—-1—-
เมื่อหลายปีก่อนตอนที่ผมยังเป็นเด็กเล็กนัก ผมมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่อง “บุญชูผู้น่ารัก” อันเป็นภาคแรกของ ”บุญชู” (ตอนนี้บุญชู มีถึงภาค 9 แล้ว ก็คงพอคาดเดาอายุของผู้เขียนได้!) ฉากที่ประทับใจมากเป็นฉากธรรมดาทั่วไป เป็นมุกตลกผ่าน ๆ และดูเหมือนจะไร้สาระเสียด้วยซ้ำ แต่คนก็ฮากันทั้งโรง และที่สำคัญสารบางอย่างที่อาบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ผู้สร้าง “บุญชู” ต้องการจะบอกในหนังเรื่องนี้ ได้ฝังอยู่ในตัวของเด็กชายเอก – วิชัยโดยไม่รู้ตัว ถ้าเป็นสำนวนของทันตแพทย์สม สุจีรา ก็ต้องเรียกว่า ”ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก”
ฉากนั้นเป็นตอนที่ ”บุญชู บ้านโข้ง” หนุ่มสุพรรณฯเข้ามาเมืองกรุงครั้งแรก แล้วตะแกข้ามถนนไม่เป็น ได้แต่เงอะ ๆ งะ ๆ อยู่ริมฟุตปาธ รถราในเมืองกรุงก็อย่างที่รู้ว่าแล่นฉวัดเฉวียนไปมาไม่เกรงใจใคร หนุ่มบุญชูเกิดอาการกลัว ในขณะเดียวกันก็ต้องข้ามไปอีกฝั่งเพื่อทำธุระให้ได้ ร้อนถึงหนุ่มอีสานคนขับรถตุ๊ก ๆ คันหนึ่งแกขับเข้ามาจอดรับบุญชู บุญชูก็งง ๆ แต่ก็ก้าวขึ้นรถไป แล้วรถตุ๊ก ๆ คันนั้นก็พาบุญชูข้ามมาถึงถนนอีกฝั่งหนึ่งจนได้ จำได้ว่าคนดูส่วนใหญ่ซึ่งคงเป็นคนกรุงฮากันลั่นทั้งโรง คงเพราะเป็นภาพแปลกตาที่รถตุ๊ก ๆ คันหนึ่งขับในระยะเวลาและระยะทางอันแสนสั้น เพียงแค่จากฝั่งถนนหนึ่งไปยังอีกฝั่ง
พอบุญชูข้ามถนนได้ก็ถามคนขับรถตุ๊ก ๆ ว่า “ค่ารถเท่าไหร่”
คนขับตอบว่า ”โอ๊ย! ไม่คิดตังค์หรอกจ้ะ คนบ้านนอกเหมือนกัน”
จำได้ว่าจากที่กำลังฮา ๆ อยู่ น้ำตาก็ไหลออกจากตาผมโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่กำลังหัวเราะกับมุกของอาบัณฑิตอยู่นั่นเอง ผมกลับต้องมาเสียน้ำตาเพราะซาบซึ้งในน้ำใจที่มนุษย์มอบให้กันในฉากดังกล่าว ถ้าตัดคำว่า “บ้านนอก” ออกไป ก็จะเหลือแต่คำว่า “คนเหมือนกัน” หรือ ”คนหัวอกเดียวกัน” ถ้าพูดในมุมพุทธศาสนาก็คือ “เป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน” นั่นเอง
น่าแปลก…ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไรผมก็ยังจำฉากนี้ได้ดี
—-2—-
กาลเวลาผ่านไปน่าจะชน ๆ ยี่สิบปี ผมมีโอกาสไปเที่ยวประเทศเวียดนามที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านเรา ผมเดินทางไปคนเดียว ทั้งที่ภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่องเลย เรียกว่ากระแดะเป็น ”แบ็กแพ็คเกอร์” ว่าอย่างนั้นเถอะ
แต่ด้วยความที่ภาษาไม่ได้เรื่องหรือเพราะอะไรก็ตามแต่ ผมได้พบประสบการณ์อันน่าประทับใจ
ตอนนั้นผมยังไม่รู้จัก “รอนดา เบิร์น” และชาวคณะ เดอะซีเคร็ต ของเธอ ผมจึงยังไม่มีโอกาสรับรู้ทฤษฎีทำนองว่า “ใช้ใน (ใจ) กำหนดนอก ให้ข้างนอกรับใช้ข้างใน” หรือเหมือนประโยคแรกในหนังสือของเธอ
”อยู่เหนือ ดังอยู่ใต้
ภายใน ดุจภายนอก”
เมื่อผมไม่รู้ เวลาผมประสบพบเจอกับเรื่องลบ ๆ ระหว่างการเดินทาง ผมก็เริ่มหงุดหงิด พอผมเริ่มหงุดหงิด ผมก็รู้สึกลบกับตัวเองมากขึ้นทุกที และแน่นอนว่า เจ้าความรู้สึกนี้ ”ดึงดูด” เหตุการณ์ลบ ๆ มาหาผมเป็นตับ เห็นจริงดังคำไทยโบราณที่ว่า “เกลียดอะไรได้อย่างนั้น” เพราะผมเจอจนอ่วมทีเดียว
ตั้งแต่ย่างเท้าเข้าไปที่ฝั่งชายแดนเวียดนามติดกับประเทศลาว (ผมดันนั่งรถข้ามไปทางประเทศลาว ขอแนะนำว่า ใครที่เป็นสตรีและมีครรภ์อยู่ห้ามใช้เส้นทางนี้โดยเด็ดขาด เพราะอาจแท้งได้!) เมื่อก้าวลงรถที่หน้าด่านลาวบาว เมืองชายแดนเวียดนามที่ติดกับลาว เหตุการณ์ลบ ๆ ก็เรียงหน้าเข้ามาทดสอบแบ็กแพ็คเกอร์ปากห้อยที่พูดกับใครไม่รู้เรื่องอย่างผมทันที…
ปัญหาแรกยังแก้ไม่เสร็จ ปัญหาใหม่ก็เข้ามาทดสอบเราอีก ประหนึ่งว่าผมเป็นพระเอกซีรี่ส์เกาหลีที่ต้องมีฉากชีวิตดราม่าโหด ๆ ให้ต้องผจญก่อนที่จะสมหวังในตอนสุดท้ายของเรื่อง แต่กว่าผมจะสมหวังเหมือนพระเอกหนังก็เล่นเอาอ่วมอรทัยเลยครับ นับตั้งแต่ ลาวบาว เว้ จนถึง ฮอยอัน แวะพักฮอยอันสามวันสองคืน ผมเจอฉากชีวิตโหดมาก แทบจะเอาโคมไฟกระดาษสุดโรแมนติกที่วางขายอยู่ริมแม่น้ำทูโบน สัญลักษณ์ของเมืองฮอยอัน มาทำเป็นโคมไฟส่งวิญญาณตัวเองสู่สรวงสวรรค์ (หมายถึงว่า…ถ้าผมได้ไปสวรรค์นะ!)
แต่เหตุการณ์ที่หนักหนาสำหรับผมนี่เอง ที่ทำให้ได้พบเจอกับ “เขา” ในเมืองต่อไป …
“เมืองดานัง”
—-3—-
จะว่าไปแล้ว ถ้ามองในภาพกว้าง ไอ้การคิดราคาสินค้าไม่ตรงตามจริง การกดขี่ข่มเหงนักท่องเที่ยวตาดำๆ (สำหรับผมก็ต้องเติมปากห้อย ๆ ไปด้วย!) ก็เป็นเรื่องราวที่มีอยู่แทบทุกที่ เพื่อให้ชาวแบ็กแพ็คเกอร์ได้ผจญภัยอย่างสนุกสนานในการเดินทางท่องโลก
แต่ปัญหาก็คือ เมื่อเจอจริง ๆ ผมกลับสนุกไม่ออกน่ะสิครับ ยิ่งตอนนั้นผมยังไม่รู้ทฤษฎี ”ในกำหนดนอก” ผมเลยยิ่งมืดครบแปดด้าน จะระบายกับใครก็ไม่ได้ เพราะดันไปคนเดียว ความร้อนอัดอั้นอยู่ในตัว โปรแกรมการเดินทางก็ไม่เอื้อให้กลับ ผมยอมรับเลยว่า นาทีนั้นความรู้สึกข้างในแย่มาก
จนผมได้พบกับเขา “คุณเฟื้อก” เจ้าของร้านกาแฟแห่งเมืองดานัง
วันนั้นผมกำลังจะขึ้นรถไฟจากดานังไปฮานอย ผมอุตส่าห์สำรวจที่ตั้งของสถานีรถไฟกันพลาดตามประสาคนฉลาด แต่กว่ารถไฟจะออกตั้งห้าโมงเย็น ผมเห็นว่าอีกนาน เลยแวะไปกินกาแฟที่ร้านคุณเฟื้อกใกล้ ๆ สถานีรถไฟ หลังจากทักทายกันตามประสา (มือ!) ของลูกค้าต่างชาติกับเจ้าของร้าน คุณเฟื้อกก็เกิดอยากเห็นตั๋วรถไฟของผมขึ้นมา ผมจึงหยิบให้ดู ตอนนั้นแหละผมถึงได้รู้ว่า “ผมดูเวลาผิด!!”
“มันตีห้าต่างหาก! ไม่ใช่ห้าโมงเย็น รถไฟมันออกไปตั้งนานแล้ว”
ผมบอกตัวเองในใจหลังจากที่ได้รู้ความจริงจากคุณเฟื้อก เอาละสิ เรื่องใหญ่แล้ว ผมเหวอไปหมด ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำอะไร คุณเฟื้อกแนะนำว่าให้ลองไปคุยกับทางสถานีรถไฟอีกที เขาสอนผมให้พูดอย่างดิบดี (หมายถึงวิธีการพูด) ว่า
”เป็นความผิดของเราเองนะ เปลี่ยนได้ไหม ถ้าไม่ได้ ขอซื้อตั๋วใบใหม่ครึ่งราคาได้ไหม”
ผมรีบกลับไปที่ช่องขายตั๋วของสถานีรถไฟ และได้คำตอบว่า “เปลี่ยนตั๋วไม่ได้และผมต้องซื้อตั๋วใหม่ในราคาเท่าเดิม”
ผมเดินคอตกกลับมาที่ร้านคุณเฟื้อก เพื่อหยิบเงินบาทไปแลกเป็นเงินด็อง พอคุณเฟื้อกทราบเรื่อง เขาจัดแจงบอกผมว่า
“ต้องไปแลกเงินที่ร้านขายทองนะ จึงจะได้ราคาตรงกับความเป็นจริง ห้ามไปแลกที่อื่น อาจจะโดนเขาโกง”
ท่าทาง สีหน้า และแววตาของคุณเฟื้อกเป็นทุกข์เป็นร้อนแทนผมมาก เขาเป็นเจ้าของประเทศที่ยังเป็นห่วงว่าคนต่างชาติอย่างผมจะโดนโกงโดนหลอก ประโยคบอกเล่าธรรมดา ๆ ของคุณเฟื้อกนี้มีหลากอารมณ์หลายมิติเหลือเกิน ที่สำคัญที่สุด นี่คือประโยคที่แสดงออกถึงความ “เอื้ออาทร” จากน้ำใสใจจริงของคุณเฟื้อก
ระหว่างที่ผมเดินไปแลกเงินในวันนั้น คงมีชาวเวียดนามในเมืองดานังหลายคนแปลกใจว่า
“ไอ้กะเหรี่ยงน้อยคนนี้มันเป็นอะไร ทำไมมันถึงเดินไปร้องไห้ไป”
ความรู้สึกเดียวกันกับหนัง “บุญชู” ที่ผมได้ดูสมัยก่อนเลยครับ ”ความเชื่อมั่น ศรัทธา ความดีงามในตัวมนุษย์” มีอยู่จริง ๆ และไม่เคยจางหายไปไหน และที่สำคัญ “สิ่งนี้” ไม่ได้มีแต่ในจอภาพยนตร์ “สิ่งนี้” มีให้ผมได้สัมผัสจริง ๆ เป็นของจริงในชีวิตจริงของผม
สาเหตุที่ผมซาบซึ้งจนถึงกับเดินร้องไห้อย่างไม่อายแมวที่ไหนก็เพราะว่า…ผมได้สัมผัส “สิ่งนี้” ในจังหวะที่เกือบ ๆ จะสิ้นหวัง สิ้นศรัทธาในความดีงามของมนุษย์อยู่พอดี
ฟ้าส่งเขามาทันเวลา…”คุณเฟื้อก” ชายชาวเวียดนามที่ทำให้ผมเห็นด้านดีงามของมนุษย ์ ผมมีความหวังเต็มเปี่ยมว่า “เราจะมีกันและกัน เพราะเราเป็นดั่งกันและกัน” อย่างที่ท่านติช นัท ฮันห์ นักบวชชาวเวียดนามกล่าวไว้ และเราจะดำเนินชีวิตอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไปบนโลกกลม ๆ ใบนี้
ผมมั่นใจว่า “จิตวิญญาณบุญชู” ที่หมายถึงมิตรภาพและความดีงามของมนุษย์ไม่ได้มีเฉพาะในหนัง
เพราะที่แน่ ๆ “จิตวิญญาณบุญชู” สำหรับผมมีอยู่จริงที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม อยู่กับชายที่ชื่อว่า…”คุณเฟื้อก” คนนี้
( วิชัย จงประสิทธิ์พร)
ที่มา คอลัมน์ Unforgettable นิตยสาร Secret
เรื่องและภาพ วิชัย จงประสิทธิ์พร, @ake_vichai
บทความน่าสนใจ