ขอสู้

True Story : ขอสู้ ตราบลมหายใจสุดท้าย

True Story : ขอสู้ ตราบลมหายใจสุดท้าย
1
ตั้งแต่จําความได้ ฉันก็รู้ว่าตัวเองเป็นภาระของพ่อแม่
2
ฉันเกิดในครอบครัวชาวสวนผลไม้ เป็นพี่สาวคนโตของบ้านที่พ่อแม่หมายมั่นให้เป็นที่พึ่งพิงของน้อง ๆ ทั้งสี่และเป็นแรงหลักในการทํางานช่วยพ่อแม่หาเลี้ยงครอบครัว
3
ทว่าฉันเกิดมาไม่แข็งแรง ป่วยกระเสาะกระแสะมาตั้งแต่เด็ก จึงช่วยงานอะไรไม่ค่อยได้ ขนาดยังไม่ทันลงมือลงแรงหรือออกไปทํางานตากแดดตากลม เลือดกําเดาก็ไหลไม่หยุดเสียแล้ว เรื่องงานหนักไม่ต้องพูดถึง ฉันจึงทําได้เพียงงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น
4
แม้จะดูแลตัวเองดีแค่ไหน แต่ความเจ็บป่วยกลับไม่เคยปรานี ต้องทนเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่อยมา และหากป่วยหนักจนต้องออกไปหาหมอเมื่อไหร่มักกลายเป็นเรื่องใหญ่เสมอ เพราะบ้านของฉันอยู่ในสวนแถบชานเมือง การเดินทางลําบาก แม่ต้องพายเรือออกมาตามคลองประมาณ 1 กิโลเมตร จากนั้นต้องอุ้มฉันลัดเลาะออกมาตามทางเดินลูกรังแคบ ๆ เพื่อไปที่ป้ายรถเมล์ กว่าจะต่อรถไปถึงโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก็ใช้เวลานานหลายชั่วโมง
5
การพาฉันไปหาหมอแต่ละครั้งเท่ากับเสียเวลาทํางานของแม่ไปหนึ่งวัน ทําให้ฉันยิ่งรู้สึกผิดมากขึ้นไปอีก
6
ยิ่งโตฉันก็ยิ่งไม่แข็งแรง บางครั้งแค่เป็นหวัดกลับต้องนอนซมถึง 3 วัน จึงต้องขาดเรียนบ่อยจนเรียนตามเพื่อนไม่ทัน ซ้ํายังทํากิจกรรมเหมือนกับเพื่อนวัยเดียวกันไม่ได้ หากเป็นวิชาพละ ฉันได้แต่นั่งมองเพื่อน ๆ เล่นกีฬากันในสนาม เพราะไม่มีแรงไปออกกําลังกายกับคนอื่น ตอนนั้นฉันไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคอะไร รู้เพียงว่าใคร ๆ ก็เรียกว่าฉันเป็น “เด็กขี้โรค”
7
และสุดท้ายอาการของโรคร้ายก็ปรากฏ
8
ปีนั้นฉันอายุ 9 ขวบ ท้องเริ่มพองโต และค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นจนติดกระดุมเสื้อไม่ได้ แม่จึงพาไปโรงพยาบาลแถวบ้าน แต่รักษาไม่หาย จึงต้องเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ซึ่งต้องนอนดูอาการหนึ่งเดือนแต่ก็ไม่ดีขึ้น ต่อมาจึงมีคนแนะนําให้มารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
9
เมื่อได้ตรวจร่างกายอย่างละเอียด จึงรู้ว่าเป็นโรคธาลัสซีเมียและมีภาวะตับโตตั้งแต่กําเนิด ร้ายแรงขนาดที่อาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนตับด้วยซ้ํา คุณหมอขอนัดดูอาการและรักษาต่อเนื่อง พร้อมกําชับให้ดูแลเรื่องอาหารการกินให้ดี ที่บ้านพาฉันมารักษาได้สักปีสองปีก็ต้องหยุดไป เพราะการเดินทางเข้ากรุงเทพฯลําบาก ทั้งยังมีปัญหาเรื่องเงิน นอกจากต้องหยุดรักษาตัวแล้วฉันยังต้องหยุดเรียนไปด้วย
10
ถึงอย่างไรจบ ป. 6 ก็ยังอ่านออกเขียนได้
11

ฉันได้แต่ปลอบใจตัวเองไปอย่างนั้น และจํายอมตัดเรื่องเรียนออกไปจากใจ ทั้งที่อยากจะเรียนต่อเหมือนกับเพื่อน ๆ และฝันว่าอยากเรียนให้สูงที่สุดเพื่อจะได้มีงานดี ๆ มีเงินเยอะ ๆ มาเลี้ยงดูพ่อแม่ได้

12
เมื่อไม่ได้ไปเรียนหนังสือ ฉันก็ต้องจับเจ่าอยู่บ้านทั้งวัน จะออกไปช่วยงานพ่อแม่ก็ทําไม่ไหว ได้แต่เสียใจและรู้สึกผิดอยู่เสมอ จนสุดท้ายก็ทนอยู่กับความรู้สึกว่าเป็นภาระของครอบครัวไม่ไหว จึงขอไปอาศัยอยู่กับป้า ไปช่วยทําความสะอาดบ้านและเฝ้าบ้านให้ท่าน แม้จะอยู่ไม่ไกลจากบ้านตัวเองนัก แต่ช่วยคลายความทุกข์ใจที่มีได้ไม่น้อย
13
ฉันพยายามดูแลตัวเองโดยไม่ขอความช่วยเหลือจากใคร แต่เมื่อไม่สามารถหาเงินเองได้ก็ต้องอยู่อย่างเจียมตัว เวลาผมยาวก็พยายามหัดตัดเอง เสื้อผ้ามีสองสามชุดก็ใส่ซ้ําไปซ้ํามาแค่นั้น แม้จะขาดก็ปะชุนแก้ไขไป ไม่เคยคิดอยากได้ของใหม่ จนเพื่อนบ้านเห็นแล้วสงสารจึงมาสอนเย็บเสื้อเย็บกางเกงให้ ทั้งยังมอบจักรเย็บผ้าให้อีกด้วย ฉันซึ้งน้ําใจของพวกเขามาก แม้ไม่ใช่ญาติพี่น้อง  แต่ก็เมตตาสงสารและช่วยเหลือฉัน
14
ส่วนข้าวปลาอาหารก็ไม่กล้าขอกินกับป้า หากไม่มีใครมีน้ําใจให้มา ฉันก็เก็บลูกมะพร้าวที่ตกในสวนมาขูดทําน้ํากะทิ ต้มกับกล้วยอ่อน ๆ กินประทังชีวิตไปวัน ๆ ทั้งที่จําได้ว่า หมอกําชับให้ดูแลเรื่องอาหารการกินให้ดี แต่จะทําอย่างไรได้ หากไม่กินของพวกนี้ฉันก็คงต้องอดตายแน่ ๆ
15
และแล้วเมฆร้ายก็พัดผ่านเข้ามาอีกครั้งเมื่อฉันอายุได้ 21 ปี
16
วันหนึ่งฉันปวดท้องอย่างรุนแรงมากจนทนไม่ไหว ทางบ้านต้องเหมารถพามาส่งที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ฉันถูกเจาะตับเพื่อตรวจรักษาอาการตับโตที่เป็นอยู่ ระหว่างนั้นมีเลือดออกในช่องท้องไม่หยุดจึงต้องผ่าตัดเย็บแผลให้ติดกัน เมื่อฟื้นขึ้นมาฉันได้แต่คิดว่า
17
เราคงไม่ได้กลับบ้านแล้วละ เราคงจะต้องตายอยู่ที่นี่
18
ฉันคิดเช่นนั้นเพราะเจ็บปวดทรมานกับบาดแผลผ่าตัด ทั้งยังไร้เรี่ยวแรงที่จะขยับร่างกาย วัน ๆ ต้องนอนอยู่อย่างเดียวดาย ยิ่งต้องรักษาตัวนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งกังวลกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มพูนขึ้น ไม่รู้จะหาเงินมาจ่ายได้อย่างไร
19
โชคดีเหลือเกินที่ในขณะนั้นมูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เข้ามาโอบอุ้มช่วยเหลือ คนยากไร้เช่นฉันจึงมีชีวิตรอดมาได้
20
การผ่าตัดครั้งนี้ฉันต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลถึง 2 เดือนจึงกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้าน แต่กลับมาได้สักพักอาการก็ไม่ดีขึ้น เพราะมีอาการหอบหายใจไม่สะดวก และกินอาหารไม่ลง เมื่อกลับมาตรวจอีกครั้งจึงพบว่าเป็นโรคตับชนิดที่ไม่สามารถกินข้าวหรืออาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตได้ ต้องกินนมชงชนิดพิเศษไปตลอดชีวิต
21
นมชงชนิดพิเศษที่ว่านี้คืออาหารสําหรับผู้ป่วยที่ร่างกายไม่สามารถสะสมอาหารจําพวกแป้งได้ เมื่อชงแล้วนมจะเหนียวข้นเหมือนแป้งข้าวโพด ฉันเรียกเอาเองว่า “นมแป้ง” เมื่อชงเสร็จต้องแช่ขวดไว้ในน้ําแข็งและดื่มให้หมดภายใน 6 ชั่วโมง แต่นมแป้งไม่ได้อร่อยนักหรอก กว่าจะกลืนลงคอได้ก็แสนยากเย็น ทั้งมันยังเกาะลิ้น ฟัน และช่องปากไปหมด และน้ํานมยังเย็นยะเยือก ทําให้ร่างกายที่อ่อนแอของฉันหนาวสั่นจนต้องหาถุงน้ําร้อนมากอดอยู่เสมอ
22
หลายครั้งที่ฉันไม่อาจทนดื่มจนหมดได้ ทําให้ร่างกายอ่อนเพลียเซื่องซึม เพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ คุณหมอจึงให้สอดสายให้อาหารเข้าทางโพรงจมูก เพื่อให้นมหยดเข้าร่างกายทีละน้อยและไม่ต้องฝืนกลืนนม แต่ก็ต้องยอมเจ็บระบมในคอ ต้องกินยาแก้อักเสบเป็นประจํา ใช้เวลาประมาณหนึ่งปีจึงจะคุ้นเคยกับการใส่และถอดสายให้อาหารนี้
23
นานเข้าฉันก็ยอมรับได้ว่าสายให้อาหารที่ต่อขวดใส่นมแป้งเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย แม้ออกไปข้างนอกจะเจอหลายสายตาที่จ้องมองมาด้วยความสงสัย แปลกใจ หรือแม้แต่สงสาร แต่ฉันก็พยายามไม่สนใจ จนในที่สุดก็ชินกับสายตาเหล่านั้นไปในที่สุด
24
ยี่สิบกว่าปีหลังผ่าตัดใหญ่ครั้งนั้น ฉันต้องทนกับอาการป่วยทางกายที่ไม่มีทีท่าว่าจะหายเรื่อยมา หากไม่ป่วยหนักจนต้องนอนโรงพยาบาล ก็ต้องเข้ามาตรวจติดตามอาการที่โรงพยาบาลเดือนละ 2 ครั้ง และเดินทางมาเพียงลําพังเสมอ แม้ต้องมารอตรวจทั้งวัน แต่ฉันมักได้กําลังใจดี ๆ จากแพทย์และพยาบาลทุกท่านเสมอ อาจารย์หมอและมูลนิธิรามาธิบดีฯต่างก็ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ตลอดมา ทั้งเรื่องการรักษา ค่าใช้จ่าย รวมไปถึงการเดินทางด้วย
25
แต่ละครั้งที่มาโรงพยาบาล ฉันจะได้รับยากลับบ้านเป็นจํานวนมากจนต้องใส่กล่องใบใหญ่ ไหนจะมีนมแป้งอีกหลายลัง ครั้งไหนที่มีรถของโรงพยาบาลไปส่งก็กลับได้สะดวก แต่มีบางครั้งฉันเกรงใจ ไหว้วานคนรู้จักขับรถกระบะมารับเอง โดยวางกล่องยาและนมไว้ที่กระบะรถ แต่ถ้าระหว่างทางฝนตก ฉันก็ต้องรีบเก็บยามาไว้ด้านหน้าและยอมนั่งตากฝนกลับบ้านไปก็มี
26
ฉันรู้ว่ายาเหล่านี้ราคาแพงมาก และรู้ว่าค่าใช้จ่ายที่ทางมูลนิธิรามาธิบดีฯช่วยเหลือนั้น มาจากน้ําใจของคนจํานวนมหาศาล ฉันจึงต้องรักษายาเหล่านี้ไว้ให้ดีที่สุด และใช้ให้คุ้มค่าที่สุด เพื่อตอบแทนความช่วยเหลือของทุกคน
27
ตอนนี้ฉันอายุ 47 ปีแล้ว ร่างกายยิ่งทรุดโทรมและอ่อนแอไปตามวัย ตาเริ่มมองไม่เห็น ซ้ํายังมีอีกหลายโรครุมเร้าเข้ามาอีก ทั้งนิ่วและซีสต์ในมดลูก แต่ผ่าตัดไม่ได้ เพราะร่างกายไม่แข็งแรงและมีภาวะเลือดไหลไม่หยุด จึงต้องรักษากันไปตามอาการ
28
ถึงจะรู้ความจริงที่ว่า ตัวเองไม่อาจหายขาดจากโรคใดโรคหนึ่งที่เป็นอยู่ แต่ฉันก็ไม่เคยท้อแท้เลยสักครั้ง ฉันมีความหวังว่าต้องแข็งแรงกว่าเดิมให้ได้ เพื่อจะได้ช่วยงานที่บ้านได้ดังที่ตั้งใจไว้มาโดยตลอด
29
บ่อยครั้งฉันเคยได้ยินคนพูดว่า คงเป็นเวรเป็นกรรมที่ฉันเคยทําไว้ ทําให้ต้องมาป่วยไม่หายอยู่อย่างนี้ ฉันไม่รู้ว่าเคยทําอะไรใครมาตั้งแต่ชาติไหน หากเป็นเวรกรรมอย่างที่คนพูดกันจริง ฉันก็ขอชดใช้ให้หมดไปในชาตินี้
30

ที่ผ่านมาฉันพยายามทําบุญอยู่เสมอ เมื่อก่อนฉันเคยพายเรือออกไปทําบุญที่วัดอยู่บ่อยครั้ง แต่ 5 – 6 ปีมานี้ ฉันพายเรือไปไหนมาไหนเองไม่ค่อยไหว ครั้งหนึ่งเคยเตรียมอาหารไปใส่บาตร แต่เรี่ยวแรงของฉันน้อยนัก จึงพายเรือได้ช้า ไปถึงวัดก็เลยเวลาเสียแล้ว กลับมาบ้านยังปวดเนื้อปวดตัวและป่วยไปอีกหลายวัน

31
สิ่งที่ฉันทําได้ในตอนนี้คือ สวดมนต์ไหว้พระก่อนนอนทุกคืน ขอให้พระท่านคุ้มครองให้ฉันอยู่รอดปลอดภัย
32
ส่วนชีวิตที่เหลืออยู่นี้ ฉันขอสู้กับความเจ็บป่วยทั้งหลายไปตราบจนลมหายใจสุดท้ายที่มี
33

ร่วมสมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดีฯในโครงการกองทุนเพื่อผู้ป่วยยากไร้ได้ที่

• ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีกระแสรายวัน สาขารามาธิบดี เลขที่ 026-3-05216-3
• ธนาคารกรุงเทพ บัญชีกระแสรายวัน สาขาอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เลขที่ 090-3-50015-5
• ธนาคารกสิกรไทย บัญชีออมทรัพย์ สาขาอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เลขที่ 879-2-00448-3

แง่คิดจากพระพรพล ปสันโน วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

ชีวิตแต่ละชีวิตแตกต่างกันโดยมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นกําเนิด และมีกรรมเป็นผู้ติดตาม แม้พี่น้องท้องเดียวกันหรือเป็นฝาแฝดกันยังแตกต่างกัน ไม่มีใครเหมือนกันทุกอย่าง การเกิดมาเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก เมื่อเกิดมาแล้วต้องเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์
34
แม้ในบางครั้งชีวิตจะไม่สมบูรณ์แบบ ก็ไม่ควรน้อยเนื้อต่ําใจ เพราะโชคดีแล้วที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ แม้ร่างกายอาจไม่สมบูรณ์แบบดังใจต้องการ แต่การได้มีชีวิตอยู่ก็เป็นโอกาสให้เราได้เจริญสติภาวนา
35
พระอาจารย์หลายรูปได้ใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาส คือเมื่อเจ็บป่วยหรืออาพาธก็ใช้โอกาสนั้นในการเจริญสติภาวนา อยู่กับตัวเอง ได้ดูลมหายใจ ได้พิจารณาร่างกายว่าเป็นของไม่เที่ยง ได้เห็นและเข้าใจความจริงของชีวิต ได้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องออกไปวุ่นวายกับโลกภายนอก
36
การมีสติรู้อยู่กับปัจจุบัน การประคองอารมณ์ไม่ให้หงุดหงิดหรือขุ่นมัว แม้ในขณะเจ็บป่วยเป็นการปฏิบัติธรรมชั้นเยี่ยม ถ้าเราสามารถทําแบบนี้ได้บ่อยๆ จะทําให้เกิดความเคยชินและทําให้เรายอมรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้วเราก็สามารถใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันต่อไปได้อย่างมีความสุข แม้กายจะป่วย แต่ใจไม่ป่วย
37
ขอเป็นกําลังใจให้ผู้เจริญสติได้บรรลุมรรคผลนิพพาน สมควรแก่บารมีของทุกคนทุกท่านเทอญ
00

ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 198

เรื่อง : จิต
เรียบเรียง : เชิญพร คงมา

photo by free-photos on pixabay

Secret Magazine (Thailand)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.