เปิดมุมธรรมะของช่างภาพชื่อดัง ธาดา วาริช ที่น้อยคนจะรู้
ธาดา วาริช ช่างภาพมือหนึ่งของประเทศ กับผลงานแนวถนัดคือถ่ายภาพเซ็กซี่ ที่ใครๆต้องยกนิ้วให้ว่าถ่ายออกมาได้สวย อย่างมีศิลปะ การทำงานต้องอยู่กับแสงแฟลช กล้องถ่ายภาพ และนางแบบเซ็กซี่ แต่จะมีใครรู้ว่า ธาดา วาริช ก็มีมุมธรรมะแอบซ่อนอยู่เช่นกัน
จุดเริ่มต้นของการสนใจธรรมะมาจากการปลูกฝังของคุณแม่
ตอนเด็กมักเข้าวัดกับคุณแม่เสมอ จริง ๆ ไม่ได้ตามหรอก เป็นวัตถุประสงค์ของคุณแม่มากกว่า คือด้วยความที่เราเป็นเด็ก น่าจะราวไม่ถึงสิบขวบ ตอนนั้นท่านก็เริ่มเข้าวัดแล้ว ท่านก็จะพาผมไปด้วย แต่ผมยังเด็ก รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง จำได้ว่าท่านปฏิบัติธรรมที่คณะ 5 วัดมหาธาตุฯ ตรงท่าพระจันทร์ ตอนนั้นพระธรรมธีรราชมหามุนี หรือหลวงพ่อเจ้าคุณโชดก ญาณสิทฺธิยังไม่มรณภาพ ผมจะเรียกท่านว่า “หลวงพ่อหนอ” เพราะท่านจะสอนปฏิบัติธรรมแบบยุบหนอ พองหนอ คุณแม่เป็นนักปฏิบัติ แต่ไม่ได้ยึดหรือฝากตัวว่าเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์ท่านไหนชัดเจน ตอนอยู่ที่บ้านท่านก็จะปฏิบัติช่วงเช้าและเย็น
ชีวิตตอนบวชเป็นพระ ความสุขท่ามกลางผืนป่าและขุนเขา
ตอนผมจะบวชเป็นอะไรที่วุ่นวายมาก มารผจญเยอะ (หัวเราะ) ผมวางแผนไว้ว่าจะบวชตอนอายุ 35 ปี แต่มีอันต้องเลื่อนมาเรื่อย ๆ เพราะติดงาน จนกระทั่งได้บวชตอนอายุ 39 ปี ชีวิตของผมมักมีมารผจญเข้ามาสองเรื่องคือ เรื่องไปทำบุญกับเรื่องเดินทาง ถ้ามีแผนจะทำบุญ ก็จะมีงานเข้ามามากมาย อย่างเรื่องบวชตั้งใจไว้ว่าจะบวชตอนอายุ 35 ปีก็ต้องเลื่อนเพราะงาน จนอายุ 39 ปี ถึงจะได้บวช ขนาดกำหนดวันไว้สำหรับช่วงเตรียมตัวเป็นพระ 7 วัน ก็ยังเหลือแค่ 5 วัน พอเสร็จจากงาน ลูกน้องต้องขับรถตู้มาส่งที่สำนักสงฆ์นาครัตนพลเลย ไม่ทันได้พัก เพื่อให้พระอาจารย์ที่สำนักสงฆ์สอนเรื่องการเตรียมตัวเป็นพระให้ทันก่อนบวชจริง
การบวชของผมไม่ได้บวชที่เดียวแล้วจบ ผมต้องเตรียมตัวเป็นพระที่สำนักสงฆ์นาครัตนพลก่อน แล้วจึงเข้าพิธีบวชที่วัดแห่งหนึ่งในอำเภอปากช่อง และมาจำวัดที่วัดเขาใหญ่ญาณสัมปันโน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นวัดป่าสายหลวงตามหาบัว ญาณสันปันโน เจ้าอาวาสคือ พระอาจารย์อุทัย สิริธโร ท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงตามหาบัว ผมรู้จักวัดนี้จากกลุ่มเพื่อนของคุณแม่ พวกท่านเป็นนักปฏิบัติ และชอบช่วยเหลือทำบุญกับวัดป่าและสำนักสงฆ์ที่เพิ่งก่อตั้ง
ผมเคยมาปฏิบัติธรรมที่วัดเขาใหญ่ฯบ้างกับคุณแม่ ชอบบรรยากาศของวัดที่สงบจึงขอคุณแม่บวชที่วัดนี้ แต่หลวงปู่เจ้าอาวาสท่านไม่บวชให้ ท่านจะบวชให้เฉพาะคนที่ไม่มีกำหนดสึกเท่านั้น จึงจำเป็นต้องไปจัดพิธีบวชพระที่วัดอื่นก่อนแล้วมาจำวัดที่นี่
ผมรู้สึกดีที่ได้มาจำวัดนี้ เพราะหลวงปู่เจ้าอาวาสท่านพยายามคงวิธีการอะไรหลาย ๆ อย่างเอาไว้ เพื่อเป็นไปตามพระวินัย เช่น การย้อมสีจีวรเองจากเม็ดขนุน ตอนผมเป็นพระก็ย้อมผ้าจีวรเอง จำได้ว่าตอนแรกที่ช่วยย้อมยังถูกน้ำลวกมือเลย เพราะต้องใช้มือเปล่า เพราะที่วัดไม่ใช้เทคโนโลยี และพระที่นั่นจะดำเนินวิถีชีวิตในแบบดั้งเดิมมาก
กิจวัตรที่ทำทุกวันตอนอยู่วัด ต้องตื่นตอนตีสามขึ้นมาทำความสะอาดวัด ศาลา เตรียมอาสนะของพระ และกวาดถูศาลาของหลวงปู่ หลังจากนั้นก็จะทำวัตรเช้าที่กุฏิเพื่อเตรียมตัวออกบิณฑบาต ช่วยวัดสร้างเตาเผาขยะ พระจะสร้างอะไรด้วยตนเอง พระต่างจังหวัดจึงมีความเป็นช่าง จะสังเกตได้ว่าพระต่างจังหวัดมีร่างกายแข็งแรง อย่างพระอาจารย์ของผมที่สำนักสงฆ์นาครัตนพล ตอนออกบิณฑบาตท่านเดินเร็วราวกับวิ่งเลย ผมตามไม่ทัน แล้วต้องเดินบนก้อนหิน ผมถึงกับส้นเท้าแตก เพราะหินมันคมมาก บวชช่วงสองสัปดาห์แรกกิจวัดเยอะมาก ทำให้ผมปฏิบัติได้น้อย ทางวัดทราบว่าผมบวชแค่เดือนเดียว จึงลดภาระงานของผมลง เพื่อให้ผมได้อยู่กับการปฏิบัติอย่างจริงจังมากขึ้น ตอนปฏิบัติพระอาจารย์จะปิดวาจา ให้เราสังเกตกับปฏิบัติ ให้เรียนรู้เอง ท่านจะไม่สอนอะไร แต่ถ้าท่านพูดเมื่อไรก็คือท่านดุเตือนว่าเราเท่านั้น (หัวเราะ)
การบวชในช่วงแรกบอกเลยว่าต้องใช้เวลาปรับตัวถึงสองสัปดาห์ แต่พอเข้าสู่สัปดาห์ที่สาม ชีวิตมันลงตัวมาก เป็นช่วงเวลาที่มีความสุข ถึงขนาดคิดว่ามันดีจนไม่ต้องกลับมาใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯอีกต่อไป ในวันสุดท้ายพระอาจารย์รูปหนึ่งเรียกผมไปคุยถึงสองชั่วโมงครึ่ง โดยหนึ่งเดือนแทบจะไม่ได้คุยกับผมเลย ผมถามพระอาจารย์ว่า “พระอาจารย์ดึงผมไม่ให้สึกทำไม” พระอาจารย์ว่ากรณีของผมเหมือนกับท่าน คือมีกำหนดสึกแน่นอน แต่สุดท้ายพระอาจารย์ก็ไม่สึก อาจารย์เมตตาแนะนำวิธีสึกมาให้เสร็จสรรพเลย ท่านบอกว่า “ใช้โทรศัพท์อย่างเดียวพอ” (หัวเราะ) ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้ทางครอบครัวจัดการ คือให้ฝ่ายคุณแม่เป็นคนตัดสินให้ ผมจึงโทรไปหาคุณแม่ ท่านก็บอกให้สึก เพราะการบวชครั้งนี้เราทำเพื่อท่าน คุณแม่ให้สึก ผมจึงสึกออกมา ผมคิดว่าถ้าเราอยู่กับความสงบที่เป็นความสุขของเรานี่แล้ว มีคนลำบากใจอยู่ข้างหลัง แสดงว่าผมเป็นคนที่เห็นแก่ตัว
ชีวิตหลังบวช
ผมมักระลึกถึงสิ่งที่กระทำตอนเป็นพระอยู่เสมอ เช่น กิจของสงฆ์ที่เคยทำ ระเบียบของวัดที่เราปฏิบัติ แม้แต่การฉัน การจำวัด หรืออะไรหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ผมนำวิธีเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ แม้ว่าบางครั้งมันจะทำได้บ้างทำไม่ได้บ้างก็ตาม เพราะสภาพแวดล้อมในตอนนี้ไม่อำนวย อย่างเรื่องของวินัยและเวลา ตอนเป็นพระสามารถทำได้เต็มที่กว่า เพราะมีกฎระเบียบของวัดและสภาพแวดล้อมที่มันเอื้ออำนวย ตอนนี้ทำได้ยากกว่า แต่ถ้าหากทำได้ ผมจะรู้สึกว่าผมเก่งกว่าตอนที่เป็นพระเสียอีก
เมื่อผมกลับมาสู่โลกสายงานโลกีย์อีกครั้ง (หัวเราะ) ก็ปรับตัวไม่ยากนัก เพราะมันเป็นโลกที่ผมเคยอยู่มา แต่ด้วยสายงานมันเป็นแนวนี้ มันจึงทำให้ผมเห็นธรรมะได้ชัดกว่าคนทั่วไป และเข้าใจว่าการที่ผมสามารถปฏิบัติธรรมได้ค่อนข้างง่าย เพราะผมอยู่กับอาชีพที่มันตรงข้ามกับธรรมะมากนี่เอง
แบ่งปันเวลาให้กับการปฏิบัติธรรม
มาปฏิบัติจริงจังก็ตอนอายุ 30 ปี มีเข้าคอร์สบ้างแบบ 4 วัน 5 คืน อยู่หลายครั้ง การปฏิบัติธรรมครั้งแรกไปปฏิบัติธรรมที่จังหวัดระยอง สถานที่ปฏิบัติธรรมอยู่ในป่า ตอนนั้นตามคุณแม่ไปปฏิบัติด้วย เพราะอาจารย์ที่สอนวิปัสสนาเป็นเพื่อนกับคุณแม่ ตอนปฏิบัติเหมือนพบกับอะไรที่มันแปลกใหม่ เพราะตลอดชีวิตผมหาความรู้ด้วยการเคลื่อนไหว แต่สำหรับ
วิปัสสนาคือ เราไม่ต้องเคลื่อนไหว เราไม่ต้องเดินทาง เราไม่ต้องพูด เราไม่ต้องกระทำใดใดเลย แต่เรากลับได้เรียนรู้สิ่งใหม่จากการนิ่งสงบ หลายคนอาจเข้าหาความสงบจากวิปัสสนาเพราะมีความทุกข์ แต่ผิดกับผมที่เข้าหาเพราะอยากเรียนรู้
ผมผ่านการปฏิบัติธรรมมาหลายรูปแบบ พุทโธ นับเลข ยุบหนอ พองหนอ เคยลองมาแทบทุกวิธีซึ่งก็มีผลดีแตกต่างกันไป แต่ผมมองว่าการปฏิบัติในแต่ละรูปแบบมันจะดีก็ต่อเมื่อ การปฏิบัตินั้นถูกจริตกับเรา ผมทำทุกรูปแบบแต่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพราะจิตมันคุ้นเคยกับคำบริกรรมเดิมนานเกินไป ทำให้จิตผมไม่อยู่กับคำบริกรรม จึงต้องเปลี่ยนคำบริกรรมไปเรื่อย ๆ เคยบริกรรมยุบหนอ พองหนอ พอจิตไม่อยู่กับคำบริกรรม ไปคิดฟุ้งซ่านอย่างอื่น ผมก็จะเปลี่ยนมาบริกรรมพุทโธ เพื่อให้จิตอยู่กับคำบริกรรม แต่เมื่อจิตไม่หยุดอยู่กับคำบริกรรมใดเลย ผมก็ให้จิตหยุดอยู่กับการนับชีพจรแทน ทำไมถึงให้จิตมาหยุดกับการกระตุ้นของชีพจร เพราะว่าการให้อยู่กับลมหายใจด้วยการบริกรรมคำต่าง ๆ ไม่ต่างจากการไปบังคับจิตให้อยู่ตรงนั้น และการหายใจก็จะไม่เป็นธรรมชาติ เราปล่อยให้การหายใจเป็นไปตามธรรมชาติของมัน แล้วให้จิตไปอยู่กับการเต้นของชีพจรที่มันเต้นอย่างคงที่ของมันอยู่แล้วจะดีกว่า
ส่วนใหญ่ผมจะปฏิบัติธรรมที่บ้าน เพราะบ้านผมเงียบ เหมาะสำหรับการปฏิบัติมาก ผมมองว่าเราสามารถปฏิบัติธรรมที่ไหนก็ได้ ตอนนี้เริ่มอยู่กับการปฏิบัติโดยที่ไม่ต้องมีคนมาแนะนำแล้ว การเข้าคอร์สอาจเหมาะสำหรับคนที่ยังกำหนดไม่เป็น หรือไม่อยากปฏิบัติคนเดียว ก็แล้วแต่จริตของแต่ละคน ส่วนตัวผม ผมรักสันโดษมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว จึงเลือกปฏิบัติคนเดียว เพราะมันได้ผลมากกว่า
การนำธรรมะมาใช้ในชีวิต
ทุกวันนี้พยายามนำธรรมะจากการปฏิบัติและตอนบวชมาใช้ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง สลับกันไป เพราะอย่างที่บอกว่ามารมันเยอะ ผมเข้าใจนะว่าการที่มีมารเยอะ เท่ากับเป็นโอกาสให้ผมได้ฝึกฝน แต่ผมไม่ใช่คนเก่ง หลังจากไปบวชมา ผมเข้าใจเลยนะว่าทำไมพระต้องเดินธุดงค์ ทำไมพระพุทธเจ้าทรงสอนให้เดินธุดงค์ แล้วต้องธุดงค์ในป่าที่เงียบสงบ เพราะบรรยากาศและสถานที่มันเอื้ออำนวย พระท่านจึงฝึกฝนจิตได้ไม่ยาก ทำให้สามารถปฏิบัติได้ง่าย ถ้ากลับมาในชีวิตของการทำงานหรือสังคมของคนธรรมดา สิ่งเร้ามันมาก จึงยากที่จะปฏิบัติได้
ตัวตนของธาดา วาริช ระหว่างโลกแห่งความสงบกับโลกแห่งโลกีย์
ไม่ว่าจะเป็นธาดาในโลกแห่งความสงบหรือธาดาในโลกแห่งโลกีย์ ก็คือตัวผมทั้งคู่ ถ้ามองกันตามจริงมันก็คือตัวผม ผมมีทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องที่ไม่ดีผสมอยู่ในตัวธาดา วาริช สำหรับคนที่รู้จักผมในชื่อของ ธาดา วาริช กับคนที่รู้จักผมในแบบที่เป็นผม ผมค่อนข้างมั่นใจว่าสองคนนี้ต้องรู้สึกต่อผมคนละแบบ เช่น คนที่รู้จักผมในชื่อของธาดา วาริชจะเข้าใจว่าผมเป็นแบบนั้น ในแบบที่เป็นโลกีย์
ผมอยากให้มองว่าธาดา วาริช คือกลไกของงานที่ผมสร้างขึ้น แต่ตัวผมก็เป็นตัวผมเหมือนเดิม
ธาดา วาริชทำหน้าที่รับหน้ากับสังคมแฟชั่น แต่ตัวผมอยู่บ้าน เลี้ยงสุนัข ซ่อมรถ นี่คือตัวผม ไม่ใช่ธาดา วาริช ซึ่งเขาจะไม่ทำแบบนี้
ความสุขสำหรับธาดา วาริช
คือการอยู่นิ่งอย่างสงบ มีจิตที่สงบนิ่งกับทุกเรื่อง ถ้าผมถูกโกง หรือเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่ดี แต่จิตสงบนิ่ง ผมก็จะมีความสุขมาก ซึ่งผมจะรักษาสภาพของจิตที่นิ่งสงบนี้ให้คงที่อยู่เสมอ ซึ่งผมก็กำลังฝึกฝนอยู่ ผมเชื่อว่าการฝึกซ้อมมีผล ผมจึงพยายามทำ เพราะถ้าเรามีจิตที่สงบนิ่งแล้วไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดจะเป็นโลกแห่งธรรมะหรือโลกแห่งโลกีย์ ผมก็เป็นสุข และไม่อยากให้คนรอบข้างเราเป็นห่วง อยากให้เขาสบายใจ อย่างตอนนี้เขาอยากให้ผมมีการงานที่มั่นคงกว่านี้ เพราะงานฟรีแลนซ์มันอันตรายอย่างที่เราทราบกันดี และอาชีพแบบผมมันมีอายุของงาน ตอนนี้ผมพยายามทำธุรกิจอื่นอยู่บ้าง
หากทำได้ตามนี้ทั้งหมด มันก็คือความสุขของผมแล้ว
เรื่อง : ธาดา วาริช
ผู้เขียน : ชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์
ช่างภาพ : สรยุทธ พุ่มภักดี
บทความน่าสนใจ
พุทธจิตวิทยา สู่ความงามสง่าที่แท้จริง
ทำงานด้วย จิตว่าง ทำอย่างไร พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ มีคำตอบ
การพัฒนาจิต 2 วิธี ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน บทความธรรมะจากพระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ
วิธีฝึกจิต เพิ่มไอคิว สู้งานหนักป้องกันอัลไซเมอร์ก่อนวัย
หากกลัวความทุกข์ จงข่มจิตให้อย่ากลัวความทุกข์ คำแนะนำจากแม่ชีศันสนีย์