ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : เมื่อพระ ทำผิดวินัย…โยมจะทำอย่างไรดี
พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ พระวิปัสสนาจารย์ที่เน้นสอนด้านการปฏิบัติ โดยสอนที่พุทธิกสมาคมฯ ได้ตอบปัญหาเรื่อง “ทำผิดวินัย” นี้ไว้ว่า
ถาม : พระอาจารย์คะ ถ้าเราพบเห็นพระ ทำผิดพระวินัย ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ เราควรแก้ปัญหานี้อย่างไรคะ
ตอบ : พระทำผิดก็อย่าไปทำผิดตามพระสิ ท่านทำผิดก็เป็นเรื่องของท่าน ไม่ใช่เรื่องของเรา…ใครทำกรรมอะไรไว้ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น สมมติว่าท่านทำผิดวินัยแล้วต้องตกนรก เราจะโดดลงนรกตามท่านไปทำไม
จริงๆ แล้ว การไม่แก้ปัญหาก็เป็นวิธีหนึ่งในการแก้ปัญหานะ เพราะปัญหาบางอย่างแก้ไขกันเดี๋ยวนั้นไม่ได้ แก้ไปเดี๋ยวก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม บางเรื่องต้องใช้เวลา หรือไม่ก็ต้องให้คนที่สร้างปัญหาแก้ปัญหานั้นได้ด้วยตัวของเขาเอง ถ้าคนทำเป็นคนแก้ ปัญหาจะยิ่งแก้ได้ง่ายและไวขึ้น แต่ถ้าคนอื่นไปแก้ให้ เรื่องจะเยอะเลย
ในเมื่อพระเป็นคนกำมือ ให้พระเป็นคนแบเองง่ายไหม…ง่ายนะ แต่ถ้าท่านกำแล้ว ทุกคนพยายามจะไปทำให้มันแบยากไหม…ยากมาก อย่างในสมัยพุทธกาล พระในเมืองหนึ่งอยู่กันอย่างสุขสบาย มีญาติโยมอุปัฏฐากเป็นอย่างดี ต่อมามีกรณีพิพาทเกิดขึ้น ทะเลาะกันใหญ่โต พระพุทธเจ้าทรงห้ามก็ไม่มีใครฟัง จึงทรงตัดสินใจปลีกวิเวกเข้าไปอยู่ในป่าไง
พอพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปอยู่ในป่า ชาวบ้านก็ถามพระว่าพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ไหน พระก็ตอบว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในป่า สืบสาวราวเรื่องไปจึงทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงหนีไปอยู่ป่าเพราะพระมัวแต่ทะเลาะกัน สักพักชาวบ้านจึงเริ่มไม่ใส่บาตร ไม่บำรุงในเรื่องปัจจัยสี่ พระก็เลยเริ่มอดนานๆ เข้าจึงคิดได้ว่า เหตุที่ชาวบ้านไม่ให้การบำรุงเป็นเพราะเราทะเลาะกัน สุดท้ายพระทั้งหมดจึงมาประชุมและสมานสามัคคีกัน แล้วไปนิมนต์พระพุทธเจ้าให้เสด็จกลับมา เหตุการณ์ทั้งหมดใช้เวลาเป็นสัปดาห์ๆ พระพุทธองค์ไม่ทรงแก้ไขนะ ทรงปล่อยให้เวลาเยียวยาแก้ไขด้วยตัวมันเอง
ถาม : เวลาเราเห็นพระไปยืนเลือกแผ่นภาพยนตร์ตามห้างสรรพสินค้า ไม่ก็นั่งดูโทรทัศน์หัวเราะเฮฮา หรือเคยเห็นบางรูปขอเบอร์โทรศัพท์สีกา บ้างก็ห่มจีวรหลุดๆ ลุ่ยๆ ไม่สำรวมสมกับเป็นพระสงฆ์…ในฐานะพุทธบริษัท เราควรเตือนหรือทำอย่างไรดีคะ
ตอบ : ตามหลักให้แจ้งผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการยกตัวอย่างเช่น เห็นคนทำผิดกฎหมาย เราก็ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ใช่เราไปวิสามัญหรือพิพากษาเขาด้วยตัวเอง อะไรไม่ใช่หน้าที่ของเราอย่าไปทำ ไม่งั้นจะเป็นกรรม อย่างสมมติถ้าไปเจอพระแถวพันธุ์ทิพย์ พันธุ์ทิพย์อยู่เขตไหนก็แจ้งไปทางเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัดนั้นให้พระจัดการเรื่องของพระ นี่คือหน้าที่โดยธรรมที่เราสมควรทำ ถ้าทำอย่างนี้ได้ ปัญหาจะไม่เกิด
หากเราเข้าไปก้าวก่ายหรือเข้าไปจัดการอะไรกับพระด้วยตัวเอง บางทีก็ยากที่จะแยกแยะอารมณ์และความรู้สึกออกไปหากเรามีอารมณ์ร่วมด้วย ต่อให้พฤติกรรมที่ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามแค่ไหน สิ่งที่ทำก็ถือเป็นอกุศลกรรมอยู่ดี เพราะมีโทสะประกอบอยู่ในจิต แต่ถ้าเราไปแจ้งผู้มีอำนาจ เขาก็จะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เราก็ไม่มีอารมณ์ร่วมมากนักอย่างบางคนเห็นอะไรไม่เหมาะสมปุ๊บ คิดจะเดินไปตบผัวะก็ลองคิดดูนะว่าตอนทำน่ะจิตว่างจากโทสะไหม ถ้าตบด้วยจิตว่างมันก็น่าอนุโมทนา…แต่ส่วนมากไม่ใช่
ฉะนั้น ก่อนที่เราจะทำสิ่งไหน ให้เช็กที่จิตว่าขณะนั้นจิตเรามีอารมณ์ปนเปื้อนหรือไม่ ถ้ามีอารมณ์ให้ “หยุด” อย่าเพิ่งทำอะไร อาจจะบริกรรมพุทโธ หรือนับ 1-2-3 ไปสักขณะสองขณะก่อน พออกุศลกรรมอ่อนกำลัง อารมณ์เริ่มเบาหรือว่างปุ๊บ เราค่อยเดินเข้าไปหาท่าน “ท่านผู้เจริญ ท่านทำอย่างนี้ไม่เหมาะนะ” ท้วงติงท่านอย่างมีสติ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าฉลาดจริง…พฤติกรรมเหมือนเดิม วาจาที่พูดก็คำเดิม แต่ถ้าพูดก่อนหน้านี้สักหนึ่งนาทีอาจมีอารมณ์ปนเปื้อน อาจใช้วาจารุนแรงให้เป็นบาปกรรมกับตัวเราเอง
กรรมที่ทำด้วยเจตนาอันร้ายแรง ทำด้วยความหมั่นไส้ถึงจะได้ความสะใจคืนมา เพราะได้จัดการพระไปหนึ่งรูป แต่ตัวเราต้องลงนรก มันคุ้มแล้วหรือ
ถาม : สมัยนี้พระทำผิดวินัยมีมาก พระปลอมก็เยอะจะป้องกันแก้ไขได้อย่างไรคะ
ตอบ : พระไม่มีปลอม พระจริงหมดนะ ส่วนคนที่เอาผ้าเหลืองมาห่มตัวเพื่อบิณฑบาตตอนเช้า ตกเย็นก็ถอดจีวรไปเข้าผับนั่นไม่ใช่พระหรอก ดูง่ายๆ ถ้าเป็น “พระ” ท่านจะมีใจประเสริฐศีลงามพร้อม การคิด การพูด การทำก็ต้องเป็นไปเพื่อการหลุดพ้น ไม่เป็นการก่อภพสร้างชาติหรือเพื่อมีลาภยศชื่อเสียงเงินทอง จุดประสงค์จริงๆ ของการบวชก็คือเพื่อละ เพื่อสละเพื่อนิพพาน ในยุคแรกๆ ของการบวช จิตของพระแต่ละท่านมุ่งมั่นที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ เลยตัดสินใจสละเครื่องพะรุงพะรังหลายส่วนเข้ามาสู่วิถีนี้ เรียกว่า “บวชไกลกังวล”
ต้องยอมรับนะว่าสมัยนี้มีการบวชหลายประเภท บวชหาเงินใช้หนี้ บวชหนีตำรวจ บวชสวดพระมาลัย บวชไกลกังวล บวชบุญเจ้าพ่อ บวชล่อข้าวเย็น บวชเล่นสีกา บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกตามเพื่อน บวชเปื้อนศาสนา และยังมีคนที่บวชเพราะอกหัก หลักลอย คอยงาน สังขารเสื่อม(หัวเราะ) ร้อยแปดพันเก้า บวชบุญเจ้าพ่อก็พวกบวชแก้บนบวชสวดพระมาลัยก็บวชเพื่อไปสวดตามงานศพแล้วรับซองเงินบวชหนีเมียนี่ก็มี (หัวเราะ) เพราะเมียวุ่นวายเหลือเกิน บวชมาเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียเลี้ยงสามีก็มีนะ ในย่ามมีลิปสติกแป้งพัฟกระจก รองพื้นครบ…ซึ่งไม่เหมาะสม
สมัยก่อนใช่ว่าไม่มีปัญหาแบบนี้ มีเหมือนกัน พระวินัยทุกข้อเกิดจากการทำผิดขึ้นมาก่อน พระพุทธเจ้าจึงทรงมาห้ามทีหลัง ขนาดสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระยังทำผิดกันเพียบเลย นับประสาอะไรกับสมัยนี้
จริงๆ พระอุปัชฌาย์ผู้อนุญาตให้บวชมีส่วนสำคัญ ถ้ารู้ว่าใครมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมและไม่อยากให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ก็สามารถกันไว้ก่อนโดยการไม่บวชให้ แต่ตอนหลังพระอุปัชฌาย์บางรูปอาจจะง่ายๆ สบายๆ ใครอยากบวชก็บวชได้เลย ไม่เข้มงวดกวดขัน จึงเกิดปัญหาขึ้นมา…เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับองค์รวมของเจ้าคณะสงฆ์ทั้งหมดที่ต้องมาร่วมเสวนากันว่าต่อไปอาจจะต้องเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งคณะสงฆ์ต้องไม่นิ่งดูดาย
แต่ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า บางครั้งมหาเถรสมาคมต้องรอให้เกิดปัญหาขึ้นก่อนจึงจะสามารถประชุมเสวนากันเพื่อบัญญัติกฎขึ้นได้ ต่อให้พฤติกรรมบางอย่างไม่ผิดพระวินัย แต่เพื่อความงามของคณะสงฆ์ไทยและเพื่อส่งเสริมศรัทธาของประชาชนก็ต้องบัญญัติกฎใหม่ๆ ขึ้นมาบ้าง แต่ปัญหาพระตุ๊ด พระแต๋วนั้น บางทีเป็นเพราะตอนมาขอบวชก็ดู “แมน” ดี แต่พอบวชไปสักเดือนเริ่ม “แม้นแมน” (หัวเราะ) ถ้าไม่อยากให้คณะสงฆ์แปดเปื้อน มีแต่สิ่งไม่ดีไม่งาม ทุกคนต้องร่วมกันสร้างสรรค์สังคม อย่าปล่อยให้ “เธอ” ลอยนวล
ชาวพุทธต้องทำหน้าที่ของพุทธบริษัทอย่างเต็มที่โดยมีเมตตาปรานีเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ชั่วชั่งชี ดีชั่งสงฆ์ ปล่อยปละละเลยไป…ไม่งั้นเสร็จแน่…
หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่
นิตยสาร Secret คอลัมน์ Dhamma Daily หรือ dhammadaily2015@gmail.com