ธรรมโอสถ

แก้โรคทุกข์ด้วย ธรรมโอสถ ของพระพุทธเจ้า – พระกรภพ กิตติปญฺโญ

แก้โรคทุกข์ด้วย ธรรมโอสถ ของพระพุทธเจ้า – พระกรภพ กิตติปญฺโญ

เมื่อเราทราบดีว่า ธรรมโอสถ ของพระพุทธเจ้านั้นสามารถแก้โรคต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะโรคที่มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาแล้วไม่ว่ายากดีมีจนล้วนเป็นกันทุกคน คือโรคทุกข์ ดังคำบาลีว่า

“ทุกโขติณณา ทุกขะปะเรตา – เราเป็นผู้ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เป็นผู้มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว”

จึงเป็นเรื่องปกติที่ชีวิตของมนุษย์เราทุกคนจะต้องเจอกับความทุกข์ เมื่อเรารู้ความจริงตามกฎของธรรมชาติเช่นนี้แล้ว ผู้ที่ฉลาดก็จะต้องหาวิธีทำให้ชีวิตนี้มีความทุกข์น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ แต่จะไม่ให้ทุกข์เลยนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสเตือนเราไว้แล้วว่า

“ทุกขา ชาติ ปุนัปปุนัง – การเกิดทุกคราว เป็นทุกข์ร่ำไป”

ทุกข์ที่เกิดตามสภาวะของความเป็นมนุษย์ คือทุกข์จากการแก่ เจ็บไข้ พลัดพราก ไม่ว่าจะเป็นการจากเป็นหรือจากตาย ทุกข์จากความหิว ความร้อน ความหนาว ฯลฯ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่

แต่ทุกข์ที่เกิดจากการปล่อยให้กิเลสตัณหานำความทุกข์ที่นอกเหนือจากทุกข์ตามสภาวะมาให้เรานั้น เราสามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้ ด้วยการมาหัดสอนใจตัวเอง หัดพิจารณาให้กระจ่างว่า ที่เราเป็นทุกข์อยู่ทุกวันนี้เพราะอะไร พูดง่าย ๆ ว่า “หาโรค” ให้เจอ แล้วก็เอายาที่แก้โรคนั้นมากิน

นั่นคือนอกจากธรรมะขั้นต้น ๆ ที่จะทำให้เราแก้นิสัยเสียที่เกิดจากความโลภ โกรธ หลงอย่างหยาบ ๆ แล้ว คราวนี้ต้องเอาธรรมะขั้นกลาง ๆ มาปฏิบัติเพิ่มเติม เพื่อสู้กับความโลภ โกรธ หลงที่ละเอียดขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง

ส่วนใหญ่กิเลสระดับกลาง ๆ นี้ไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใครจนเป็นที่รังเกียจของคนรอบข้าง แต่เป็นกิเลสที่สร้างความรุ่มร้อน สร้างความทุกข์ให้ตัวเอง เช่น พวกความรู้สึกที่ฝังใจ ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บใจ ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความอิจฉาริษยา ความหวง ความห่วง ความติดยึด ฯลฯ สารพัดอย่างเหล่านี้ ซึ่งล้วนแต่นำความทุกข์มาให้ผู้ที่เก็บนิสัยเหล่านี้ไว้กับตัวเองทั้งนั้น

การจะแก้ทุกข์พวกนี้ ก็คือต้องมาฝึกใจให้ยอมรับความจริงว่า ที่เป็นทุกข์นั้นเพราะอะไร หาสาเหตุให้เจอ แล้วก็ค่อย ๆ หาวิธีแก้ไปทีละข้อ ๆ

หลักใหญ่ของการแก้ก็คือ ใช้ปัญญาของเราพิจารณาให้เห็นโทษ เห็นข้อเสียของนิสัยเหล่านั้นว่ามันทำให้เราเป็นทุกข์แค่ไหนอย่างไร แต่ปัญญาที่จะให้เห็นนิสัยไม่ดีเหล่านี้ ต้องเป็นปัญญาระดับสูงขึ้นกว่าการที่จะเห็นโทษหรือผลเสียของความโลภ โกรธ หลงแบบหยาบ ๆ เพราะโทษหรือผลเสียเหล่านี้จะเป็นเรื่องของนามธรรม คือความทุกข์ ไม่ใช่เรื่องของความเสียหายทางด้านวัตถุ จึงมองไม่ค่อยเห็นหากไม่มีปัญญาทางธรรมพอ

ธรรมโอสถของพระพุทธเจ้าแต่ละขนาน ระบุไว้ชัดเจนว่า อาการอย่างนี้ใช้ธรรมะข้อนี้แก้ไข โรคพื้น ๆ ก็ใช้ธรรมะพื้น ๆ ใช้ปัญญาระดับต้น ๆ ก็เข้าใจได้ โรคร้ายขึ้นมาระดับนี้ ก็ต้องใช้ธรรมะขั้นสูงขึ้นมา ที่จะนำเอามาสอนใจ หลักที่ให้คือยอมรับความเป็นจริงตามกฎของธรรมชาติ ตามกฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความเปลี่ยนแปลง ทุกขัง ความทุกข์หรือการที่ไม่มีอะไรสามารถคงสภาพเดิมอยู่ได้ และ อนัตตา คือความดับสูญ เสื่อมสลายไม่มีตัวไม่มีตนอะไรหลงเหลืออยู่นั่นเอง

หลวงพ่อทูลท่านบอกว่า

“ธรรมโอสถของพระพุทธเจ้านั้น สามารถแก้ได้ทุกโรค เพียงแต่ว่าเราต้องอ่านฉลากยาให้ดีว่าธรรมะข้อไหนใช้แก้โรคอะไร ไม่ใช่ขึ้นชื่อว่าธรรมะแล้วจะแก้ได้ทุกโรค หรือประเภทที่เอาแต่อ่านฉลากยาจนรู้หมดว่าธรรมะข้อไหนใช้แก้โรคอะไร แต่ไม่ยอมกินเสียที ก็ไม่มีทางที่จะรักษาโรคนั้นได้”

ส่วนจะแก้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือกี่เปอร์เซ็นต์ ก็อยู่ที่คนไข้ว่าสามารถปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าสอนได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะแก้ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทำให้เบาบางลง ก็นับว่าไม่ขาดทุนแล้วสำหรับการที่ได้เกิดมาเป็นคนและเป็นชาวพุทธในชาตินี้

ในกรณีที่เราตั้งเป้าหมายว่า ไม่ขอกลับมาเกิดอีก ขอเข้าสู่พระนิพพานให้ได้ในชาตินี้เลย หรืออย่างมากเกิดอีกไม่เกิน 7 ชาติ นั่นคือให้บรรลุโสดาบันเป็นอย่างน้อย ตรงนี้นอกจากธรรมะขั้นพื้นฐาน ขั้นกลางแล้ว เราก็ต้องเลือกธรรมะขั้นสูงหรือที่เรียกว่าโลกุตตรธรรม คือธรรมที่จะทำให้หลุดพ้นจากโลก มาปฏิบัติอย่างมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่สบาย ๆ แล้วอ้างว่าเดินสายกลาง (เก๊ ๆ) อย่างที่ชอบอ้างกัน

ที่ต้องเอาจริงเอาจังก็เพราะว่า การที่จะให้จิตที่เคยชินกับกระแสโลกมาหลายภพหลายชาติและตลอดชีวิตนี้หันมาทวนกระแสโลก เพื่อจะเข้าสู่กระแสนิพพานนั้นเปรียบเหมือนเราพายเรือทวนน้ำที่เชี่ยวกราก หากเราไม่มุ่งมั่นไม่เอาจริง เหนื่อยหน่อยก็หยุดพัก รามือจากการพาย กระแสน้ำก็จะพัดเรากลับไปที่เดิม หวนกลับมาพายใหม่ได้สักระยะก็พักอีก ก็จะเดินหน้าถอยหลังอยู่อย่างนี้ตลอดไป

เราต้องเอาจริงด้วยการเดินไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่น ไม่ท้อถอย ก้าวไปทีละก้าวอย่างมั่นคง ไม่ใช่ให้รีบเร่ง แต่ก็ไม่ใช่เอ้อระเหย

ไม่ใช่เคร่งเครียดหรือทรมานตัวเอง ในลักษณะที่เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค หรือติดอยู่กับความสุขสบาย ความสงบ แบบที่เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค แต่ให้อยู่ที่ความพอดี นี่ถึงจะเรียกว่าทางสายกลางตามความหมายของพระพุทธเจ้า

หลวงพ่อทูลสอนไว้ว่า “เราต้องทวนกระแสโลก เราจึงจะพบกระแสธรรม”

 

ที่มา : จะเสียอะไรถ้าได้ปฏิบัติธรรม – พระกรภพ กิตติปญฺโญ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

ภาพ : pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

ปรับตัว กับสิ่งใหม่อย่างไรไม่ให้ทุกข์ ข้อธรรม จากพระอาจารย์มานพ  อุปสโม

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.