พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า อานิสงส์ของการเจริญ โพชฌงค์ มีอยู่ 7 ประการ ได้แก่
1.ในปัจจุบัน จะได้บรรลุอรหันตผลโดยพลัน
2.ในปัจจุบันไม่ได้บรรลุ จะได้บรรลุในเวลาใกล้ตาย
3.ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ จะได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 สิ้นไป
4.ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ และไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 สิ้นไป จะได้เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 สิ้นไป
5.ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี และไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี จะได้เป็นพระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 สิ้นไป
6.ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี และไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายี จะได้เป็นพระอนาคามีผู้สสังขารปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 สิ้นไป
7.ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายี และไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้สสังขารปรินิพพายี จะได้เป็นพระอนาคามีผู้อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 สิ้นไป
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การเจริญโพชฌงค์ นอกจากจะระงับความเจ็บป่วยแล้ว ยังเป็นเหตุที่นำไปสู่พระนิพพานอีกด้วย
โพชฌงคปริตร
โพชฌังโค สะติสังขาโต
ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
วีริยังปีติปัสสัทธิ
โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร
สะมาธุเปกขาโพชฌังคา
สัตเตเต สัพพะทัสสินา
มุนินา สัมมะทักขาตา
ภาวิตา พะหุลีตะกา
สังวัตตันติ อะภิญญายะ
นิพพานายะ จะ โพธิยา
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะโสตถิ
เม โหตุ สัพพะทา
โพชฌงค์เจ็ด คือ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ พระมุนีผู้รู้แจ้งสภาวธรรมทั้งปวงตรัสว่า ผู้บำเพ็ญและกระทำโพชฌงค์ให้มาก ย่อมรู้แจ้ง บรรลุถึงพระนิพพานและความตรัสรู้ ด้วยสัจวาจานี้ ขอข้าพเจ้าจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ
เอกัสสะมิง สะมะเย นาโถ โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง
คิลาเน ทุกขิเต ทิสวา โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ
สมัยหนึ่ง พระโลกนาถทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลานะและพระมหากัสสปะอาพาธ ได้รับความทุกข์ จึงทรงแสดงโพชฌงค์เจ็ด
เต จะ ตัง อะภินันทิตวา
โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ
โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา
พระเถระทั้งสองยินดีรับโพชฌงค์นั้น หายจากโรคทันที ด้วยสัจวาจานี้ ขอข้าพเจ้าจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ
เอกะทา ธัมมะราชาปิ
เคลัญเญนาภิปีฬิโต
จุนทัตเถเรนะ ตังเยวะ
ภะณาเปตวานะ สาทะรัง
ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระธรรมราชาทรงพระประชวรหนัก รับสั่งให้พระจุนทเถระสาธยายโพชฌงค์ถวายโดยเคารพ
สัมโมทิตวา นะ อาพาธา
ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ
โสจถิ เม โหตุ สัพพะทา
พระองค์ทรงแช่มชื่นพระทัย หายจากพระประชวรโดยพลัน ด้วยสัจวาจานี้ ขอข้าพเจ้าจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ
ปะหีนา เต จะ อาพาธา
ติณณันนัมปิ มะเหสินัง
มัคคะหะตา กิเลสา วะ
ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ
โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา
พระพุทธเจ้าและพระเถระผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐทั้งสามได้หายจากอาพาธแล้วดุจกิเลสที่ถูกอริยมรรคประหาร ไม่กำเริบอีก ด้วยสัจวาจานี้ ขอข้าพเจ้าจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ
ที่มา : ชุดสุดยอดสงฆ์ 1 : หลวงปู่ขาว – พรชนก ชาติชำนิ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
photo by truthseeker08 on pixabay
บทความน่าสนใจ
บทสวดพร้อมคำแปล โพชฌังคปริตร ที่เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ มีพระดำรัสถึง