ส.ชิโนรส

วิธีการรักษาความเจ็บป่วยอย่างพุทธะ บทความธรรมะโดย ท่าน ส.ชิโนรส

บทความธรรมะโดย ท่าน ส.ชิโนรส – พระป่ารูปหนึ่งเคยเล่าประสบการณ์ส่วนตัวแก่ผู้เขียนว่า เวลาท่านเดินธุดงค์อยู่กลางป่าเขาลำเนาไพร หากเจ็บป่วยขึ้นมาอย่างกะทันหัน ไม่สามารถหาหยูกหายามารักษาได้ทัน ท่านจะเข้าสมาธิจนกระทั่งดับความรู้สึกในตัวทั้งหมด เหลืออยู่แต่ตัวรู้ในจิตเพียงอย่างเดียว พักจิตอยู่ในสภาวะนั้นจนพอควรแล้วถอนออกมา อาการเจ็บป่วยของท่านก็หายเป็นปลิดทิ้ง

ประสบการณ์ของพระป่าทำให้ผู้เขียนนึกถึงการสนทนาธรรมระหว่างพระศาสดา นกุลบิดาคฤหบดี และพระสารีบุตร การสนทนาธรรมครั้งนี้ได้ยืนยันถึงสิ่งที่พระป่ารูปนี้พูดได้เป็นอย่างดีว่า “แม้กายเราจะเจ็บป่วย แต่เราสามารถทำใจไม่ให้ป่วยได้ ใจที่ไม่ป่วยยังรักษาโรคกายได้อีกด้วย”

สมัยหนึ่งคฤหบดีชื่อนกุลบิดาปรับทุกข์กับพระศาสดาว่า “โยมพ่อแก่เฒ่าแล้ว ร่างกายก็ทรุดโทรม เจ็บป่วยกระเสาะกระแสะ ลูกรักมีคำชี้แนะอะไรบ้างไหมพระพุทธเจ้าข้า” การที่คฤหบดีเรียกพระศาสดาว่า “ลูกรัก” เพราะท่านเคยเป็นพ่อและญาติของพระพุทธองค์มากกว่าพันชาติ ด้วยความรักความผูกพันที่เคยมีต่อกันมาอย่างยาวนาน คฤหบดีจึงเรียกพระพุทธองค์ด้วยความคุ้นปากว่า “ลูกรัก”

“กายคนช่างเปราะบางเหมือนกับฟองไข่นะท่านคฤหบดี” พระศาสดาตรัสปลอบคฤหบดีด้วยพระสุรเสียงที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา ขณะเดียวกันพระองค์ก็ตรัสปริศนาธรรมสั้น ๆ แก่คฤหบดีว่า

“กายจะป่วยก็ช่างมันเถอะ แต่อย่าได้ป่วยใจก็แล้วกัน”

ว่าแล้วก็ประทับนิ่งอยู่ ฝ่ายคฤหบดีได้ฟังเช่นนั้นก็ไม่ซักถามเพื่อความกระจ่างชัด เพราะมัวแต่ปลื้มปีติอยู่กับพระสุรเสียงอันไพเราะของพระองค์

หลังจากเสร็จสิ้นการสนทนากับพระศาสดาแล้วเดินทางออกจากวัด คฤหบดีจึงฉุกคิดขึ้นได้ถึงสิ่งที่เพิ่งสนทนากับพระพุทธองค์ “ป่วยกาย แต่อย่าป่วยใจ หมายความว่าอย่างไรกันหนอ” คฤหบดีสงสัย แต่จะกลับไปถามพระศาสดาอีกครั้งก็ไม่ทันเสียแล้ว เพราะพระองค์เสด็จหลีกหนีไปนานแล้ว

ขณะที่กำลังครุ่นคิดหาคำตอบอยู่นั้น คฤหบดีก็ได้ยินเสียงพระรูปหนึ่งทักมาแต่ไกลว่า “ท่านคฤหบดีเดินทางมาจากไหนหรือ วันนี้ดูสีหน้าท่าทางสดชื่นกว่าทุกวันเลยนะ” เมื่อคฤหบดีเหลียวไปดูก็รู้ว่าเป็นพระสารีบุตร

“โยมเพิ่งสนทนากับพระศาสดาครับท่าน” คฤหบดีแสดงความดีใจเมื่อได้พบกับพระสารีบุตรโดยบังเอิญ

“คุยเรื่องอะไรกันหรือ ท่านคฤหบดี”

“เรื่องการเจ็บป่วยของโยมนั่นแหละ แต่ก่อนจาก พระศาสดาตรัสเป็นปริศนาธรรมสั้น ๆ ว่า ป่วยกายได้ แต่อย่าป่วยใจ ครับท่าน”

“อืม…ท่านคฤหบดีเข้าใจว่าอย่างไรหรือ”

“ออ…โยมก็คิดไม่ออกเหมือนกัน มัวแต่คุยอยู่กับพระศาสดาจนเพลินเลยลืมถามพระองค์ให้กระจ่าง พระคุณเจ้าถามก็ดีแล้ว โยมอยากจะรู้คำตอบจากพระคุณเจ้าอยู่เหมือนกัน” คฤหบดี

“อ้าว…ทำไมคฤหบดีไม่ถามพระศาสดาเสียล่ะ นี่ถือว่าทิ้งทองคำมาเอาตะกั่วนะ” พระสารีบุตรตำหนิคฤหบดีเชิงเปรียบเทียบ “ถ้าเช่นนั้น ท่านคฤหบดีฟังให้ดีก็แล้วกัน อาตมาจะลองอธิบาย” พระสารีบุตรพูดด้วยความถ่อมตัว

“ในโลกนี้มีคนอยู่ 2 ประเภท คือ คนป่วยกายและป่วยใจ กับคนป่วยกายแต่ไม่ป่วยใจ” พระสารีบุตรเริ่มสาธยายพร้อมกับจ้องมองคฤหบดีด้วยสายตาเปี่ยมไปด้วยความเมตตา

“คนป่วยกายและป่วยใจ คือ คนที่ไม่เคยได้ยิน ได้พบ ไม่เข้าใจธรรมของพระอริยเจ้า เลยเข้าใจว่า ‘มีตัวกูของกูในชีวิตและจิตใจ’ เมื่อเขามีความเข้าใจเช่นนี้ เขาก็มีความยึดมั่นถือมั่นว่า ‘ชีวิตและจิตใจเป็นของกูหรือของเรา’ เมื่อชีวิตและจิตใจเปลี่ยนแปลงไปอย่างอื่น เช่น ล้มป่วยลง แก่ชราลง เขาก็จะมีความทุกข์ทั้งกายและใจ นี่แหละคือคนป่วยทั้งกายและใจนะท่านคฤหบดี” พระสารีบุตร

“อ้อ…” คฤหบดีอุทานด้วยความเข้าใจ “ส่วนคนป่วยกายแต่ไม่ป่วยใจล่ะครับท่าน” คฤหบดีซักถามด้วยความอยากรู้เพิ่มขึ้น

“คนป่วยกายแต่ไม่ป่วยใจ คือ คนที่ได้ฟัง ได้พบ ได้เข้าใจธรรมของพระอริยเจ้าว่า ‘ไม่มีตัวกูของกูในชีวิตและจิตใจ’ เมื่อเขาเข้าใจเช่นนี้ ก็หมดความยึดมั่นถือมั่นว่า ‘มีตัวกูของกูในสิ่งทั้งปวง’ เมื่อชีวิตและจิตใจเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เขาจะไม่มีความทุกข์ เพราะรู้แล้วว่าไม่มีตัวกูของกูที่เที่ยงแท้แน่นอน คนประเภทนี้แหละคือคนป่วยกายแต่ไม่ป่วยใจ”

เมื่อพระสารีบุตรพูดจบลง คฤหบดีก็มีความปีติปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะคำอธิบายของท่านแจ่มแจ้งยิ่งนัก คฤหบดีจึงกล่าวสรรเสริญพระสารีบุตรด้วยจิตที่เปี่ยมล้นด้วยศรัทธา

การสนทนาระหว่างคฤหบดีกับพระสารีบุตรบอกเราว่า “การเจ็บป่วยทางกายเป็นเรื่องธรรมดาที่เราหนีไม่พ้น เราจะต้องพบความเจ็บป่วยแบบนี้ด้วยกันทั้งนั้น แต่การเจ็บป่วยทางจิตใจ เราสามารถอยู่เหนือมันได้ หากเราฝึกจิตใจตัวเองได้ดีพอ”

การไม่เจ็บป่วยทางใจ คือ การพิจารณาธรรมจนเข้าใจว่า ไม่มีตัวกูของกูในชีวิตและจิตใจทั้งหมด ความเข้าใจดังกล่าวจะสลายความยึดมั่นถือมั่นที่เราเคยมีมานานเกี่ยวกับตัวกูหรือตัวเรา เมื่อความเจ็บป่วยเกิดขึ้น เราก็จะเจ็บปวดทางกายเพียงอย่างดียว แต่จิตใจไม่มีวันเจ็บป่วยได้เลย เพราะหาตัวกูที่จะมารับความเจ็บป่วยไม่ได้เสียแล้ว

การปล่อยวางจาก “ตัวกู” หรือไม่ยึดมั่นถือมั่นว่ามี “ตัวกู” จะทำให้จิตใจของเราสงบนิ่ง แจ่มใส เป็นอิสระเบิกบาน สภาพจิตใจเช่นนี้จะช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรค (Immune System) ของเราให้เข้มแข็งขึ้น อาการป่วยทางกายของเราก็จะหายไปเอง เพราะมีระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ดี ดร.ริชาร์ด เดวิดสัน (Richard Davidson) นักสมองวิทยามีชื่อของอเมริกา เคยทำการศึกษาผลความสงบของจิตใจต่อร่างกายแล้วพบว่า “เมื่อจิตใจคนสงบนิ่ง ก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้เข้มแข็งขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันโรคที่เข้มแข็งนี่เอง จะรักษาความเจ็บป่วยทางกาย คนป่วยก็จะหายจากโรคได้เอง” จิตใจที่ปลอดโปร่งและเป็นอิสระ จากการรู้ธรรม จึงมีผลต่อการรักษาโรคกายได้อย่างชัดเจน

ฉะนั้น วิธีการรักษาความเจ็บป่วยอย่างพุทธะ คือ การพิจารณาจนเข้าใจว่าไม่มีตัวกูของกู หรือตัวเราของเราในชีวิตและจิตใจทั้งหมด ความยึดมั่นถือมั่นที่เคยมีมานานก็จะสลายไป จิตใจก็จะปลอดโปร่ง เบิกบาน เป็นอิสรเสรี หากเราเจ็บไข้ได้ป่วยลง เราก็จะป่วยเพียงกายอย่างเดียว แต่ไม่ป่วยใจ ใจที่ไม่ป่วยและเป็นอิสระแจ่มใสนี่เอง จะช่วยรักษาโรคทางกายได้อีก ใจจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตมนุษย์ เมื่อใจเรามีความสุขเสียแล้ว กายก็จะมีความสุขตามไปเอง

พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ว่า

“ใจเป็นผู้นำทุกสิ่งทุกอย่าง

ใจเป็นใหญ่ ทุกอย่างสำเร็จด้วยใจ”

 

ที่มา  ฉลาดคิด ชีวิตเป็นสุข – ส.ชิโนรส สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.