ฟักทอง Pumpkin
ฟักทอง Pumpkin เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาและแพร่กระจายไปทั่วโลก ในปัจจุบันเราสามารถหาซื้อได้ตลอดทั้งปี เพราะสามารถปลูกได้ดีทุกภูมิภาคของประเทศไทย เนื่องจากฟักทองเป็นพืชที่ทนต่อสภาพอากาศทุกฤดูได้ดี จะปลูกช่วงหน้าแล้งหลังเก็บเกี่ยวข้าว หรือช่วงต้นฤดูฝนก็ได้ ซึ่งพันธุ์ที่นิยมปลูกมีหลายสายพันธุ์ด้วยกัน แต่นิยมปลูกมากที่สุกก็คือสายพันธุ์ลูกเล็กที่ให้เนื้อหวานมัน เหมาะสำหรับทำอาหารคาวและขนมต่าง ๆ รวมถึงสายพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งฟักทองสีส้มและพันธุ์จากญี่ปุ่น ที่มีผิวสีเขียวเข้มจัด ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ปลูกทางภาคเหนือทั้งที่ราบและที่สูง นอกจากนี้มูลนิธิโครงการหลวงได้มอบพันธุ์ฟักทองญี่ปุ่นให้ชาวเขาทดลองปลูกกัน เอาล่ะมาดูเกร็ดความรู้ดีๆที่แอดนำมาฝากกันดีกว่าค่ะ^^
🍀เป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นเลื้อยตามดิน มีรากเป็นมือเกาะตามลำต้น ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ขอบใบหยัก ทั้งต้นและใบมีขนปกคลุม มีดอกสีเหลืองสด ถิ่นกำเนิดอยู่ทางทวีปอเมริกาเขตร้อน ปลูกได้ดีในอากาศร้อน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด หรือใช้เถาปักชำ
🥗เป็นที่สังเกตว่าชาวตะวันตกมักนิยมนำมาทำเป็นซุปหรือย่างรับประทานกับจานหลัก เช่น เนื้อ ปลา ไก่ กุ้ง แต่สำหรับครัวไทยจะนำฟักทองมาทำอาหารคาวหวานประเภทต่างๆ เช่น แกงเลียง ผัดฟักทองใส่ไข่ แกงบวดฟักทอง ฟักทองสังขยา อื่นๆ ผล ฟักทอง ถือว่าเป็นผักชั้นดี เพราะมีเบต้าแคโรทีนสูงช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้อีกด้วย
ฟักทอง pumpkin กับประโยชน์และคุณค่าทางสารอาหาร
🌿เป็นผักที่ให้คุณค่าทางอาหารสูงมาก โดยเฉพาะวิตามินเอ เบต้าแคโรทีน และเจ้าตัวเบต้าแคโรทีนจากเนื้อสีเหลืองทองเนี่ยแหละที่ช่วยลดการเกิดมะเร็ง ป้องกันโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต ช่วยบำรุงตับ ไต และสายตา ฟักทองเป็นผักที่มีเส้นใยสูง ให้พลังงานต่ำ ไขมันน้อย จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก เมล็ดฟักทองมีสรรพคุณด้านการรักษาและลดโอกาสในการเกิดโรคนิ่วในกระเพราะปัสสาวะ และมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายพยาธิตัวตืดอีกด้วย
ประโยชน์แต่ละส่วนของฟักทอง
🌷เปลือกฟักทอง หากทานฟักทองทั้งเปลือก จะสามารถกระตุ้นการหลั่งอินซูลินในร่างกาย ซึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันการเกิดเบาหวาน ความดันโลหิต บำรุงตับ บำรุงไต บำรุงดวงตา และสร้างเซลล์ใหม่ทดแทนเซลล์ที่ตายไป ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
🌷ใบอ่อนฟักทอง มีวิตามินเอสูงเท่ากับเนื้อฟักทอง แต่มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูงกว่าในเนื้อ นิยมเด็ดยอดอ่อนมาลวดจิ้มน้ำพริกในตำรับอาหารไทย แต่ผู้ที่เป็นโรค เก๊าท์ ไม่ควรรับประทาน เพราะมีกรดยูริคสูง
🌷เนื้อฟักทอง มีวิตามินเอสูง รวมทั้งฟอสฟอรัส แคลเซียมวิตามินซี คาร์โบไฮเดตร และที่จะลืมไปไม่ได้เลยก็คือ เบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ในเนื้อสีเหลืองของฟักทอง สามารถช่วยลดการเกิดมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหัวใจได้ แถมเบต้าแคโรทีน ยังช่วยต้านความชรา ป้องกันโรคผิวหนัง บรรเทาอาการปวดเมื่อยของข้อเข่า และบั้นเอวได้เป็นอย่างดี
🌷เมล็ดฟักทอง ประกอบด้วยแป้ง ฟอสฟอรัส โปรตีนและวิตามิน รวมทั้งสารที่ชื่อว่า “คิวเคอร์บิติน” (Cucurbitine) ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าพยาธิตัวตืดได้ดี และยังช่วยขับปัสสาวะ ป้องกันการเกิดนิ่ว มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนี้ น้ำมันจากเมล็ดฟักทองยังช่วยบำรุงประสาทได้ดี และยังมีกรดอะมิโนบางชนิดที่ช่วยป้องกันไม่ให้ต่อมลูกหมากของผู้ชายขยายใหญ่ขึ้น และช่วยปรับระดับฮอร์โมนเพศชายที่ได้จากลูกอัณฑะให้อยู่ในระดับปกติ
มีวิธีเลือกอย่างไร?
สำหรับฟักทองที่นำเนื้อมารับประทานได้ดี ควรมีขนาดผลไม่ควรเกิน 5 กิโลกรัม และควรซื้อฟักทองทั้งลูก เพราะฟักทองที่หั่นแล้วรสชาติและคุณค่าทางอาหารจะสูญเสียไปเร็วมาก ให้เลือกซื้อที่ไม่มีแผลตามผิวเลยจะดีมาก หากมีรอยซ้ำแม้เพียงจุดเล็กนิดเดียว ก็อาจทำให้เนื้อเน่าเสียได้อย่างรวดเร็ว หากซื้อฟักทองทั้งลูกแล้วใช้ไม่หมด ควรนำเนื้อฟักทองที่เหลือไปทำให้สุก แล้วเก็บใส่กล่องแช่แข็งไว้รับประทานวันหลังได้โดยไม่ทำให้เสียรสชาติ
เก็บอย่างไม่ให้เน่าเสีย
ส่วนใหญ่นิยมนำมาทำอาหารได้ทั้งคาวและหวาน แต่ฟักทองลูกใหญ่คงไม่สามารถทำอาหารรับประทานหมดได้ภายในวันเดียว ส่วนที่เหลืออยู่หากปล่อยทิ้งไว้นานอาจขึ้นราได้ แก้ได้ไม่ยากอย่างที่คิด!เคล็ดวิธีมีดังนี้
โดยเริ่มจาก ให้นำปูนแดงที่กินกับหมากพลูทาให้ทั่วบริเวณเนื้อที่ผ่า จะช่วยป้องกันฟักทองขึ้นราและช่วยรักษาเนื้อของฟักทอง ให้เก็บไว้ได้นานอีกด้วย หากจะนำไปปรุงอาหารต่อก็เพียงฝานส่วนที่ทาปูนแดงทิ้งไป
ฟักทองเป็นผักที่มีฤทธิ์ร้อน
การประทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนและเย็นมากเกินไปอาจทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ควรรับประทานให้สมดุลกับร่างกายผู้ที่มีภาวะเจ็บป่วยหรือสตรีที่มดลูกไม่ดีไม่ควรรับประทานมากจนเกินไปเลือกรับประทานให้หลากหลายและครบ 5 หมู่เพื่อสุขภาพที่ดี
แอดหวังว่าทุกๆคนคงได้รับเกร็ดความรู้ดีๆที่แอดนำมาฝากแล้วอย่าลืมไปหาซื้อรับประทานกันด้วยนะคะ^^