ไตรภูมิพระร่วง

เข้าใจความหมายของคำว่า “ภูมิ” ผ่านไตรภูมิพระร่วง

เข้าใจความหมายของคำว่า “ภูมิ” ผ่าน ไตรภูมิพระร่วง

น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักวรรณคดีไทยน้ำเอกอย่างเรื่อง ” ไตรภูมิพระร่วง ” เป็นพระนิพนธ์แห่งพระยาลิไท มีพระประสงค์เพื่อเทศนาโปรดพระราชมารดา และศึกษาพระอภิธรรม ซึ่งพระอภิธรรม หรืออภิธรรมปิฎกเป็นหนึ่งในคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่เรียกว่า พระไตรปิฎก (พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก)

ไตรภูมิไม่ใช่เรื่องโลกมนุษย์ นรก และสวรรค์

ไตรภูมิพระร่วง หรืออีกชื่อหนึ่งว่า เตภูมิกถา เต และ ไตร แปลว่า สาม เหมือนกัน แต่ เต เป็นคำบาลี ส่วน ไตร เป็นคำสันสกฤต จะสังเกตว่าเรามีศัพท์สันสกฤตใช้ในงานเขียนทางพระพุทธศาสนาหลายคำ เช่น ธรรม หรือที่นิยมอ่านว่า “ธรรมะ” เป็นสันสกฤต แต่คำว่าธรรมในบาลี เขียนเป็น “ธัมม” เป็นต้น คงเพราะความไพเราะในการเขียนและอ่านจึงนิยมเรียกว่า “ไตรภูมิ” แทน “เตภูมิ”และพบว่าเป็นพระนิพนธ์พระมหากษัตริย์สมัยสุโขทัย จึงเรียกว่าต่อท้ายด้วยว่า “พระร่วง” ซึ่งเป็นคำเรียกพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้น

คนส่วนมากเข้าใจว่า วรรณคดีไทยเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับนรกและสวรรค์ ซึ่งถ้าอิงตามชื่อของวรรณคดีจะพบว่าไม่ได้อิงหรือเน้นแต่เรื่องของโลก (มนุษย์) นรก และสวรรค์เท่านั้น เพราะไตรภูมิ หรือ ภูมิทั้งสามในคติของพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ

หากเข้าใจว่าเป็นเรื่องโลก (มนุษย์) นรก และสวรรค์ ทางพระพุทธศาสนาจัดรวมอยู่ในกามภูมิ ส่วนรูปภูมิ และอรูปภูมิเป็นเรื่องของพรหมที่มีรูปและไม่มีรูปนั่นเอง

 

เนื้อเรื่องโดยรวมของไตรภูมิพระร่วง

ไตรภูมิพระร่วง พรรณนาถึงบรรยากาศและลักษณะของภูมิต่าง ๆ เช่น โลกมนุษย์ประกอบด้วยทวีปทั้ง 4 ชมพูทวีปมีพระมหาจักรพรรดิเป็นผู้ปกครอง ซึ่งเป็นผู้มีบุญญาธิการ ครอบครองมณี 7 ประการ เช่น นางแก้ว ม้าแก้ว ช้างแก้ว ฯลฯ การกำเนิดสังคมมนุษย์ที่เคยเป็นพรหมมาก่อน แบ่งจำแนกประเภทของมนุษย์ออกตามผลของกรรม สวรรค์ 6 ชั้น พรหมโลก 16 ชั้น และอบายภูมิ ได้แก่ เดรัจฉาน อสุรกาย เปรต และนรก

การสิ้นสุดของโลกและการเกิดขึ้นใหม่อีกของโลก การประกอบบุญ-กุศล ผลกรรมที่ทำ ทำให้เวียนว่ายในกามภูมิ แล้วแนะนำหนทางไปสู่รูปภูมิและอรูปภูมิด้วยสมาบัติ จนสำเร็จพระนิพพาน

ในตอนต้นว่า ไตรภูมิพระร่วงนอกจากพระยาลิไททรงประพันธ์ขึ้นเพื่อเทศนาโปรดพระราชมารดาแล้ว ยังเป็นการเจริญพระอภิธรรมด้วย เพราะเรื่องภูมิ หรือระดับของจิต ก็เป็นอีกเรื่องที่ปรากฏในคัมภีร์อภิธรรมปิฎก และเป็นเรื่องที่กลุ่มผู้เรียนอภิธรรมศึกษา

 

พระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องภูมิ 4 แต่ทำไมจึงเป็นไตรภูมิ

พระพุทธเจ้าตรัสถึงภูมิมีทั้งหมด 4 ภูมิ ไว้ในภูมินานัตญาณนิทเทสว่า

” ภูมิ 4 คือ กามาวจรภูมิ (หรือกามภูมิ) รูปาวจรภูมิ (รูปภูมิ) อรูปาวจรภูมิ (อรูปภูมิ) โลกุตตรภูมิ (พระนิพพาน)

” กามาวจรภูมิเป็นอย่างไร ขันธ์ ธาตุ อายตนะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งท่องเที่ยว ไปยังสุดอเวจีมหานรก และไปสุดถึงปรนิมมิตวสวัตดี 

” รูปาวจรภูมิเป็นอย่างไร ธรรมคือจิตและเจตสิกของบุคคลผู้เข้าสมาบัติ ของบุคคลผู้เกิดในพรหมโลก หรือของท่านผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ซึ่งท่องเที่ยว ไปยังพรหมโลกชั้นแรกจนถึงชั้นอกนิฏฐ์เป็นที่สุด 

” อรูปาวจรภูมิเป็นอย่างไร ธรรมคือจิตและเจตสิกของบุคคลผู้เข้าสมาบัติ ของบุคคลผู้เกิดในพรหมโลก หรือของท่านผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ท่องเที่ยวไปตั้งแต่พรหมโลกชั้นแรกของอรูปพรหมจนถึงเนวสัญญาณยตนภพข้างบนสุด 

“โลกุตตรภูมิเป็นอย่างไร มรรค ผล นิพพานธาตุที่ปราศจากการปรุงแต่ง ที่อยู่เหนือโลก “

การไปเกิดในภูมิใดขึ้นอยู่กับจิต ถ้าจิตยังมีการรู้สึกในกิเลส ความพึงพอใจอยู่ ก็จะเวียนว่ายในกามภูมิ หากทำสมาบัติ (สมาธิ) ได้จะเวียนว่ายในพรหมโลก การเกิดเป็นรูปพรหมและอรูปพรหมขึ้นอยู่กับฌานที่ได้จากการทำสมาธิ ส่วนโลกุตตรภูมิ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า นิพพาน ก็คือระดับจิตที่สำเร็จมรรคผลแล้ว

ถึงไตรภูมิพระร่วงจะเป็นเรื่องภูมิ 3 ในคติพระพุทธศาสนา แต่ก็จบด้วยเรื่องนิพพานกถา หรือเรื่องของพระนิพพาน ซึ่งเป็นภูมิที่ 4 ในพระพุทธศาสนา โดยบรรยายถึงลักษณะของนิพพาน ประเภทของนิพพาน ขั้นตอนการสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา วิธีการปฏิบัติกรรมฐาน เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าพระยาลิไททรงเข้าพระทัยเรื่องภูมิในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี

 

คุณค่าของไตรภูมิพระร่วง

เป็นพระนิพนธ์ที่ทรงคุณค่าของพระมหากษัตริย์สมัยสุโขทัย (พระยาลิไท) แสดงออกถึงพระปรีชาสามารถในการศึกษาคำสอนและเรื่องราวในพระพุทธศาสนา ทรงศึกษาเรื่องภูมิได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน นักวิชาการทางวรรณคดีหลายท่านกล่าวว่า ไตรภูมิพระร่วงเกิดขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลจากคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาหลายคัมภีร์ แสดงให้เห็นถึงความวิริยะอุตสาหะของพระองค์ เป็นต้นแบบของเป็นนักค้นคว้าและศึกษาที่หาผู้ทำได้ยากในกรุงสุโขทัย ยังทำให้ผู้อ่านรุ่นหลังได้เห็นภาพของโลกมนุษย์ นรก สวรรค์ พรหมโลก และนิพพาน ว่ามีลักษณะอย่างไร รวมไปถึงเกร็ดเรื่องบาป-บุญ คุณ-โทษ คติเรื่องพระมหาจักรพรรดิราช และเรื่องพระศรีอาริยเมตไตรย ที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อและประเพณีในสังคมไทย

 

ที่มา

ไตรภูมิพระร่วงอิทธิพลต่อสังคมไทย โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

พุทธปรัชญาจากพระไตรปิฎก โดย สุนทร ณ รังษี

https://vajirayana.org/ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ

https://th.wikipedia.org/wiki/ไตรภูมิพระร่วง

http://www.84000.org/ภูมินานัตตญาณนิทเทส

ภาพ https://pixabay.com


บทความน่าสนใจ

ภพชาติ…มีจริง บทความจากพระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ) 

ไขความกระจ่าง ความหมายที่แท้จริงของคำว่าภพ

เทวดาในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เทวดาที่อยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์ที่สุด ที่เราควรรู้จัก

ทัวร์พรหมโลก ดินแดนแห่งผู้สร้างบุญด้วยสมาธิ

การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ แท้จริงแล้วเร่าร้อนและ น่ากลัวยิ่งกว่าขุมนรก

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.