ติช นัท ฮันห์ ปรมาจารย์ลายพู่กัน กับการเจริญสติด้วยศิลปะแบบเซน

ติช นัท ฮันห์ ปรมาจารย์ลายพู่กัน กับการเจริญสติด้วย ศิลปะแบบเซน

แต่ไหนแต่ไรมา โลกรู้จักพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ในฐานะพระมหาเถระนิกายเซน นักประพันธ์ อาจารย์ นักกิจกรรมเพื่อสันติภาพ และกวี แต่เมื่อมหาวิทยาลัยฮ่องกงอันทรงเกียรติ จัดนิทรรศการภาพลายพู่กันของท่าน เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2553 ท่านได้ประทับตราอันเป็นเอกลักษณ์ของท่านลงในโลก ศิลปะแบบเซน

 

 

ภาพลายพู่กันของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เป็นงานศิลปะ เป็นคำสอน และยังเป็นเครื่องมือในการฝึกสติ ภาพลายพู่กันเหล่านี้เขียนด้วยคงามเรียบง่ายอย่างเซน ด้วยความรักอันยิ่งใหญ่ ความเบิกบาน และความเป็นอิสระ อันเป็นผลเนื่องจากการปฏิบัติสมาธิภาวนาตลอดชีวิต ภาพลายพู่กันแต่ละชิ้นล้วนสร้างสรรค์ขึ้นด้วยสติ และการอยู่ตรงนั้นอย่างแท้จริง

 

 

หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ อยู่ตรงนั้นอย่างเต็มเปี่ยมในทุกชั่วขณะของการเขียน เริ่มจากดื่มชา นั่งลง หยิบพู่กัน และใช้ชาเพื่อทำน้ำหมึก หลวงปู่บอกว่า ท่านไม่สามารถเขียนบทกวีได้ ถ้าท่านไม่ได้ทำสวนผักสลัด การเขียนภาพลายพู่กันของหลวงปู่ก็เช่นกัน ภาพลายพู่กันแต่ละภาพประกอบขึ้นด้วยการเดิน นั่ง หายใจ และยิ้มอย่างมีสติ พร้อมทั้งความรักเมตตาระหว่างครูและลูกศิษย์

 

 

ทุกคนที่มีภาพลายพู่กันอยู่ในบ้านและฝึกปฏิบัติกับภาพนั้น เขาก็กลายเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ แต่ละวลีในภาพลายพู่กันเกิดจากปัญญาญาณของหลวงปู่ซึ่งได้แสดงออกบนแผ่นกระดาษ ทุกเดือนหลวงปู่จะมีวลีใหม่ๆ และท่านมีความสุขกับการลิขิตคำเหล่านั้นลงบนกระดาษ ฤดูหนาวหนึ่ง ท่านให้กำเนิดวลีที่ว่า “ไม่มีหนทางสู่บ้าน บ้านคือหนทาง” และ “ไมมีหนทางสู่นิพพาน นิพพานคือหนทาง” และ “ฉันสัมผัสนิพพานด้วยขันธ์ทั้งห้า” อันเป็นผลของการปฏิบัติภาวนาและการแสดงธรรมของท่านในช่วงเข้าพรรษา

 

 

ถ้วยคำที่หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ กล่าวเกี่ยวกับภาพลายพู่กัน

ชีวิตของเราเป็นดั่งงานศิลป์

“ถ้าเราเพียงกระทำด้วยความตระหนักรู้และมีศีลธรรมจรรยา ศิลปะของเราจะผลิบาน และเราไม่จำเป็นต้องพูดคุย ถึงงานศิลปะของเราเลย เมื่อเรารู้วิธีดำรงอยู่ในความสงบสุข เราพบว่าศิลปะเป็นหนทางอันวิเศษในการแบ่งปันความสงบสุขของเรา ความเป็นศิลปะจะแสดงออกในทางใดทางหนึ่ง แต่การดำรงอยู่นั้นต่างหากคือเนื้อแท้ ดังนั้นเราต้องกลับมาที่ตัวเราเอง และเมื่อเรามีความเบิกบานและสันติสุขในตัวเราเอง การสร้างสรรค์ศิลปะของเราจะเป็นธรรมชาติ และงานศิลปะเหล่าน้นจะมีประโยชน์ต่อชาวโลกในทางที่ดีงาม”

 

 

ศิลปะการวาดภาพลายพู่กัน

“ฉันใช้ชาผสมกับน้ำหมึก ดังนั้นภาพลายพู่กันของฉัน จึงมีรสชาติของชาอยู่ภายใน ฉันใช้พู่กันทั้งแบบจีนและแบบตะวันตก ทุกชนิดและทุกขนาด เมื่อฉันวาดวงกลมฉันก็ตามลมหายใจ หายใจเข้า ฉันวาดวงกลมครึงวงและหายใจออกฉันวาดวงกลมอีกครึ่งวง ในภาพวาดลายพู่กันของฉัน มีนำหมึก ชา ลมหายใจ สติ และสมาธิ นี่คือการภาวนา นี่ไม่ใช่การทำงาน สมมติฉันเขียนคำว่า “หายใจ” ฉันก็กำลังหายใจในขณะเดียวกัน การมีชีิวิตอยู่คือความมหัศจรรย์ และเมื่อเธอหายใจอย่างมีสติ เธอสัมผัสกับความมหัศจรรย์ของการมีอยู่”

 

 

ดังนั้นเราจึงควรทำทุกอย่างในภาวะแห่่งสติ การเขียนภาพลายพู่กันเป็นการฝึกการปฏิบัติสมาธิภาวนา ฉันเขียนคำหรือประโยคที่สามารถเตือนใจผู้คนเกี่ยวกับการปฏิบัติ ยกตัวอ่ย่างเช่น “หายใจและเบิกบานกับอาณาจักรของพระเจ้า ณ ที่นี่และในขณะนั้น” หรือ “หายใจและเบิกบานกับชั่วขณะอันวิเศษนี้” ฉันคิดว่าคำว่า “วิเศษ” หมายถึงเต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ ถ้าเธออยู่อย่างแท้จริงในขณะนี้ เธอสามารถรับรู้ถึงสิ่งมหัศจรรย์มากมายในขณะนั้น อาณาจักรของพระเจ้า แผ่นดินของพระพุทธองค์อยู่ที่นั่น ดังนั้น หายใจเข้า พาจิตใจของเธอกลับมาที่ร่างกาย และเธอสามารถสัมผัสสิ่งมหัศจรรย์มากมายได้ในขณะนี้”

 

มุมมองของนักวิจารณ์ศิลปะ

งานเขียน บทกวี และลายพู่กันของพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ เปืดเผยศิลปะในการมองเข้าไปในธรรมชาติ ของความเป็นคนหนึ่ง และนำไปสู่เส้นทางแห่งการหลุดพ้น

ศิลปะแห่งสติของพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ นำธรรมะเข้าสู่หัวใจของผู้ชมโดยตรง ปล่อยให้เราได้สัมผัสกับโลกแห่งความจริงแท้ (ปรมัตถกรรม) ศิลปะของท่านติช นัท ฮันห์ รวมกายและใจให้เป็นหนึ่งเดียวในสมาธิ มีทั้งใจ ลมหายใจ การบิดพู่กัน ตำแหน่งของมือ การเคลื่อนไหวของแขน และการขยันนิ้วมือเพียงเล็กน้อย การปัดพู่กันแ่ต่ละครั้งเกิดขึ้นด้วยสติอันเต็มเปี่ยม อยู่กับปัจจุบันขณะอย่างแท้จริง การดำรงอยู่ในความตื่นรู้นี้ ได้แปรเปลี่ยนลายเส้นของท่านให้มีชีวิต

 

 

ภาพลายพู่กันของพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ เป็นดังการผจญภัยในการเคลื่อนไหวของใจ และกายดุจดั่งการเต้นระบำที่มีการจัดท่าทาง เราอาจอธิบายความปีติเบิกบานที่เกิดจากการชมภาพลายพู่กันของพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ได้ว่า เหมือนกับการชมนักเต้นรำแสนสวย แสดงท่าทางอันกลมกลื่นด้วยการควบคุมที่สมบูรณ์แบบ

หนังสือและลายมือของพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ เป็นดังของขวัญที่ดีที่สุดและมีค่าที่สุด ที่ท่านมอบให้กับพวกเรา ภาษากวีและลายพู่กันที่จัดวางอย่างดีของท่านเปรียบดั่งรูปปั้นของพระพุทธองค์ประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์ดอกบัว เป็นเครื่องเตือนให้เราระลึกถึงความสามารถในการนั่ง อย่างมีสติและมีศานติของพระพุทธเจ้า เครื่องเตือนสติที่ช่วยให้เราพบบ้านที่แท้จริง ณ ที่นี่ และในขณะนี้

 

ที่มา

เรื่อง : ภิกษุณีเหี่ยนเงียม (นาตาชา) แปลจากบทความ “ภาวนากับลายพู่กัน ศิลปะแห่งสติโดยติช นัท ฮันห์” เขียนโดย อีวา หยวน มหาวิทยาลัยฮ่องกง

ภาพ : สรยุทธ พุ่มภักดี


บทความน่าสนใจ

เรื่องเล่าสอนใจ จากหมู่บ้านพลัม…บ่อยครั้งแค่ไหนที่คุณทำร้ายคนที่คุณรัก

ปลูกผัก ปลูกสติ “ทำสวนในใจตน” กิจกรรมดี ๆ ที่หมู่บ้านพลัม

หลวงพ่อฟับเหนี่ยม พระธรรมาจารย์ อาวุโสแห่งหมู่บ้านพลัม

ภาวนาครอบครัว หายใจสงบ เดินเป็นสุข ณ มูลนิธิหมู่บ้านพลัม

ศีล 5 ไร้คำ ห้าม : ข้อคิดฝึกสติ 5 ประการ จากหมู่บ้านพลัม

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.