สมุนไพรต้านโรคจากยุง
มาดู สมุนไพรต้านโรคจากยุง เพราะฤดูฝนอย่างนี้ เราควรใส่ใจโรคที่เกิดจากสัตว์พาหะไม่แพ้โรคอื่นๆ ค่ะ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเจ้ายุงตัวเล็กแต่ร้าย หรือแม้แต่หนูตัวจ้อยตามท้องทุ่งหรือท่อระบายน้ำ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เกรียงศักดิ์ ลิมป์กิตติกุล โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า
โรคจากสัตว์สู่คนส่วนใหญ่เกิดจากยุงชนิดต่างๆ เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นแฉะและมีน้ำขัง จึงมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพิ่มขึ้น และยุงมีระยะเวลาออกหากินนานขึ้น
ส่วนใหญ่โรคกลุ่มนี้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วจะมีไข้นำมาก่อนประมาณ 1 – 2 วัน จากนั้นจึงจะแสดงอาการเฉพาะโรคออกมา โรคที่ควรระมัดระวังได้แก่
ไข้เลือดออก พบมากที่สุดในฤดูฝน โดยเฉพาะในเขตชุมชนเมืองมียุงลายเป็นพาหะ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงมาก คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร อาจจะมีเลือดออกเป็นจุดแดงๆ ที่ผิวหนังหรือตามอวัยวะต่างๆ และเมื่อไข้ลดอาจมีภาวะความดันเลือดต่ำลง หากเป็นมากอาจถึงขั้นเสียชีวิต
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไปกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยังร่วมเตือนด้วยว่า ในปีนี้ประชาชนควรระมัดระวังโรคไข้เลือดออกมากเป็นพิเศษ เนื่องจากรอบวงจรการระบาดของโรคประกอบกับภาวะโลกร้อนทำให้ยุงเจริญเติบโตเร็วขึ้น จึงมีแนวโน้มที่คนจะติดเชื้อมากขึ้น
ไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยา เป็นโรคไข้เลือดออกชนิดหนึ่งที่กลับมาระบาดซ้ำหลังจากไม่พบมาหลายปี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาจากยุงลายสวน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง เป็นผื่นแดงตามตัว ปวดข้อ ข้อบวมและอักเสบ แม้รักษาจนหายแล้วก็ยังอาจมีอาการปวดข้อต่ออีกหลายเดือน
มาลาเรีย พบเฉพาะพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนของประเทศ เนื่องจากภูมิประเทศเป็นป่าเขา เหมาะแก่การเจริญเติบโตของยุงก้นปล่อง ซึ่งเป็นพาหะของโรคมักระบาดช่วงต้นและปลายฤดูฝน อาการคือ?มีไข้สูงหนาวสั่น ตัวและตาเหลือง หากติดเชื้อชนิดรุนแรงอาจส่งผลให้มีอาการทางสมองหรือไตวายได้
ฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดจากการติดเชื้อเลปโตสไปร่า
จากฉี่หนูที่ปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติหรือน้ำขังส่วนในเขตชุมชนเมืองควรระมัดระวังหนูที่อยู่ตามท่อระบายน้ำ โดยเฉพาะเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วม
หากผู้มีบาดแผลที่ผิวหนังแม้เพียงเล็กน้อยสัมผัสหรือแช่น้ำที่ปนเปื้อนฉี่หนู อาจมีโอกาสได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หากเป็นมากจะมีอาการตัวและตาเหลือง และอาจทำให้เกิดภาวะไตวายหากไม่ได้รับการรักษา
การใช้สมุนไพรเพื่อรักษาโรคที่เกิดจากยุงและสัตว์ โดยเฉพาะโรคที่เป็นแล้วมีอาการรุนแรงหรือเฉียบพลัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรหลายท่านแนะนำว่า ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์แผนปัจจุบันทันที เนื่องจากจะช่วยรักษาอาการได้รวดเร็วกว่า จากนั้นจึงใช้สมุนไพรเป็นยาเสริมเพื่อช่วยบรรเทาอาการร่วมกัน
สมุนไพรที่ช่วยบรรเทาโรคจากสัตว์พาหะมีดังต่อไปนี้
ต้านไข้เลือดออก
- ถั่วเขียวบำรุงพลัง
ถั่วเขียวมีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกายและฆ่าเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี หมอบุญยืน ผ่องแผ้ว หรือ หมอน้อย คลินิกหนองบงการแพทย์แผนไทย จังหวัดลพบุรี แนะนำว่า ให้นำถั่วเขียว 1 กำมือมาล้างให้สะอาด เทใส่หม้อ เติมน้ำให้ท่วม จากนั้นต้มจนถั่วสุก (อาจเติมน้ำตาลทรายแดงได้เล็กน้อย) กินทั้งน้ำ
และเนื้อถั่วเขียว ก่อนอาหารเช้า กลางวัน และเย็น
- เปลือกแตงโมบรรเทาไข้เลือดออก
แพทย์แผนจีนสะอาด อังกูรวัธน์ หรือ หมอไพร แนะนำว่าให้นำเปลือกแตงโมมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก 1 เสี้ยว ถั่วแดงเม็ดเล็ก 1 ขีด และรากหญ้าคาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ 1 หยิบมือ ต้มรวมกันกับน้ำสะอาด 1 แก้ว เมื่อเดือดจึงยกลง กรองเฉพาะน้ำดื่มแทนน้ำเปล่าครั้งละ 1 แก้ว หลังอาหารเช้าและเย็น จะช่วยบรรเทาอาการไข้เลือดออก
ต้านมาลาเรีย
- เยียวยาด้วยตำรับยาสมุนไพร
หมอน้อยแนะนำสูตรยาต้านมาลาเรียว่า ให้ใช้หญ้าใต้ใบ บอระเพ็ด ชิงช้าชาลี พระยามือเหล็ก หญ้าแพรก หญ้าพันงูแดง หญ้าพันงูขาว หญ้าปราบควาย อย่างละ 1 กำมือ ล้างส่วนผสมทั้งหมดให้สะอาด หั่นเป็นท่อนประมาณ 1 ข้อนิ้ว แล้วใส่ลงในหม้อ เติมน้ำสะอาด 2 ลิตร ต้มให้เดือด กรองเฉพาะน้ำ ดื่มก่อนอาหารเวลาเช้าและเย็น
- ตังกุยเสริมสร้างเลือด
หมอไพรกล่าวว่า ตังกุยมีสรรพคุณช่วยบำรุงเลือดและเร่งการสร้างเม็ดเลือดที่ถูกทำลายจากเชื้อไข้มาลาเรีย
การกินตังกุยควรกินร่วมกับโปรตีน เพื่อช่วยบำรุงทั้งเลือดและพลังชี่ รวมถึงเสริมสร้างการทำงานของตับ ม้าม และไตโดยต้มตังกุย 1 แผ่น (ขนาดประกบกันได้ 2 นิ้ว) กับเนื้อปลา 500 กรัม ใส่น้ำพอท่วม ต้มหรือนึ่งจนเนื้อปลาสุกดี แล้วกินทั้งน้ำและเนื้อจะได้ผลดี
ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 285