ดินสอ

เรื่องเล่าจากปลายดินสอ

ครั้งหนึ่งสมัยยังเด็ก ฉันซื้อ ดินสอ มา 1 แท่ง และถือมีดทำครัวออกมาเตรียมตั้งท่าจะเหลา

บังเอิญคุณป้าที่กำลังทำกับข้าวมาเห็นเข้าและกลัวว่าฉันจะเถือนิ้วตัวเองจนกุดเสียก่อน คุณป้าจึงยื่นมือเข้ามาช่วยเหลาดินสอให้ เหลาไปก็สอนไปว่าให้จับดินสอแน่น ๆ ชี้ปลายออกนอกตัว จับมีดให้มั่น แล้วใช้นิ้วชี้รองไว้ใต้ไส้ดินสอ ไส้จะได้ไม่หัก แต่ถึงอย่างไรการเหลาดินสอด้วยมีดก็เป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับเด็กเล็ก ๆ อยู่ดี

คุณป้าเล่าว่า สมัยป้าเด็ก ๆ ไม้ที่ใช้ทำดินสอเป็นไม้เนื้อดีมาก เวลาเหลาจะได้กลิ่นหอมของเนื้อไม้ “ฮ้อม…หอม” ป้าพูดแล้วอมยิ้มเป็นภาพที่ฉันยังจำได้ ตั้งแต่สมัยรุ่นคุณป้ามาจนถึงรุ่นฉันที่ผ่านพ้นวัยเด็กมาเกือบยี่สิบปี ทุกวันนี้ดินสอแทบจะไม่มีบทบาทในชีวิตประจำวันอีกแล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่ากลิ่นของมันได้เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน!

มีเรื่องเกี่ยวกับ ดินสอ ที่ฉันจำติดใจตั้งแต่ตอน ป.1 ไม่ใช่ฉันเอาดินสอไปจิ้มก้นใครหรอก แต่เป็นนิสัยประหลาดเกี่ยวกับการเหลาดินสอของฉันเอง

ที่โต๊ะครูประจำชั้นหน้าห้องเรียนจะมีกบเหลาดินสอแบบมือหมุน ล็อกติดอยู่กับโต๊ะ กบสุดไฮโซนี้สามารถเหลาดินสอได้แหลมคมและสะดวกสบายไม่มีที่ติ ทุกเช้าก่อนเริ่มเรียน คุณครูจะถามว่าดินสอใครทู่ เด็ก ๆ ก็จะยืนต่อแถวที่หน้าโต๊ะครูเพื่อให้ครูเหลาดินสอให้ บางทีครูก็ให้ลองเหลาเอง ซึ่งฉันรู้สึกสนุกมาก ฉันชอบเหลาดินสอบ่อย ๆ ทั้งที่ดินสอก็ไม่ได้ทู่ บางทีก็อาสาเอาดินสอของเพื่อนไปเหลาให้ พอไม่มีดินสอของใครให้เหลาแล้ว และดินสอของตัวเองก็ยังแหลมอยู่ ด้วยความที่อยากเหลาดินสอมากฉันจึงกดไส้ดินสอกับโต๊ะเขียนหนังสือให้หัก เพื่อจะได้เหลาดินสอใหม่ ดินสอของฉันจึงหดสั้นเร็วกว่าของคนอื่น จนในที่สุดคุณครูก็จับได้ว่าฉันชอบหักไส้ดินสอ คุณครูขู่ว่าถ้าฉันใช้ดินสอหมดเร็วกว่าคนอื่นจะไม่แจกดินสอให้ฉันอีกและฉันจะต้องซื้อดินสอใช้เอง ด้วยความงกของเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ พฤติกรรมชอบหักไส้ดินสอจึงยุติลงเพียงแค่นั้น

ดินสอ
Photo by rawpixel.com from Pexels

พฤติกรรมการใช้ดินสอของเด็กๆ มีหลายรูปแบบตามพื้นฐานและสภาพเศรษฐกิจของครอบครัว บางคนที่บ้านพอมีฐานะจะมีทั้งดินสอและยางลบพร้อมมูล ทั้งสลักชื่อ ชั้น เลขที่ ป้องกันการหายอย่างดี ส่วนบางคนก็ไม่ค่อยสนใจว่าจะมีหรือไม่มียางลบ ชอบอาศัยหยิบยืมจากเพื่อนที่นั่งข้าง ๆ ยืมไปยืมมาก็ขูดชื่อเจ้าของออก แล้วยึดมาเป็นของตัวเองเสียอย่างนั้น (ฮา) หรือไม่ก็ใช้ยางลบก้อนน้อยนิดที่ติดมากับปลายดินสอถูไถแก้ขัดไปพลาง ถูจนยางลบกุดก็ใช้ฟันแทะให้เนื้อยางลบปลิ้นออกมาใช้ต่อได้อีกหน่อย (ฟังดูไม่ค่อยถูกสุขอนามัย แต่สมัยเด็ก ๆ ก็ทำกันทั้งนั้น) บางคนพอหัวยางลบหลุดจากดินสอก็เปลี่ยนมาเหลาดินสอสองปลายเสียเลย เพื่อความสะดวกจะได้ไม่ต้องเหลาบ่อย ๆ แต่ถ้าเล่นไม่ระวัง ปลายดินสอก็จิ้มหน้าเพื่อนไปตามระเบียบ

สุดยอดตำนานการใช้ดินสอที่เล่าต่อ ๆ กันมา คือเวลาดินสอกุดสั้นจนไม่เหลือที่ให้จับ ให้ใช้ปลอกปากกาสวมที่ปลายเพื่อต่อความยาว แต่ก็ไม่เคยเห็นเพื่อนคนไหนทำ เคยเห็นแต่ใช้กระดาษสมุดม้วนรอบดินสอเป็นปลอก แล้วใช้หนังยางรัดให้กระดาษติดกับดินสอ วิธีนี้สามารถต่อความยาวได้เยอะกว่าใช้ปลอกปากกาเสียอีก

ตัวฉันไม่เคยได้สัมผัสประสบการณ์การใช้ดินสอจนสั้นกุด ไม่ใช่เพราะบ้านรวย แต่เป็นเพราะดินสอของฉันเขียนไปได้แค่ครึ่งแท่ง มันก็จะหายเสียแล้ว!!!

ดินสอไม้ลดความสำคัญลง เมื่อมีดินสอพลาสติกยี่ห้อ Apollo เข้ามาสร้างความฮือฮาด้วยลูกเล่น “ชักไส้” เปลี่ยนจากดินสอไส้ทู่กลายเป็นดินสอไส้แหลมเปี๊ยวได้ทันที จากชื่อยี่ห้ออะพอลโล่เรียกเป็น “ดินสอพอลโล่” เสียง (อะ) หายไป แล้วก็เพี้ยนเป็น “ดินสอทาโล่” ในที่สุด ต้องกลับไปถามเด็กสมัยนี้ดูว่าเขาเรียกดินสอแบบนี้ว่าอะไร

ฉันวุ่นวายอยู่กับไส้ดินสอที่เป็นข้อ ๆ และปลอกพลาสติกสีสดใสของดินสอชนิดนี้จนลืมดินสอไม้กับกบเหลาดินสอไปเลย แต่มาคิดดูตอนนี้ก็รู้สึกว่าเจ้าดินสอชักไส้ช่างเป็นดินสอที่สร้างความยุ่งยากในการเขียนอยู่ไม่น้อย มันไม่มียางลบที่ปลายเหมือนดินสอไม้ ถึงบางคนจะอ้างว่าจุกยางที่ปลายดินสอสามารถใช้แทนยางลบได้ แต่เมื่อทู่ซี้ใช้ลบไปก็จะเกิดเป็นคราบดำ ๆ ดีไม่ดีทำให้กระดาษสมุดขาดเป็นรูอีกด้วย และเด็กบางคนก็ติดนิสัยชอบแทะดินสอไม่หาย ยิ่งมาเจอจุกพลาสติกก็ยิ่งแทะเพลินใหญ่ เหนียว ๆ หยุ่น ๆ กำลังดี แทะบ่อย ๆ จุกก็หลวม เวลาเขียนหนังสือกดแรง ๆ ก็ทำให้ไส้ดินสอที่เป็นเหมือนข้อต่อพุ่งกระเด็นออกมาจนต้องตามเก็บให้จ้าละหวั่น!

แต่ของมีราคาที่สุดในกล่องดินสอคงไม่มีชิ้นไหนมีค่าเกิน “ดินสอกด” มันเป็นดินสอที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในการเก็บรักษา ต้องถนอมใช้ไม่ให้พังเร็ว และยังต้องเก็บให้พ้นจากขโมยอีกด้วย ส่วนใหญ่เราจะเริ่มมีดินสอกดดี ๆ ใช้ตอนอายุสักสิบกว่าขวบ ตอนที่เริ่มรู้จักเก็บตังค์ค่าขนมและสามารถรักษาของได้แล้ว

ดินสอ
Image by klimkin from Pixabay

ด้วยรูปลักษณ์ที่สะดุดตา มีลูกเล่นทั้งที่ตัวดินสอและกล่องใส่ไส้ดินสอ ทำให้เด็กโต ๆ หันมาใช้แต่ดินสอกดกันหมด ดินสอกดบางยี่ห้อผลิตจากวัสดุจำพวกโลหะทำให้มีน้ำหนักและรูปพรรณสัณฐานคล้ายปากกาหมึกซึม คงทนแข็งแรง (พังยาก แต่หายง่าย!) มีราคาตั้งแต่หลักสิบกว่า ๆ ไปจนถึงหลักหลาย ๆ ร้อยบาท ส่วนดินสอกดที่ทำจากพลาสติกราคาอาจย่อมเยาลงมาหน่อยแต่ไม่ค่อยมีคุณภาพนัก ดินสอและเครื่องเขียนแพง ๆ นับเป็นของล่อตาล่อใจให้เกิดการขโมยโดยเจตนา อย่างในห้องเรียนชั้น ป.5 ของฉันก็เคยถูกเด็กชั้น ป.6 แอบเข้ามารื้อค้นกระเป๋าตอนพักกลางวันเพราะต้องการดินสอกดหรือของมีค่าอื่นๆ ซึ่งถ้าเป็นสมัยนี้ของที่หายก็คงจะเป็นของที่มีมูลค่าสูงขึ้นไปอีก

เราควรใช้วิวัฒนาการของเครื่องเขียนเป็นแบบเรียนสอนให้เด็ก ๆ ได้รู้ว่า สิ่งที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด ไม่จำเป็นต้องซับซ้อนหรือมีราคาแพงที่สุดเสมอไป ดินสอมีไว้เพื่อเขียนเท่านั้น และสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ดินสอของเราสวยแค่ไหน แต่อยู่ที่เราสามารถใช้ดินสอจดบันทึกสิ่งที่มีประโยชน์ได้มากแค่ไหนต่างหาก เด็กๆ ควรได้รับการสอนให้รู้จักเปรียบเทียบและเลือกใช้ของที่เหมาะสมกับสถานะของตนเอง

ระหว่างเด็กที่โรงเรียนวัดที่มีดินสอแท่งเดียวมาโรงเรียนกับเด็กโรงเรียนดี ๆ ที่มีอุปกรณ์เครื่องเขียนในกล่องดินสอใบใหญ่ มีปากกาลบคำผิด มีสีไม้อีกร้อยกว่าแท่ง กับปากกาไฮไลท์อีก 48 สี ดูแล้วอาจเป็นรูปแบบการศึกษาที่แตกต่างกันเหมือนอยู่คนละประเทศ แต่สำหรับความรู้ในการอ่านออกเขียนได้ ความเข้าใจในสิ่งที่ดีที่ควรหรือจิตสำนึกผิดชอบชั่วดีในสังคม ไม่รู้เหมือนกันว่าเด็กๆ ของเรามีความเข้าใจแตกต่างกันหรือไม่

สติปัญญากับทรัพย์สินเงินทองใช่ว่าจะแปรผันตามกันเสมอไป และใช่ว่าความเพียบพร้อมสมบูรณ์จะนำมาซึ่งความสามารถที่เหนือกว่าเสมอไป เผลอ ๆ ปัญญาความสามารถอาจแปรผกผันกับวัตถุเสียด้วยซ้ำ ยิ่งวัตถุในมือมีความซับซ้อนและอำนวยความสะดวกได้มากก็ยิ่งทำให้ผู้ใช้มีความพยายามคิดสร้างสรรค์เพื่อประยุกต์สิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองน้อยลง

เด็กสมัยนี้แทบจะไม่ได้เขียนอะไรด้วยตัวเองอยู่แล้ว เพราะมีครูทำเอกสารการสอนให้เสร็จสรรพ และแม้แต่คนโต ๆ ที่ทำงานกันอยู่ทุกวันนี้ ก็แทบไม่มีโอกาสได้จับดินสอหรือปากกาเขียนหนังสือด้วยมือตัวเองสักเท่าไร อีกหน่อยการเขียนภาษาไทยด้วยตัวบรรจงเต็มบรรทัดอาจกลายเป็นงานจิตรกรรมแขนงหนึ่งก็เป็นได้

เรามาฝึกหัดการคัดลายมือกันหน่อยเป็นไร อีกหน่อยเวลาเขียนโน้ตสั่งงานใครจะได้ไม่ถูกค่อนแคะว่า “ลายมือเหมือนเด็ก ป.3…”

และเรื่องเล่าจากปลายดินสอก็คงต้องจบแต่เพียงเท่านี้

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  กระต่ายในดวงจันทร์

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

สร้างสุขในชีวิตโดยการแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ด้วยธรรมะ คำสอนของ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.