท่า วิตามินซีสูงกว่าส้มถึง 7 เท่า อีกทั้งให้พลังงานต่ำ เหมาะกับคนควบคุมน้ำหนัก และป่วยเป็นโรคเบาหวาน
นอกจากนี้มะรุมยังช่วยลดความดันโลหิตสูง ลดคอเลสเตอรอลและไตรกีเซอไรด์ ลดการถูกทำลายของเซลล์ตับอ่อนในผู้ป่วยเบาหวาน และยับยั้งการอักเสบ ช่วยขับปัสสาวะ และกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายอีกด้วย
Tips: ข้อควรระวัง
สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจทำให้เกิดการแท้งได้
ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 373