สิ้นแล้ว สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร)
วงการสงฆ์สูญเสียพระเถระชั้นผู้ใหญ่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไปอีกหนึ่งรูป
ไทยรัฐรายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ย. พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะประธานกรรมการวัดสัมพันธวงศาราม กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามว่า สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม กรรมการ มส. มรณภาพลงอย่างสงบด้วยความชราภาพที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ สิริรวมอายุ 100 ปี 81 พรรษา ส่วนกำหนดการต่างๆ จะมีการประชุมกับทางพระเทพสังวรญาณ (จิรพล อธิจิตโต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม และคณะกรรมการวัดสัมพันธวงศาราม เบื้องต้นคาดว่าจะมีพิธีสรงน้ำในวันที่ 12 พ.ย. หรือวันที่ 13 พ.ย.นี้
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ลำดับที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่มีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา พระพิมลธรรม (เขมาภิรโต ยัง ป.ธ.8) วัดโสมนัสวิหาร เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ในราชทินนามนี้เป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สำหรับคณะธรรมยุตขึ้นเป็นรูปแรก แล้วมีพระสงฆ์สืบตำแหน่งนี้มาแล้วทั้งหมด 7 รูป สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) จึงเป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ลำดับที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ประวัติสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร)
ท่านเกิดวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2460 ณ บ้านบ่อชะเนง ตำบลหนองแก้ว อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นอำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ) โยมบิดาชื่อช่วย โยมมารดาชื่อกา นามสกุล ก่อบุญ เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 11 คน
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) บรรพชาเมื่อ พ.ศ. 2472 ที่วัดบ้านบ่อชะเนง ตำบลหนองแก้ว อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ) โดยมีญาคูโม้เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาได้ออกธุดงค์ติดตามครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ผ่าน จังหวัดร้อยเอ็ด สารคาม และขอนแก่น แล้วบรรพชาญัติเป็นสามเณรธรรมยุต โดยมีหลวงปู่สิงห์ ขนฺตญาคโม แห่งวัดป่าวิเวกธรรม จังหวัดขอนแก่น เป็นพระอุปัชฌาย์
ในปี พ.ศ. 2480 ขณะอายุ 20 ปี ได้อุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดสัมพันธวงศ์ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 โดยมีพระมหารัชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสโก) ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระรัชชมงคลมุนี เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสุวรรณรังษี (สุวรรณ ชุตินฺธโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูปลัดเส็ง ทินฺนวโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ (ภายหลังรับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระเนกขัมมมุนี)
สมณศักดิ์
- 5 ธันวาคม 2499 ดำรงตำแหน่งเป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ พระอริยเมธี
- 5 ธันวาคม 2507 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชกวี นรสีหพจนปิลันธน์ คันถธุรบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม รามวาสี
- 5 ธันวาคม 2514 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพปัญญามุนี ตรีปิฎกบัณฑิต ศาสนกิจธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
- 5 ธันวาคม 2519 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมบัณฑิต วิจิตรปฏิภาณสุโกศล วิมลคัมภีรญาณ นิเทศกาจารย์วิภูสิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
- 5 ธันวาคม 2532 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระอุดมญาณโมลี สีลาจารวราภรณ์ สาทรหิตานุหิตวิมล โสภณธรรโมวาทานุสาสนี ตรีปิฎกบัณฑิต ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
- 5 ธันวาคม 2544 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จาตุรงคประธานวิสุต พุทธพจนมธุรธรรมวาที ตรีปิฎกปริยัติโกศล วิมลศีลาจารวัตร พุทธบริษัทปสาทกร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี นับเป็นรูปที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ที่มา :
ภาพ :
บทความน่าสนใจ
พญานาคในทรรศนะของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เมื่อ ท่านพ่อลี ธัมมธโร เพ่งกสิณ ใส่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จุดไต้เข้าวังตอนกลางวันแสก ๆ