แครอต อาหารเช้าบำรุงสมอง
โดย แพทย์หญิงกอบกาญจน์ ไพบูลย์ศิลป แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมชาติบำบัด
อาหารเช้าภาษาอังกฤษเรียกว่า “Breakfast” คำว่า Fast ในที่นี้มาจากคำว่า Fasting หรือการ อดอาหาร เพราะหากนับช่วงเวลาตั้งแต่อาหารมื้อเช้า ประมาณ 6 โมงเช้า ไปถึงอาหารมื้อเที่ยง กินเวลาห่าง 4 ชั่วโมง ในขณะที่มื้อเที่ยงไปมื้อเย็นห่างกัน 6-8 ชั่วโมง ถ้าเป็นคนเมืองอาจรับประทานดึกหน่อยคือ 2 ทุ่ม แต่จาก 2 ทุ่ม กว่าจะได้กินมื้อเช้าวันถัดไปก็กินเวลายาวนานถึง 10 ชั่วโมงเลยทีเดียว
ในเวลา 10-12 ชั่วโมงที่ไม่มีอะไรตกถึงท้อง ร่างกายจะเริ่มดึงเอา Glycogen หรือพลังงานสะสมที่ตับมาใช้รักษาระดับน้ำตาลในเลือดไปก่อน ระบบชีวเคมีจึงเป็นไปในแบบของการอดอาหารน้อยๆ โดยปริยาย การรับประทานอาหารมื้อเช้าจึงเป็นการสิ้นสุดการอดอาหาร หรือ Breakfast ไปในตัว
แต่ด้วยชีวิตอันเร่งรีบของคนเมืองหลวง บางครั้งจึงละเลยความสำคัญของอาหารมื้อเช้าไป บางคนถึงกับอดอาหารเช้า ไปได้กินอีกทีก็มื้อสายๆ ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นออกมาระบุว่า การอดอาหารเช้าจะทำให้เราไปกินชดเชยในมื้อเบรค หรือมื้อกลางวันมากขึ้น ซึ่งในระยะยาวคนที่มีอุปนิสัยในการรับประทานอาหารเช้าจึงควบคุมน้ำหนักตัวได้ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยส่วนใหญ่กลับมุ่งศึกษาไปในเรื่องความคิดและความจำมากกว่าเรื่องคุมน้ำหนัก เพราะเมื่อพ้นช่วง 12 ชั่วโมงไปแล้ว ร่างกายจะใช้ Glycogen ที่สะสมไว้ในตับจนหมด ครานี้ร่างกายก็จะดึงเอาไขมันมาสลายแทน ซึ่งผลพวงจากการสลายไขมันนั้น จะทำให้เลือดเป็นกรดจากสารคีโตน (Ketoacidosis)ซึ่งในเด็กจะส่งผลให้สมองมึนงง ความคิดความจำ และการเรียนในห้องเรียนภาคเช้าก็จะแย่ตามไปด้วย ยิ่งนอนดึกหรืออดนอน ระดับฮอร์โมนที่ใช้ในการเจริญเติบโต( Growth hormone) จะถูกรบกวน และไม่เป็นผลดีกับพัฒนาการของสมองเด็กที่กำลังเติบโต
ในปัจจุบันเราจึงหันมารณรงค์ให้เด็กๆ กินอาหารเช้าที่มีประโยชน์มากขึ้น หมอพยายามมองหาเมนูที่ง่าย และสามารถทำได้รวดเร็ว อีกทั้งมีประโยชน์ต่อสมอง คำตอบที่ได้ก็คือ “ซุปแครอต” เพราะแครอตเป็นพืชหัว ให้พลังงานที่เป็นคาร์โบไฮเดรต และไขมัน อีกทั้งยังมีเส้นใยที่ดี ซึ่งอาหารมื้อเช้าควรมีคาร์โบไฮเดรตเพื่อเป็นพลังงานให้สมองใช้ได้อย่างรวดเร็ว สีแดงของแครอตยังบ่งบอกว่าเป็นแหล่งของวิตามิน เอ เบต้าแคโรทีน วิตามินที่ละลายในไขมัน เมื่อนำไปต้มผ่านความร้อน ไขมันในแครอทจะละลายและทำให้วิตามิน เอ ดูดซึมได้ดีขึ้นด้วย
ตามหลัก Doctrine of Signature เมื่อพิจารณาพืชในตระกูลแครอต ญาติของมันก็คือ พาสเล่ย์ และ ผักชี ซึ่งสังเกตดีๆ จะพบว่าพืชตระกูลนี้จะมีกลิ่นน้ำมันหอมระเหยเฉพาะตัว และพืชอะไรก็ตามที่มีน้ำมันหอมระเหยมากแสดงว่ามมีปฏิสัมพันธ์กับธาตุลมเยอะ ซึ่งธาตุลมในที่นี้ทำงานเกี่ยวกับสมองและความคิดความจำ รากผักชีนั้นมีขนาดเล็ก เราจึงนำมาบุบใส่แกงจืด ส่วนแครอตเป็นพืชที่มีรากขนาดใหญ่กว่ามากและที่สำคัญคือมีสีส้มแดง ในมุมมองของนักพฤษศาสตร์แล้ว รากของสมุนไพรมักจะมีสารที่สัมพันธ์กับการทำงานของสมอง และรากพืชที่มีสีสันในศาสตร์การแพทย์มนุษยปรัชญา(Anthroposophy medicine) กล่าวว่าพลังงานของธาตุลมได้แทรกตัวเข้ามามากเป็นพิเศษในพืชชนิดนั้น เราจึงพบงานวิจัยหลายชิ้นกล่าวว่า แครอต เป็นพืชที่เหมาะจะนำมาทำอาหารมื้อแรกๆ เพื่อบำรุงสมองให้กับเด็กทารก ไปจนถึงเด็กวัยเรียน ที่ต้องการให้สมองสดใส พร้อมสำหรับวันใหม่ของพวกเขานั่นเอง
ซุปแครอต
ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่)
เตรียม 15 นาที ปรุง 20 นาที
แครอต 200 กรัม
หัวหอมใหญ่ 50 กรัม
มันฝรั่ง 20 กรัม
กระเทียมจีน 10 กรัม
เนยสด 5 กรัม
เกลือป่น 1 ช้อนชา
พริกไทยดำ ½ ช้อนชา
น้ำสต๊อกไก่ 500 กรัม
ใบกระวาน 2 ใบ
วิธีทำ
- ใส่น้ำสต๊อกลงหม้อเตรียมไว้ ผัดหอมหัวใหญ่กับเนยและกระเทียมในกระทะให้หอมจึงเทใส่ลงในหม้อน้ำ
สต๊อก
- หั่นแครอต มันฝรั่ง เป็นแผ่นใส่ลงในหม้อ(ข้อ 1)
- ยกขึ้นตั้งไฟ ต้มจนแครอตนิ่ม ยกลงจากเตา วางไว้จนอุ่นจึงนำไปปั่นด้วยเครื่องปั่นจนเนียนละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วนำสวนผสมที่ปั่นละเอียดแล้วขึ้นตั้งไฟอีกครั้ง เติมเกลือพริกไทย พอเดือดยกลง
- นำซุปใส่ถ้วย แต่งด้วยใบกระวาน เสิร์ฟพร้อมขนมปังข้าวไรน์ และผลไม้จานเล็ก
พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 167.70 กิโลแคลอรี
โปรตีน 7.80 กรัม
ไขมัน 5.25 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 22.65 กรัม
ไฟเบอร์3.40 กรัม