เมื่อเกิด ” รักสามเส้า ” เราจะก้าวต่อไปอย่างไร ธรรมะดับทุกข์โดย พระไพศาล วิสาโล
รักสามเส้า และปัญหานอกใจ จัดเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายคนกำลังพบเจอ หลายครั้งปัญหานี้จบลงด้วยน้ำตา อีกหลายคราจบลงด้วยชีวิต แต่บางคนก็ไม่ยอมจบปัญหา ยื้อเวลาไว้อย่างนั้น ในขณะที่อีกหลายคนไม่รู้ว่าควรจะก้าวต่อไปอย่างไรดี
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ให้คำแนะนำเกี่ยวกับ “รักสามเส้า” ไว้หลายกรณีดังนี้
กรณีที่ 1 ทำอย่างไรเมื่อเขาทิ้งเราไปมีคนใหม่ แต่เราตัดใจไม่ลงสักที
การที่สามีไปมีผู้หญิงอื่นทำให้คุณรู้สึกว่า คุณไม่มีความหมาย ไร้คุณค่า ยิ่งคุณรู้สึกยึดมั่นใน “ตัวกู” มากเท่าไร ก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกดูถูกเหยียดหยามมากเท่านั้น ขณะเดียวกันหากคุณยึดมั่นว่าสามีเป็น “ของกู” ก็จะยิ่งโกรธที่เขาถูกแย่งไปจากคุณ อาตมาอยากให้คุณพิจารณาให้ดี ๆ ว่า ความรู้สึกที่รบกวนจิตใจของคุณเกิดจากอะไรแน่ ถึงที่สุดแล้วมันก็ไม่หนีไปจากความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกูนั่นเอง
ความยึดติดถือมั่นนี้แหละที่เป็นตัวการสร้างความทุกข์แก่เราอย่างแท้จริง และนำไปสู่การซ้ำเติมตัวเอง เพราะแทนที่จะเสียของรัก เช่น สามี ทรัพย์สมบัติ ก็เสียความสุขซ้ำเข้าไปด้วย ไหน ๆ จะเสีย ก็ขอให้เสียอย่างเดียวพอ ไม่ควรเสียใจซ้ำอีก
หากคุณทุกข์ใจเพราะรู้สึกว่าได้สูญเสีย “ของกู” ก็ลองใคร่ครวญอย่างจริงจังว่าสามีนั้นเป็นของคุณจริงหรือ คุณสามารถครอบครองเขาได้จริงหรือ หรือว่าเขาเพียงแต่ผ่านเข้ามาในชีวิตของคุณเพียงเพื่อจะจากไปในที่สุด ไม่มีทางที่คุณจะยึดเป็นของคุณได้เลยแม้แต่นาทีเดียว
หากคุณเจ็บปวดเพราะรู้สึกว่าตัวคุณไร้คุณค่าหรือถูกดูถูกเหยียดหยาม ก็ลองใคร่ครวญดูว่า คุณค่าที่แท้ของคุณนั้นอยู่ที่ตัวคุณเอง อยู่ที่การกระทำและภาวะภายในของคุณ หาได้อยู่ที่สายตาของคนอื่นไม่ การที่เขาทิ้งคุณไปไม่ได้ทำให้คุณค่าของคุณลดน้อยถอยลงเลย คนที่จะลดทอนคุณค่าของตัวคุณได้มีคนเดียวเท่านั้น คือคุณ
อาตมาขอแนะนำให้คุณลองมองเหตุการณ์นี้ในมุมใหม่ว่า การที่สามีทิ้งคุณไปนั้น เป็นการฝึกให้คุณรู้จักพึ่งพาตนและกลับมาเห็นคุณค่าของตนเอง ไม่เอาความสุขไปผูกติดกับคนอื่น ช่วยให้คุณเป็นอิสระอย่างแท้จริง อีกทั้งยังทำให้คุณได้เห็นถึงโทษของความยึดมั่นในตัวกูของกูและกระตุ้นให้คุณคลายความยึดมั่นดังกล่าวลง
กรณีที่ 2 ทำอย่างไรเมื่อเขาเผลอนอกใจ แล้วสำนึกผิดและขอโอกาสอีกครั้ง แต่เราให้อภัยไม่ได้
หากสามีของคุณสำนึกผิดและขอโทษคุณ คุณก็ควรให้โอกาสเขาพิสูจน์ตนเองอีกครั้ง คนเรานั้นย่อมมีความพลาดพลั้งเป็นธรรมดา หาความสมบูรณ์แบบไม่ได้ แม้ว่าความผิดพลาดครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่ในเมื่อคุณยังรักเขา ก็ควรรู้จักให้อภัยเพราะรักแท้นั้นหมายถึงการให้ เช่นเดียวกับแม่ที่พร้อมให้อภัยต่อลูกเสมอ แม้ลูกจะทำความเจ็บปวดแก่แม่ก็ตาม หากคุณยอมรับว่าเขาเป็นคนที่ไม่เคยบกพร่องในการเป็นสามีและพ่อ เมื่อเขาพลั้งพลาดเพียงครั้งเดียว จึงไม่น่าที่จะตัดรอนเขาไป การทำเช่นนั้นไม่ได้สร้างความทุกข์แก่เขาเท่านั้น แต่ยังเป็นผลเสียต่อคุณและลูกด้วย
กรณีที่ 3 ทำอย่างไรหากเราหมดซึ่งความไว้วางใจในตัวเขาแล้ว
หากยังคิดที่จะมีชีวิตคู่ด้วยกันหรือเป็นแฟนกันก็ต้องให้โอกาสคู่รักของตนในการแก้ตัว เพราะคนเรานั้นย่อมผิดพลาดกันได้ หากเขาสำนึกผิดและอยากแก้ตัว ก็ควรให้โอกาสเขา ระหว่างนั้นก็ควรลดความระแวงลงบ้าง เพราะตราบใดที่ยังมีความระแวงอยู่ย่อมมีการจ้องจับผิด ซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์ทั้งแก่เขาและแก่ตนเอง เพราะเป็นธรรมดาว่าเมื่อจ้องจับผิดแล้ว ก็ย่อมเห็นแต่เรื่องที่ไม่สบายใจหรือเพิ่มความระแวงสงสัยให้หนักขึ้น (ส่วนเขาจะทำจริงหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) เพราะ อคติเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมยากที่จะเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริงได้ แม้แต่สิ่งที่อยู่ข้างหน้าก็ตาม
คนเรานั้นหากไม่มีความไว้วางใจกันแล้ว ย่อมอยู่ร้อนนอนทุกข์ ถ้าเป็นอย่างนั้น ต่างคนต่างอยู่หรือเป็นแค่เพื่อนกันไม่ดีกว่าหรือ ความทุกข์จะได้ลดลง ถ้าอยู่แล้วทุกข์ทั้งสองฝ่ายจะมีประโยชน์อะไร ดังนั้นถ้ารักจะเป็นแฟนกันก็ควรมีความไว้วางใจกันตามสมควร ลดความระแวงลงและให้โอกาสแก่คู่รักของเขาในการพิสูจน์ตนเองอย่างน้อยก็สักระยะหนึ่ง
แม้อดีตจะมีเรื่องที่เจ็บปวด ก็ไม่ควรฝังใจอยู่กับอดีต หรือปล่อยให้อดีตครอบงำจิตใจจนไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้
หากคุณให้โอกาสเขาแก้ตัวแล้วเขายังนอกใจอยู่ ถึงตอนนั้นจึงค่อยตำหนิหรือว่ากล่าวเขา หรือจะตัดความสัมพันธ์ไปเลยก็เป็นเรื่องที่สมควรอยู่
กรณีที่ 4 จะดีไหม ถ้าไม่เลือกวิธีหย่า แต่ขอแยกลูกออกจากพ่อของเขา
คุณไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อลูกที่แยกเขาออกจากพ่อ จึงไม่เป็นบาปแต่อย่างใด แต่คุณก็ต้องไตร่ตรองว่าการทำเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อเขาอย่างไร หากคุณสามารถให้ความรักแก่เขาได้อย่างเต็มที่ สามารถเป็นทั้งแม่และพ่อให้แก่เขาได้ หรือมีข้อตกลงเพื่อให้เขาได้อยู่ใกล้ชิดกับพ่อตามโอกาส ผลเสียต่อลูกก็ไม่น่าจะมีมาก อย่างไรก็ตาม หากคุณสามารถอดทนเพื่อให้ลูกมีทั้งพ่อและแม่อยู่ใกล้กัน (โดยมีบรรยากาศของครอบครัวที่ไม่อึมครึมร้าวฉาน) ก็น่าจะดีต่อลูกมากกว่า
แต่ถ้าคุณอยู่แล้วไม่มีความสุขเลยมีแต่ความทุกข์ หรือถึงกับมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับสามีเป็นอาจิณ การอยู่เป็นครอบครัวในสภาพเช่นนั้นย่อมส่งผลเสียต่อลูกมากกว่า เรื่องนี้คุณลองพิจารณาดู แต่หากตัดสินใจที่จะแยกจากเขา ก็ควรทำหลังจากที่ให้โอกาสเขาแก้ตัวแล้วไม่มีอะไรดีขึ้น
ตัวอย่างคำแนะนำจากพระไพศาล วิสาโล คงช่วยให้ผู้มีปัญหาเริ่มตัดสินใจได้แล้วว่า ตัวเองจะก้าวต่อไปอย่างไร…ไม่ว่าจะเลือกทางไหน Secret ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง ผั่นพั้น