Dhamma Daily : ต้องปฏิบัติธรรมมากแค่ไหน ผลกรรมชั่ว ในอดีตจึงจะตามไม่ทัน
ถาม : ตั้งแต่เด็กไม่เคยทำกรรมหนัก ดูแลพ่อแม่อย่างดี ทำบุญและปฏิบัติธรรมมาตลอด แต่มาวันหนึ่งขับรถชนต้นไม้ จนบาดเจ็บและเสียเงินค่าซ่อมรถเป็นแสน อยากทราบว่า เราต้องเพียรทำดี ปฏิบัติธรรมให้มากแค่ไหนคะ จึงจะทำให้ ผลกรรมชั่ว ในอดีตตามไม่ทัน
ดร.พระมหาบวรวิทย์ รตนโชโต ตอบปัญหานี้ไว้ว่า
ตอบ : ความดีที่เราทำไป ผลที่ได้คือความสุขสมหวัง ความไม่ดีที่เราได้ทำไปก็ย่อมให้ผลเป็นวิบากกรรมคือความทุกข์ ความเดือดร้อน เรื่องของกรรมเป็นอจินไตยคือเป็นเรื่องที่หาคำตอบไม่ได้ ไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้อย่างละเอียดเหมือนพระพุทธองค์ คนเราทำกรรมมาหลายภพหลายชาติ ทั้งกรรมดีและกรรมไม่ดีคละเคล้ากันไป ขึ้นอยู่กับเจตนาและความรุนแรงของกรรมหรือเรียกง่าย ๆ ว่าขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของกรรม
ในกรรม 12 ประเภท ท่านแบ่งเป็นให้ผลตามกาลเวลา ตามหน้าที่และตามความหนักเบา
กรรมให้ผลตามเวลา
1.ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาตินี้ ไม่รอถึงชาติหน้า
2.อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติหน้า
3.อปราปรเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป
4.อโหสิกรรม กรรมที่เลิกให้ผล หรือหมดโอกาสจะให้ผลต่อไป เนื่องจากผู้กระทำกรรมบรรลุนิพพานไปแล้ว จึงไม่มีผู้รับผลแห่งกรรมนั้น ดังนั้นที่ถามว่าปฏิบัติธรรมแค่ไหน กรรมถึงจะตามไม่ทัน คำตอบก็คือต้องบำเพ็ญเพียรบารมีทำลายอาสวะกิเลสให้เหือดแห้งไปจนกว่าจะเข้าสู่นิพพาน กรรมใหญ่น้อยถึงจะตามไม่ทัน
กรรมให้ผลตามหน้าที่
1.ชนกกรรม กรรมนำเกิด เป็นกรรมที่แต่งมาดีหรือชั่ว
2.อุปถัมภกกรรม กรรมที่สนับสนุน คือ ถ้ากรรมเดิมหรือชนกกรรมแต่งดีส่งให้ดียิ่งขึ้น กรรมเดิมแต่งให้ชั่ว ก็ส่งให้ย่ำแย่ยิ่งขึ้น
3.ปุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้นหรือขัดขวางกรรมเดิม คอยเบียดเบียนชนกกรรมเช่นเดิมแต่งมาดี บีบให้ชั่ว เดิมแต่งมาชั่ว บีบให้ดี
4.อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน เป็นกรรมพลิกหน้ามือเป็นหลังมือเช่นเดิมชนกกรรมแต่งไว้ดี แต่ผลแห่งความชั่วมีกำลังมากกว่าจึงไปเข้าไปตัดรอนให้ได้รับผลชั่วหรือเดิมชนกกรรมแต่งไว้ย่ำแย่ แต่ผลแห่งความดีมีกำลังมากว่าจึงเข้าไปตัดรอนให้ได้รับผลดี
กรรมให้ผลตามความหนักเบา
1.ครุกรรม หรืออนันตริยกรรม เป็นกรรมหนัก กรรมที่ให้ผลก่อนกรรมอื่นทั้งมวล คือฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อเลือด ทำพระสงฆ์ให้แตกกัน
2.พหุลกรรม กรรมที่ทำจนชินหรือทำเป็นประจำเป็นอาจิณ
3.อาสันนกรรม กรรมที่ทำเมื่อใกล้ตาย หรือที่เอาจิตใจจดจ่อในเวลาใกล้ตายอาสันนกรรม ย่อมส่งผลให้ไปสู่ที่ดีหรือชั่วได้ เปรียบเหมือนโคแก่ที่อยู่ปากคอกแม้แรงจะน้อย แต่เมื่อเปิดคอกก็ออกได้ก่อน
4.กตัตตากรรม กรรมสักแต่ว่าทำ คือ เจตนาไม่สมบูรณ์อาจทำด้วยความประมาทหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์แต่ก็อาจส่งผลดีร้ายให้ได้เหมือนกัน ในเมื่อไม่มีกรรมอื่นจะให้ผลแล้ว
กรรมและผลแห่งกรรมนั้นแม้มองไม่เห็นแต่ก็สัมผัสได้ เขาทำงานทุกขณะจิตไม่มีว่างเว้น ไม่มีวันหยุด พอมีเหตุปัจจัยพร้อมเมื่อไหร่ก็จะให้ผลทันทีตามเหตุปัจจัยที่ตนได้กระทำลงไป ไม่ว่ากรรมจะให้ผลอย่างไรก็เป็นหน้าที่ของกรรม ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะไปตั้งตารอคอย
อดีตกรรมได้ทำลงไปแล้ว ย้อนกลับไม่ได้ แต่ปัจจุบันกรรมนี่แหละถือว่าเป็นสิ่งที่เราพึงตระหนักให้ดี คือทำความดีตามกุศลกรรมบถ 10 ประการให้ถึงที่สุดจนสุดความสามารถ กล่าวคือ การงดเว้นจากการฆ่าสิ่งมีชีวิต การงดเว้นจากการลักทรัพย์ การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม การงดเว้นจากการพูดเท็จ การงดเว้นจากการพูดคำหยาบ การงดเว้นจากการพูดส่อเสียด การงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ การไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น การไม่พยาบาทปองร้าย และสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูก)
หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่ Secret Magazine (Thailand)
บทความที่น่าสนใจ
Dhamma Daily : วิธีร่วมงานกับ คนเห็นแก่ตัว
เพราะเหตุใดคนเราจึงมัก กังวลเรื่องความตาย อยู่ตลอดเวลา
รูู้สึกหมั่นไส้ ไม่ชอบเพื่อนใน Facebook / Instagram ที่ชอบโชว์
ทำไม ปฏิบัติธรรม แล้วยังเอารัดเอาเปรียบและพูดจาว่าร้ายคนอื่น