นิพพานเทียมสำหรับคนที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์
โดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปัญโญ
พระอาจารย์ชาญชัย อธิปัญโญ ได้แสดงทรรศนะถึงเรื่องของ นิพพานเทียม ไว้ดังนี้
“นิพพาน…ที่นี่…เดี๋ยวนี้” หรือ “นิพพานในชีวิตประจำวัน” น่าจะหมายถึงนิพพานของคนที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ทัศนะเช่นนี้อาจไปกระทบความเห็นของผู้ที่ตีความนิพพานอย่างเคร่งครัดว่าคือการเข้าถึงอรหันตผลเท่านั้น แต่ถ้าให้พระอาจารย์ออกความเห็นก็สามารถอนุมานเปรียบเทียบจากพระสูตรได้ดังนี้
ใน คิริมานนทสูตร นั้น พระพุทธเจ้าทรงจัดนิพพานดิบและนิพพานสุกของพระอรหันต์เป็นโลกุตรนิพพาน ส่วนโลกิยะนิพพาน ได้แก่นิพพานพรหม เป็นต้น หมายถึงพวกที่ไปเกิดในพรหมโลก เช่น อรูปพรหม อันเป็นผลมาจากการทำสมาธิจนได้ฌาน จิตเข้าไปพักอยู่ในความสงบลึก แม้จะมีความสุขสงบก็เป็นเพียงห้วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ในพรหมโลกเท่านั้น หมดอายุขัยก็ยังต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก เพราะยังไม่หมดกิเลส และมีสิทธิ์พลาดพลั้งไปเกิดในอบายภูมิได้
สภาวะของนิพพานคือ สภาวะของจิตที่หมดกิเลสโดยถาวร ข้อนี้เป็นสภาวะจิตของพระอรหันต์ที่เรียกว่า “โลกุตรนิพพาน” แต่ถ้าเป็นปุถุชนคนทั่วไปแล้ว หากจิตว่างจากกิเลสยามใดก็เข้าถึงสภาวะนิพพานได้ยามนั้น
การว่างจากกิเลสในที่นี้ มิได้หมายถึงหมดกิเลส เพียงแต่กิเลสถูกข่มไว้ไม่ให้แสดงตัวออกมา ลักษณะนี้เป็น “โลกิยนิพพาน” หรือนิพพานของผู้ที่ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เป็นนิพพานชั่วคราว อาจจะเรียกว่า “นิพพานเทียม” เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายไม่สับสน
ในชีวิตประจำวันของปุถุชนที่ยังไม่หมดกิเลสนั้นยากที่จะเข้าถึงสภาวะนิพพานได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่หมั่นฝึกฝนอบรมจิตรู้ธรรมนำชีวิตแล้ว ก็อาจเข้าถึงสภาวะนิพพานเทียมได้เป็นบางช่วงบางเวลา เป็นต้นว่า เมื่อทำสมาธิเข้าถึงความสงบ จิตอยู่ในความว่างไม่มีความโลภ โกรธ หลง มีสันติสุขอยู่ภายในใจ สภาวะเช่นนี้ก็ได้สัมผัสกับสภาวะของนิพพาน แต่ถ้าหลุดจากสมาธิ จิตเข้าไปอยู่ในอารมณ์ของโลภ โกรธ หลงอีก ก็พ้นจากสภาวะของนิพพานไป
อันที่จริงแม้เรายังไม่หมดกิเลส แต่ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา กิเลสอยู่ในใจของเราก็จริง แต่ถ้าเราไม่เปิดโอกาสให้กิเลสทำงาน มันก็ไม่สามารถทำงานได้ เช่น เมื่อสัมผัสสิ่งใด จิตก็ไม่ปรุงแต่งสิ่งนั้นไปในทางโลภ โกรธ หลง
ส่วนคนที่ไม่ได้ถึงความสงบแห่งสมาธิ แต่หากทำใจให้ว่างจากกิเลสได้ ก็สัมผัสกับสภาวะของนิพพานได้ เป็นต้นว่าทำใจให้ว่างจากความคิด กิเลสก็ไม่เข้ามารบกวน แต่การทำใจว่าง ๆ นั้นทำได้ไม่นาน เพราะธรรมชาติของใจจะไม่ยอมอยู่นิ่ง ๆ ใจจะเข้าไปรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบหรือเข้ามาสัมผัสสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส หรือมีสิ่งที่กายได้สัมผัส เมื่อรับรู้แล้วก็คิดปรุงแต่งต่อสิ่งเหล่านั้น และต่อให้ไม่มีสิ่งใดเข้ามาสัมผัส ใจก็เผลอไปคิดถึงอดีตและอนาคตอยู่เนือง ๆ ความคิดนี่เองหากไม่ระมัดระวัง ก็เป็นช่องทางให้กิเลสเข้ามาครอบงำได้
ที่มา : นิพพาน…ที่นี่…เดี๋ยวนี้ – รวมนักเขียน อมรินทร์ธรรมะ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
ภาพ : pixabay