ซีเคร็ตชวนอ่าน : ทำไมพุทธจึงเป็นศาสนาแห่งความจริง
อมรินทร์ธรรมะผลิตหนังสือธรรมะน่าสนใจออกมาอีกแล้ว แค่เห็นชื่อเรื่องก็คิดเลยว่า ” ทำไมพุทธจึงเป็นศาสนาแห่งความจริง ” น่าจะตอบข้อสงสัยอะไรหลาย ๆ ของชาวพุทธ และผู้กระหายความรู้ทางพระพุทธศาสนาได้ดีทีเดียว
ได้ข่าวมาว่าผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ โรเบิร์ต ไรท์ เก่งไม่เบา งานเขียนของเขาได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ และติด New York Time Bestseller ด้วย เขาเป็นคนที่ไม่ยอมเชื่ออะไรง่าย ๆ จะต้องพิสูจน์ให้ได้เสียก่อนถึงจะเชื่อ ซึ่งพออ่านงานเขียนเรื่องนี้ของเขาแล้ว ทำให้เห็นว่าเขาเชื่ออย่างสนิทใจว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความจริง
คงด้วยความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาตะวันตกของเขาจึงทำให้ตั้งคำถามต่อพระพุทธศาสนาไว้มากมาย ทั้งคำสอน วิธีการปฏิบัติ และการหลุดพ้นจากความทุกข์ สังเกตจากวิธีการเขียนที่มักยกทฤษฎี ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาที่มีการทดลองแล้วมาเป็นหลักฐาน ทำให้งานเขียนของเขามีเสน่ห์น่าติดตาม ผู้อ่านจะเพลิดเพลินกับข้อมูลเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว เขาชอบยกเรื่องอาหารการกิน เช่น โดนัทน้ำตาลไอซิ่ง ทำให้เห็นถึงสภาวะของกิเลสที่เกิดขึ้นในขณะที่อ่าน ซึ่งโรเบิร์ต ไรท์กำลังเล่นกับกิเลสของผู้อ่านอยู่
ความจริงโดยธรรมชาติ หรือตามที่คนทั่วไปรับรู้ ความจริงจะมีเพียงความจริงเดียว ไม่สามารถมีความจริงของความจริงผุดขึ้นมาได้อีกอย่างแน่นอน แต่สำหรับพระพุทธศาสนากลับมองว่าความจริงมีอยู่ด้วยกัน 2 อย่าง คือ สมมติสัจจะ และ ปรมัตถสัจจะ คำว่า สัจจะ แปลว่า “จริง” หรือ “ความจริง” สมมติสัจจะ จึงแปลว่า ความจริงโดยสมมติขึ้นมา ส่วนปรมัตถสัจจะ แปลว่า ความจริงที่เป็นจริงโดยสภาวธรรม
ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจเรื่องสัจจะ 2 หรือ ความจริง 2 ประการในพระพุทธศาสนามากขึ้น ในทุกวันมนุษย์จะเห็น ดวงอาทิตย์จะขึ้นสู่ท้องฟ้าจากทิศตะวันออกในตอนเช้า และเคลื่อนไปตกดินยังทิศตะวันตกในตอนเย็น มนุษย์เห็นแบบนี้มาพันปี ตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ แต่พอวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าสามารถสร้างจรวดขึ้นไปสำรวจอวกาศได้ จึงได้ทราบความจริงอีกอย่างหนึ่งว่า ดวงอาทิตย์ไม่ได้เคลื่อนจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกอย่างที่มนุษย์เห็น แต่ดวงอาทิตย์กลับนิ่งอยู่กับที่ แต่โลกต่างหากที่หมุนแล้วส่วนที่แสงของดวงอาทิตย์ส่องมากระทบนั้นจะเป็นตอนกลางวัน ส่วนที่ยังไม่หมุนเข้าหาแสงอาทิตย์จะเป็นตอนกลางคืน แสดงให้เห็นว่ามีความจริงที่พิสูจน์ได้ในระดับต้น เลยสมมติว่าเป็นความจริง (สมมติสัจจะ) แต่ก็มีความจริงที่จริงยิ่งกว่า (ปรมัตถสัจจะ) อยู่อีกชั้นหนึ่ง
ไรเบิร์ต ไรท์ ผู้เขียน “ทำไมพุทธจึงเป็นศาสนาแห่งความจริง” เขาเริ่มต้นเรื่องด้วยความจริง 2 ประการนี้ก่อนแล้วค่อย ๆ หาคำตอบไปเรื่อย ๆ กับคำสอนของพระพุทธเจ้า และการนั่งสมาธิของชาวพุทธ งานเขียนของเขาน่าสนใจตรงที่ โรเบิร์ตพูดถึงอารมณ์ของมนุษย์ และยกตัวอย่างที่เข้าใจได้ง่าย เช่น กรณีการทะเลาะวิวาท การห้ามความโกรธของตนเองไม่ได้ เป็นต้น
คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป >>>