เคล็ดลับดูแล สุขภาพผม ให้แข็งแรงและงดงาม
ฉบับเร็งด่วนชวนทำ
สุขภาพผม คงไม่มีใครปฏิเสธคำกล่าวที่ว่า ผมคือมงกุฎอันงามสง่าที่ธรรมชาติมอบให้ทุกคน ในเชิงสุขภาพ คนโบราณเชื่อว่าผมเป็นตัวชี้วัดถึงพลังในร่างกายแสดงถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาว
การที่ผมป่วยสะท้อนถึงปัญหาทั้งภายในและภายนอก ชีวจิตจึงนำปัญหาผมซึ่งพบบ่อยมาสะสางกันเสียที ด้วยเคล็ดลับดีๆ ที่ทำตามได้ไม่ยาก เพื่อการดูแลสุขภาพเรือนผมให้แข็งแรงและงดงามตลอดไป
ผมแห้ง แตกปลาย
คนเป็นจำนวนมากมีปัญหาเส้นผมแห้ง ปัญหานี้มักเกี่ยวเนื่องมาจากการที่เซลล์ของหนังศีรษะขาดน้ำมันและน้ำหล่อเลี้ยงผิว เส้นผมที่แห้งมักเปลี่ยนสีและแตก
ยิ่งถ้าเส้นผมต้องเผชิญกับแดดจัด ลมแรง การแปรงผม การหวีและการตกแต่งทรงผมที่หนักมือ ผมที่แห้งอยู่แล้วจะยิ่งแห้งกว่าเดิม
นอกจากนี้การไว้ผมยาวเกินไปทำให้น้ำมันจากรากผมไม่สามารถส่งมาหล่อเลี้ยงถึงปลายผมได้
Tricks to Fix
Massage: การนวดหนังศีรษะเพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น ทำให้ต่อมไขมันใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น สามารถใช้น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันมะกอกนวดผมให้ทั่วก่อนสระผม จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นได้เป็นอย่างดี
Shampoo: เลือกแชมพูอ่อนๆที่มีโปรตีนเป็นส่วนผสมสำคัญและใช้คอนดิชันเนอร์ด้วยทุกครั้ง
Nourish: หมักทรีตเมนต์และอบไอน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้งสามารถช่วยให้ผมแห้งกลับมานุ่มสลวยเงางามได้
Comb: การหวีผมจะช่วยกระจายน้ำมันธรรมชาติที่สะสมมากมายที่หนังศีรษะ ให้หลั่งออกมาเคลือบเส้นผมให้ทั่วและเสมอกันตลอดความยาวของเส้นผม เหมือนกับการใช้คอนดิชันเนอร์ ในอดีตการสางผมเป็นวิธีที่นิยม จนทำให้ปฏิบัติสืบต่อเนื่องกันมาว่า หากหวีหรือสางผมมากกว่าคืนละ 100 ครั้งจะทำให้ผมงาม
Trim: การเล็มปลายผมเหมาะสำหรับผู้ที่มีปลายผมแห้งมาก เพื่อป้องกันการแตกปลายของผมเส้นอื่นๆเพราะผมส่วนปลายเป็นส่วนที่มีอายุมากที่สุด และผ่านการกระทบกระทั่งมามากที่สุดด้วย
สารที่ก่อมลภาวะและเป็นอันตรายต่อเส้นผม เช่นสารเคมี คลอรีน แสงแดด และผลที่เกิดจากการ
ตกแต่งเส้นผมย่อมทำให้ผมส่วนปลายนี้มีสภาพเสียหายมาก การเล็มผมส่วนนี้ทิ้งเสียบ้างอย่างสม่ำเสมอถือเป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติ
Don’t: ห้ามหวีผมตอนผมเปียก เพราะจะทำให้ผมเปราะขาดง่าย
ผมร่วง
ผมร่วงเป็นปัญหาสุขภาพผมที่มักทำให้เราๆ ท่านๆ หันกลับมาพิจารณาเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพใจกันมากขึ้นเพราะปัญหานี้นอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว มักสัมพันธ์กับร่างกายและจิตใจด้วย
- การขาดสารอาหาร อาจารย์สาทิสอินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต อธิบายปัญหาผมร่วงว่า
การขาดสารอาหารสำคัญซึ่งเป็นสาเหตุให้ผมร่วงก็คือ โปรตีน เนื่องจากเส้นผมนั้นประกอบด้วยโปรตีน การกินอาหารโปรตีนสูงจึงจะบำรุงผมให้ดกและงดงามดี
นอกจากโปรตีนตัวสำคัญแล้ว นายแพทย์สมนึก อมรสิริพาณิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นผมและหนังศีรษะยังอธิบายว่า ผู้ที่มีปัญหาผมร่วง ผมบางอาจเกิดจากการขาดสารอาหารอื่นๆ และมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วยดังต่อไปนี้
ผมร่วงจาก การขาดธาตุเหล็กมักจะเกิดกับผู้หญิงที่ต้องสูญเสียเลือดจากการมีประจำเดือนทุกเดือนหรือหลังการคลอด ฉะนั้น หากมีอาการผมร่วงเกิดขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้ อาจต้องลองเช็กระดับธาตุเหล็กในเลือด
อาการผมร่วงอาจเกิดจาก การขาดธาตุสังกะสี ก็ได้ ทั้งนี้มักมีอาการของรังแคบนหนังศีรษะร่วมด้วย การขาดธาตุสังกะสีเล็กน้อยก็ทำให้ผมร่วงเร็วขึ้นได้
การขาดวิตามินบี 12 อาจทำให้เกิดปัญหาการดูดซึมธาตุเหล็กที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ เพราะหากขาดวิตามินชนิดนี้แล้ว การดูดซึมธาตุเหล็กจะลดลง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมร่วงได้
นอกจากนี้ การขาดสารจำพวกกรดไขมันจำเพาะ สารที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้คือ กรดไลโนเลอิก (Linoleic acid) และกรดแอลฟาไลโนเลนิก (Alpha-linolenicacid) ก็ก่อปัญหาผมร่วงได้
การขาดสารอีกสองชนิดที่อาจก่อปัญหาผมร่วง คือ การขาดอีพีเอ (EPA: Eicosapentaenoicacid) และ การขาดดีเอชเอ (DHA: Docosahexaenoic acid)
- ปัญหาความเครียด ความเครียดทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน เมื่อฮอร์โมนไม่สมดุล จะส่งผลต่อสุขภาพของเส้นผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอาการเครียดรุนแรงทางกาย เช่น ลดน้ำหนักลงอย่างรวดเร็ว หลังการผ่าตัดใหญ่ หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักอย่างกะทันหัน
- สารเคมี มลภาวะที่เกิดจากการใช้สารเคมีในอาหารและการรับประทานยาชนิดต่างๆ เช่น ยปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด ยาแก้หวัด หรือแม้กระทั่งการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมโดยไม่ได้คำนึงถึงสุขภาพของรากผม ทั้งหมดอาจมีบทบาทในการก่อปัญหาผมร่วงและผมบาง
- ทรงผมดึงรั้ง หากคุณชอบไว้ผมในรูปแบบที่มีการดึงรั้งเส้นผมไปข้างหลังด้วยแรงดึงที่มากจนทำให้เส้นผมเหยียดเป็นเส้นตรงไม่ว่าจะเป็นการรวบดึง ถักเปีย หรือถักทอในรูปแบบต่างๆ หรือกระทั่งนำไปผูกตกแต่งด้วยลูกปัดที่สวยงาม การทำเช่นนั้นบ่อยๆ จะเกิดแรงกดดันให้รากผม จนทำให้เส้นผมที่ถูกดึงหยุดการงอกและหลุดร่วงได้เส้นผมที่เกิดขึ้นมาใหม่แทนที่ในโพรงขนเดิมอาจไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ทำให้เส้นผมนั้นเล็กและสั้นลง เกิดปัญหาผมบางทั้งส่วนหน้าและบริเวณขมับทั้งสองข้าง
- ถอนผม เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ทำให้ผมบางลงได้ เป็นการดึงที่ไม่สามารถห้ามและยับยั้งตัวเองไม่ให้ทำ การดึงผมชนิดนี้ทำไปเพราะมีแรงกระตุ้นให้ทำ ซึ่งถือเป็นความผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่ง ทั้งๆ ที่ผู้ที่ทำเช่นนี้ไม่ได้มีลักษณะผิดปกติใดๆ นอกจากไม่สามารถห้ามตัวเองไม่ให้ดึงผมได้
Tricks to Fix
Diet Therapy: อาจารย์สาทิสแนะนำอาหารต้านอาการผมร่วงดังต่อไปนี้
ให้กินโปรตีนจากพืช ได้แก่ ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง และผลผลิตจากถั่ว เช่น เต้าหู้ เป็นต้น
กินโปรตีนจากปลาทะเลสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 200 กรัม
ผักและข้าวที่จะแนะนำ (ปริมาณข้าวร้อยละ 50 ผักร้อยละ 25 ของแต่ละมื้อ) มีข้าวซ้อมมือ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต จมูกข้าว แอสพารากัส กะหล่ำปลี ขึ้นฉ่าย ผักกาดหอมหรือผักกาดแก้ว หัวหอม ผักโขม มะเขือเทศ
อาจารย์สาทิสยังแนะนำให้ดื่มน้ำคั้นจากหัวบีตรู้ตผสมกับน้ำหัวหอมเล็กน้อย ดื่มสัปดาห์ละ 2 – 3 ถ้วยกาแฟ เป็นสิ่งที่ อาจารย์คาลสัน เวด นักวิทยาศาสตร์ทางอาหารแนะนำ และยังแนะนำต่อไปอีกด้วยว่า ควรคั้นน้ำจากเกรปฟรุต (ของไทยไม่มี ใช้ส้มโอเปรี้ยวแทนได้) ผสมกับน้ำต้มจากรำข้าวและจมูกข้าว ดื่มวันละแก้วก็ได้ผลดี
คุณหมอสมนึกอธิบายประโยชน์ของปลาทะเลที่ช่วยต้านอาการผมร่วงว่า ปลาทะเลนอกจากจะมีโปรตีนและวิตามินบีแล้ว ยังมีไอโอดีน ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณหนังศีรษะได้ดีมาก ดังนั้น จงพยายามหาโอกาสรับประทานปลาทะเลอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ อย่าลืมกรดไลโนเลอิกและแอลฟาไลโนเลนิก ซึ่งถือว่าเป็นสารที่สำคัญต่อสุขภาพผม แต่ร่างกายของเราไม่สามารถผลิตเองได้ จึงจำเป็นต้องกินจากแหล่งอาหารต่างๆ กรดไลโนเลอิกพบได้ในอาหารหลายประเภท เช่น เมล็ดธัญพืช รวมถึงผักต่างๆ ส่วนกรดแอลฟาไลโนเลนิกมีอยู่ในถั่วสีเขียว ผักโขม และข้าวโอ๊ต
ปิดท้ายด้วยการเสริมอีพีเอและดีเอชเอด้วยอาหารจำพวกปลาและน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันปลา และน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส ซึ่งช่วยให้เส้นผมแข็งแรง
Olive Oil: การใช้น้ำมันมะกอกอุ่นๆ นวดหนังศีรษะอาจช่วยคุณได้ เพราะนอกจากจะให้ความชุ่มชื่นแล้ว ยังช่วยป้องกันการหลุดร่วงของเส้นผมได้
Ayurvedic Massage: ตำราอายุรเวทแนะนำให้นวดหนังศีรษะให้ทั่วด้วยน้ำมันละหุ่งผสมเกลือเพียงเล็กน้อย หลังจากนั้นใช้ผ้าขนหนูที่อบความร้อนไว้ห่อศีรษะ ทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วสระผมให้สะอาด
Vitamin E: ใช้วิตามินอีชนิดแคปซูล บิออกสัก 2 แคปซูล นวดให้ทั่วหนังศีรษะ ถ้าทำอย่างสม่ำเสมอประมาณสัปดาห์ละ 2 ครั้งเพียงหนึ่งเดือน เส้นผมจะแข็งแรง ดก และมีน้ำหนักกว่าที่เคยเป็น
Meditation: สำหรับปัญหาการถอนผม คุณหมอสมนึกแนะนำว่า อาจลองกำหนดสมาธิเพื่อให้รู้ความเป็นไปของอารมณ์ที่กระตุ้นให้เกิดความอยากที่จะดึงผม ด้วยการกำหนดลมหายใจหรือเดินจงกรม โดยกำหนดให้รู้สภาวะจิตใจที่มือขยับไปมา เป็นต้น
รังแค
หลายคนเข้าใจผิดว่ารังแคคือสิ่งสกปรก แท้จริงแล้วรังแคคือหนังศีรษะที่แห้งจนหลุดลอก และหากหนังที่หลุดลอกนี้ไม่สามารถผลัดออกมาได้ด้วยตัวของมันเอง จะติดและสะสมอยู่ตามรากผมเป็นขุยขาวๆ ซึ่งเรียกว่า “รังแค” ถ้าหนังศีรษะมีน้ำมันมากเกินไป รังแคนี้ก็จะสะสมเป็นก้อนอยู่บนศีรษะ
การเป็นรังแคบางครั้งมีอาการผิวหนังอักเสบร่วมด้วย ซึ่งอาจเกิดจากการแพ้สารเคมีที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นแชมพู คอนดิชันเนอร์ หรือน้ำยาย้อมผม ในกรณีที่มีเชื้อยีสต์เข้ามาผสมโรงด้วย รังแคที่เกิดขึ้นอาจมีลักษณะพิเศษ คือมีอาการตามแนวของชายผมทั้งด้านหน้าและด้านหลังใบหู
สะเก็ดรังแคอาจมีลักษณะของผิวอักเสบ และมีสีของสะเก็ดรังแคออกเหลือง เพราะการอักเสบทำให้น้ำมันหลั่งออกมามากขึ้น และจับตัวกับเยื่อผิวที่หลุดลอกเป็นกลุ่มก้อน
นอกจากนี้รังแคอาจเกิดจากการที่เส้นผมถูกแดดลมมากเกินไป หรือมีคราบแชมพูที่ล้างออกไม่หมดเกาะอยู่บนหนังศีรษะตลอดจนการใช้สเปรย์ฉีดผมมากเกินความจำเป็น นอกจากนั้นอาจเกิดจากการได้รับยาบางชนิด
Tricks to Fix
บันได 8 ขั้นของการขจัดรังแค
- ใช้แชมพูสูตรอ่อนสระผมเป็นประจำ หากไม่ได้ผลให้ใช้แชมพูสูตรขจัดรังแคโดยเฉพาะ
- หลีกเลี่ยงการเกาหรือกระทำการใดๆ ที่ทำให้หนังศีรษะเกิดแผลอักเสบ
- พยายามใช้ผ้าขนหนูที่สะอาดและแห้งเช็ดผม หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าที่เปียกชื้น
- นวดด้วยน้ำมะนาวหรือน้ำมะกรูดก่อนสระผม
- หลีกเลี่ยงอาหาร เช่น น้ำตาล คาร์โบไฮเดรต น้ำมันไขมันสัตว์ และมาร์การีน
- รับประทานอาหารเสริมที่มีธาตุสังกะสี วิตามินบี วิตามินซี และวิตามินอี
- กินน้ำมันที่มีกรดไขมันจำเป็น เช่น น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันปลา
- ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ให้ปรึกษาแพทย์ผิวหนัง
Don’t: จากความเข้าใจผิดที่ว่า รังแคคือสิ่งสกปรก จึงทำให้มีการเลือกใช้แชมพูที่มีฤทธิ์แรงขึ้น ด้วยคิดว่าจะทำให้ผมสะอาด ทว่าแชมพูที่แรงขึ้นเป็นตัวทำให้หนังศีรษะแห้งมากขึ้น เมื่อใช้ไปเรื่อยๆ และสระบ่อยขึ้น มักลงเอยด้วยอาการระคายเคืองที่รุนแรงกว่าเดิม
ผมหงอกก่อนวัย
หลายคนหลงรักริชาร์ด เกียร์ เพราะผมขาวของเขาช่วยเสริมบุคลิกภาพให้ดูอบอุ่น ใจดี แต่ถ้าถามคนไทยที่มีผมสีดำกันมาแต่เกิดว่า อยากเป็นแบบริชาร์ดไหม หลายคนคงได้แต่ส่ายศีรษะและอยากให้ผมดับขลับอยู่กับเราให้นานที่สุด
อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนไม่น้อยที่ประสบกับปัญหาผมหงอกก่อนวัย ไม่ว่าจะค่อยๆ กลายเป็นสีดอกเลาหรือหงอกหร็อมแหร็มไปจนถึงหงอกเป็นหย่อมๆ ก่อนวัย 40 ปี จนทำให้กุมขมับได้เหมือนกัน
นายแพทย์โกวทมาน กฤษณมูรติ (Dr. Gowthaman Krishnamoorthy) ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ Dr. Gowthaman’s Ayurveda Panchakarma Center เมืองเจนไน ประเทศอินเดีย อธิบายปัญหานี้ว่าเกิด จากการขาดสารอาหาร เช่นวิตามินบี ธาตุเหล็กทองแดง และไอโอดีน
นอกจากน้อี าจมาจากความเครียด สุขภาพหนังศีรษะไม่ดี การใช้แชมพูที่มีฤทธิ์แรงเกินไป หรืออาจจะเกิดจากสารเคมีในผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมชนิดอื่นๆ และที่สำคัญ ในบางคนเกิดจากพันธุกรรม
การศึกษาในวงการแพทย์ยังพบว่า การกินอาหารบางประเภทมากเกินไป ได้แก่ ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื้อสัตว์อาหารประเภททอด อาหารมันๆ อาหารรสจัด เช่น เปรี้ยวจัด หรือ
อาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด จะเป็นตัวลดการลำเลียงสารอาหารไปส่งยังต่อมผม (Hair Follicles) ซึ่งนำไปสู่ปัญหาผมหงอกก่อนวัย
การเป็นโรคหรืออาการบางอย่างก็ทำให้ผมหงอกก่อนวัยได้เช่นกัน เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ผิดปกติ ทั้งไฮเปอร์ไทรอยด์และไฮโปไทรอยด์ อาการโลหิตจางเนื่องจากขาดวิตามินบี 12 หรือร่างกายได้รับวิตามินบี 12 น้อย การป่วยเป็นโรคด่างขาว การเข้าสู่วัยทองเร็วกว่าปกติ
Tricks to Fix
Herb: เดิมทีเรารู้จักใบบัวบกจากสรรพคุณแก้ช้ำใน หรือไม่ก็พูดติดตลกกันว่าดื่มแก้อกหักได้ผลชะงัด แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า หนึ่งในสรรพคุณที่ใช้เป็นยาของใบบัวบกนั้นคือ ช่วยยับยั้งการหงอกของเส้นผมได้
ใบบัวบกมีสารไกลโคไซด์ (Glycoside) และมีวิตามินที่ช่วยต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน จึงช่วยลดการเสื่อมของเซลล์และอวัยวะต่างๆ ได้
สำหรับสูตรนี้เมื่อใบบัวบกผสานพลังกับน้ำมันมะพร้าวที่มีคุณค่าช่วยบำรุงผมให้ดกดำเป็นเงางาม หากบำรุงกันแต่เนิ่นๆ ก็ไม่ต้องกังวลว่าปัญหาผมหงอกก่อนวัยจะมากวนใจ
ส่วนผสม : ใบบัวบก 1 กำมือ น้ำมันมะพร้าว 3 ช้อนโต๊ะ น้ำสะอาดเล็กน้อย
ล้างใบบัวบกให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ปั่นรวมกับน้ำจนละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน กรองเอาแต่น้ำ นำน้ำใบบัวบกมาเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวให้เข้ากันด้วยไฟอ่อน ทิ้งไว้ให้อุ่น นำมาชโลมและนวดให้ทั่ว
หนังศีรษะ ทิ้งไว้ประมาณ 15 – 20 นาที แล้วสระผมด้วยแชมพูอ่อน
Diet Therapy: อาจารย์สาทิสแนะนำสารอาหาร Para-aminobenzoic Acid (PABA) ซึ่งเป็นอาหารในกลุ่มวิตามินบีคอมเพล็กซ์ และเป็นตัวสำคัญในการช่วยให้สีผมเป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุด เช่น สีดำก็ดำสนิท PABA มีอยู่ในอาหารประเภทยีสต์ ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง รำ จมูกข้าว โมลาส (กากน้ำตาล)
นอกจากนี้อาหารที่อุดมด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ธาตุเหล็กไอโอดีน วิตามินเอ และวิตามินบี เช่น ปลาทะเลตลอดจนน้ำผักและผลไม้สดๆ ที่อุดมด้วยสารแอนติออกซิแดนต์ก็สามารถช่วยป้องกันการสูญเสียเม็ดสีของเส้นผมได้
Yoga: ลองฝึกโยคะ “ท่าจิกผม” เป็นประจำ
- นั่งขัดสมาธิ มือกำผมตรงบริเวณโคนผม หายใจเข้า ดึงผมแรงพอประมาณ (ถ้าเป็นผมด้านหน้าดึงไปด้านหลัง ถ้าเป็นผมด้านหลังดึงมาด้านหน้า) หายใจออก
- ดึงผมค้างไว้ นับ 1 – 10 หายใจปกติ เมื่อนับครบ 10 หายใจเข้า ค่อยๆ คลายมือออก หายใจออก ดึงผมเช่นนี้ให้ทั่วศีรษะ
ท่านี้เป็นการบริหารหนังศีรษะและรากผม ช่วยให้เลือดไปหล่อเลี้ยงได้ดีขึ้นเส้นผมจะดำเป็นเงางาม ไม่หงอกก่อนวัย
จะเห็นได้ว่า การดูแลผมด้วยวิธีธรรมชาติ ทงั้ การกนิ อาหารสขุ ภาพที่เป็นประโยชน์และการเลี่ยงสารเคมีรุนแรงที่ทำร้ายผม เป็นวิธีการถนอมผมให้แข็งแรงอยู่กับเราได้นานที่สุด
จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 335 (16 กันยายน 2555)
บทความน่าสนใจอื่นๆ