โลกมนุษย์ในระบบของ กฎธรรมชาติ
ในทางพระพุทธศาสนานั้นถือว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตาม กฎธรรมชาติ เรียกว่าความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และในระบบของความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นแยกได้เป็นกฎย่อยๆ เพื่อความสะดวก เป็น 5 กฎ ดังต่อไปนี้
อุตุนิยาม
อุตุนิยามคือ กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับความเป็นไปของโลกวัตถุ สิ่งทั้งหลายในโลกของวัตถุเป็นไปตามเหตุปัจจัยด้านกายภาพนี้ เช่น ดิน ฟ้า อากาศ ฤดูกาล การเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ อาทิ โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ หมุนไปเท่านั้นกำหนดเป็นวันหนึ่ง หมุนไปเท่านี้กำหนดเป็นปีหนึ่ง ความเป็นไปอย่างนี้ถือว่าเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่เป็นเหตุปัจจัยที่ไม่มีเจนตนา ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของวัตถุนี้จะมีความสม่ำเสมอค่อนข้างแน่นอน เช่น โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ หมุนเวียนไปตามกฎธรรมชาติค่อนข้างลงตัวและสม่ำเสมอ
พีชนิยาม
พิชนิยามคือ กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับพืชพันธุ์ เช่น ความเจริญเติบโตของต้นไม้ ตั้งแต่มีเมล็ดพืชมาปลูก แล้วงอกงามเป็นต้นพืช เมล็ดพืชอะไรก็ออกผลเป็นพืชชนิดนั้น แล้วพืชชนิดนั้นก็จะมีความเป็นไปในชีวิตของมันอย่างนั้นๆ ตลอดจนเรื่องชีวิตของมนุษย์ การเกิดของมนุษย์ การแบ่งชาติพันธุ์ของมนุษย์
จิตนิยาม
จิตนิยามคือ กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับการทำงานของจิต เช่นว่าจิตเป็นอย่างไร มีธรรมชาติเป็นอย่างไร มีการเกิดดับมีการสืบต่ออย่างไร จิตที่มีคุณสมบัติอย่างนี้เข้ามาประกอบแล้วจะมีสภาพเป็นอย่างไร คุณสมบัติอย่างไหนเข้ากันได้และเข้ากันไม่ได้ในขณะจิตเดียวกัน ถ้าจิตมีคุณสมบัตินี้เกิดขึ้น จะมีคุณสมบัติอื่นอะไรเกิดขึ้นได้อีกบ้าง หรือถ้าอันนี้เกิดแล้ว อันนั้นเกิดขึ้นด้วยไม่ได้เลย
กรรมนิยาม
กรรมนิยามคือ กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ หรือพูดให้กว้างว่าของสัตว์ทั้งหลาย หมายถึง กฎเกณฑ์แห่งเจตจำนง หรือความเป็นเหตุเป็นผลในด้านพฤติกรรมมนุษย์ที่เรียกว่า กฎแห่งกรรม พุทธศาสนาถือว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่ง อยู่ในระบบความสัมพันธ์ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นการกระทำของมนุษย์จึงเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการของธรรมชาติด้วย ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนาก็เป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นไปตามกฎข้อที่ 1 คืออุตุนิยาม
ธรรมนิยาม
ธรรมนิยามคือ กฎทั่วไปแห่งความเป็นเหตุเป็นผลกันของสิ่งทั้งหลาย ได้แก่ธรรมดาของสิ่งต่างๆ ที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ชีวิตมนุษย์มีการเกิดขึ้น แล้วก็มีความตายในที่สุด การที่สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นกฎใหญ่ที่ครอบคลุม
ส่วนหนึ่งจากหนังสือ ศึกษา ฝึกฝน พัฒนาตนให้สูงสุด
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความน่าสนใจ
Dhamma Daily : สาเหตุของ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เกิดจากอะไร
ธรรมชาติ คือธรรม บทความโดย พระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ)
ค้นพบอิสระทางจิตใจท่ามกลางธรรมชาติ ณ วัดพระธาตุดอยกองข้าว
3 ดารา ที่มีหัวใจรักสิ่งแวดล้อม