หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

หลักการปฏิบัติธรรมเบื้องต้นแนว หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

หลักการปฏิบัติธรรมเบื้องต้นแนว หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

คำภาวนา

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

มีความหมายว่า “ข้าพเจ้าขอรับเอาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก” ซึ่งจะขอขยายความเทียบตามหลักของ วิสุทธิมรรคคัมภีร์ ที่รจนาโดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ดังนี้

๑. ฐานของจิต

การกำหนดฐานของจิต ให้กำหนดไว้ที่หน้าผาก หรือระหว่างคิ้วทั้งสอง ตามหลักของ วัดประดู่ทรงธรรม และของ สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน วัดพลับ ถือว่าเป็นฐานที่ ๗ ซึ่งตามหลักท่านวางไว้ถึง ๙ ฐาน โดยฐานต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นเสมือนทางผ่านของลมหายใจที่ไปกระทบ เหมือนกับหลักของอานาปานสติ ฐานทั้ง ๙ ฐานที่กำหนดไว้ มีดังนี้

ฐานที่ ๑ อยู่ต่ำกว่าสะดือ ๑ นิ้ว
ฐานที่ ๒ อยู่เหนือสะดือ ๑ นิ้ว
ฐานที่ ๓ อยู่ที่ทรวงอก หรือที่ตั้งของหทัยวัตถุ
ฐานที่ ๔ อยู่ที่คอหอย หรือตรงกลางลูกกระเดือก
ฐานที่ ๕ อยู่ที่ท้ายทอย เรียกว่า โคตรภูญาณ (ทางวิทยาศาสตร์ถือเป็นที่ตั้งของสมองส่วน CEREBELLUM)
ฐานที่ ๖ อยู่ตรงกลางกระหม่อม
ฐานที่ ๗ อยู่กึ่งกลางหน้าผาก เรียกว่า อุณาโลม หรือทิพยสูญระหว่างคิ้ว
ฐานที่ ๘ อยู่ระหว่างตาทั้ง ๒ ข้าง
ฐานที่ ๙ อยู่ปลายจมูก

หลวงปู่ท่านบอกว่า การที่ให้ตั้งจิตไว้ตรงตำแหน่งกลางหน้าผากที่เดียวในเบื้องต้นนั้น ก็เพื่อจะได้ไม่ไปพะวงกับลมหายใจ ซึ่งอาจทำให้จิตใจวอกแวกในขณะที่ปฏิบัติ สำหรับผู้เริ่มภาวนาบางราย แต่ฐานสำคัญที่ท่านเน้นก็คือ ฐานที่ ๖ (ตรงกลางกระหม่อม) ท่านว่าฐานจริงๆ อยู่ตรงนี้ แต่จะต้องให้มีความชำนาญในทางสมาธิเสียก่อน จึงค่อยเอาจิตไปตั้งที่ฐานนี้ เพราะจะมีกำลังมาก สำหรับฐานที่หน้าผากนั้น ถ้าท่านเคยดูภาพยนต์อินเดียที่มีพระศิวะเขาจะเรียกว่า ตรีเนตร หรือตาที่ ๓ คือ ถ้าภาวนาให้ถูกจุด จะทำให้จิตสงบได้ง่าย และมีทิพยจักขุญาณเกิดขึ้น วิธีการภาวนา คือ ให้ใจเสมือนกับเราคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ในที่นี้ให้นึกถึงจุดเดียวคือคำภาวนา เหมือนกับเราคิดเลขในใจทำนองนั้น ทำใจเฉยๆ ไม่ต้องคาดคั้น คิดเดา หรืออยากเห็นนั่นเห็นนี่ เพราะเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นนิวรณ์ทั้งสิ้น หน้าที่หรืองานของเราในที่นี้คือ ภาวนา

๒. คำภาวนา

คำภาวนาที่ให้ภาวนา คือ ให้เรามีจิตระลึกถึงภาษาพระ หมายถึง พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติกรรมฐาน ทำใจให้มีการเคารพเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ อันจะเป็นกรรมฐาน ที่ทำให้ผู้ที่มีศรัทธาจริตหรือมีความเชื่อ เข้าถึงธรรมะได้โดยง่าย

๓. เครื่องชี้ว่าจิตสงบ

เมื่อปฏิบัติจนจิตเริ่มสงบแล้ว จะเกิดความสว่างขึ้นที่จิต พร้อมกันนั้นจะมีสิ่งที่เป็นตัวชี้บอกว่า จิตของเราเป็นอย่างไรบ้าง อันได้แก่ปิติต่างๆ เช่น อาการขนลุก ตัวเบา น้ำตาไหล ร่างกายโยกโคลง รู้สึกเหมือนกายขยายใหญ่ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะเป็นตัวชี้ถึงจิตว่า เริ่มจะสงบแล้ว ให้ผู้ปฏิบัติวางใจเฉยๆ อย่าไปยินดีหรือยินร้าย บางท่านที่มีนิสัยวาสนาบารมีทางรู้ทางเห็นภายใน ก็อาจจะเกิดองค์พระปรากฎขึ้นจากแสงสว่างเหล่านั้น

ในเรื่องการเห็นแสงสว่างนี้ บางสำนักท่านว่าอย่าไปสนใจ เอามืดดีกว่า เพราะเดี๋ยวจะหลง แต่ตามความเห็นของผู้เขียน นึกถึงคำบาลีที่ว่า “นัตถิ ปัญญา สมาอาภา” แสงสว่างเทียบด้วยปัญญาไม่มี ดังนั้น ผู้ที่เห็นแสงสว่างปรากฎขึ้น ก็เป็นนิมิตอันหนึ่ง ซึ่งแสดงให้รู้ประจักษ์อยู่ที่ตัวเราต่างหากว่า จะใช้แสงสว่างนี้ไปในทางที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะหลวงปู่ท่านบอกว่า การปฏิบัติต้องทำให้รู้ เห็น เป็น และได้ สำหรับในขั้นต้นนี้ “รู้” หมายถึง ให้มีสติรู้อยู่กับคำภาวนา เมื่อ “เห็น” ก็ให้รู้ว่า “เห็น” อะไร รู้จักกลั่นกรองด้วยสติปัญญา และเมื่อมีความชำนาญแล้วก็จะเป็น “เป็น” นั้นคือเห็นองค์พระได้ทุกครั้ง และสามารถที่จะทำ “ได้” เมื่อต้องการทำให้เกิดขึ้น นี่แหละคือหลักแห่ง “อภิญญา”

หลักในการนั่งสมาธิ ให้ขาขวาทับขาซ้าย มือขวากำพระวางบนมือซ้าย ให้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองจรดกัน วางบนตักพอสบายๆ ปรับกายให้ตรง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน สูดลมหายใจยาวๆ ลึกๆ สัก ๓ ครั้ง

ครั้งที่ ๑ ให้ภาวนาว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ครั้งที่ ๒ ภาวนาว่า ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
ครั้งที่ ๓ ภาวนาว่า สังฆัง สรณัง คัจฉามิ

จากนั้นจึงผ่อนลมหายใจให้เป็นไปตามธรรมชาติ ยังไม่ต้องนึกคิดสิ่งใด ทำใจให้ว่างๆ วางอารมณ์ทั้งที่เป็นอดีตและอนาคต เมื่อลมหายใจเริ่มละเอียด และจิตใจเริ่มโปร่งเบาขึ้นบ้างแล้วจึงค่อนเริ่มบริกรรมภาวนา โดยกำหนดจิตไว้ที่หน้าผาก (เอาสติมาแตะรู้เบาๆ) แล้วตั้งใจภาวนาคาถาไตรสรณคมน์ ดังนี้

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

เมื่อบริกรรมภาวนาจบแล้ว ก็ให้วกกลับมาเริ่มต้นใหม่เช่นนี้เรื่อยไป

มีสิ่งที่ควรทราบเพิ่มเติม ก็คือ ขณะที่บริกรรมภาวนาอยู่นั้น ให้มีสติระลึกอยู่กับคำภาวนา โดยไม่ต้องสนใจกับลมหายใจ คงปล่อยให้ลมหายใจเข้าออกเป็นไปตามธรรมชาติ ปราศจากการควบคุมบังคับ ภาวนาด้วยใจที่สบายๆ และให้ยินดีกับองค์พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เกิดขึ้นในจิต เมื่อจิตมีความสงบสว่าง ก็น้อมแผ่เมตตาออกไป โดยว่า

พุทธัง อนันตัง
ธัมมัง จักรวาลัง
สังฆัง นิพพานะ ปัจจะโยโหตุ

แล้วตั้งใจภาวนาต่อไป

เมื่อจิตถอนขึ้นจากความสงบ ให้ยกเอากายหรือเรื่องหนึ่งเรื่องใดขึ้นพิจารณา โดยน้อมไปสู่พระไตรลักษณ์ คือ

อนิจจัง (ความไม่เที่ยง)
ทุกขัง (ความทนได้ยาก)
และอนัตตา (ความไม่ใช่ตัวตนอันเที่ยงแท้)

เมื่อรู้สึกว่าจิตเริ่มซัดส่ายหรือขาดกำลังในการพิจารณา ก็ให้วกกลับมาภาวนาคาถาไตรสรณคมน์อีก เพื่อดึงจิตให้เข้าสู่ความสงบอีกครั้ง ทำสลับเช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าจะเลิก

ก่อนจะเลิกให้อาราธนาพระเข้าตัว โดยว่า

สัพเพ พุทธา สัพเพ ธัมมา สัพเพสังฆา
พะลัปปัตตา ปัจเจกานัญจะยังพะลัง
อะระหันตานัญ จะเตเชนะ
รักขัง พันธามิ สัพพะโส

พุทธัง อธิษฐามิ ธัมมัง อธิษฐามิ สังฆัง อธิษฐามิ

แล้วจึงแผ่เมตตาอีกครั้ง โดยว่าเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในตอนต้น

อนึ่ง การภาวนานั้นท่านให้ทำได้ทุกอิริยาบท คือ ยืน เดิน นั่ง นอน การปฏิบัติจึงจะก้าวหน้า และชื่อว่าตั้งอยู่ในความไม่ประมาท….

(หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ)

ขอบคุณที่มา : http://www.watthummuangna.com

Photo by Dave on Unsplash

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

หัวใจของการปฏิบัติธรรมอยู่ที่การเจริญกุศล โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

ปฏิบัติธรรมตามจริต แบบไหนที่เหมาะกับคุณ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.