ฤดูหนาวของทุกๆ ปี หลายคนพากันมุ่งหน้าขึ้นเหนือ เพื่อสัมผัสลมหนาวเคล้าทะเลหมอก แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่านอกเหนือจากลมหนาวแล้ว ภาคเหนือยังมีไออุ่นแห่งศรัทธาในพุทธศาสนาของชาวล้านนาให้ได้สัมผัสด้วย
ตานหลัวหิงไฟพระเจ้าคืออะไร
“ตาน” หมายถึง การทำทาน “หลัว” เป็นคำเมือง หมายถึง ฟืน “หิงไฟ” ก็เป็นคำเมืองเช่นกัน หมายถึง ผิงไฟ ส่วน “พระเจ้า” หมายถึง พระพุทธเจ้า ซึ่งในที่นี้สื่อถึงพระประธานของวัดนั้นๆ นั่นเอง
แล้วเหตุใดจึงต้องหิงไฟพระเจ้า
เดือนมกราคม ซึ่งทางเหนือเรียกกันว่า “เดือนสี่เหนือ” เป็นเดือนที่อากาศหนาวเย็นมาก ชาวล้านนาเชื่อว่าพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปก็มีชีวิตเลือดเนื้อไม่ต่างจากคน ย่อมต้องรู้สึกหนาวเย็นเช่นกัน และวิธีคลายหนาวที่ดีที่สุดคือการ “ผิงไฟ” ดังนั้นจึงเกิดประเพณีนี้ขึ้นมาในล้านนา โดยมักกำหนดให้จัดขึ้นใน “วันสี่เป็งหรือวันขึ้นสิบห้าค่ำเดือนสี่เหนือ” หรือในปีนี้ (2559) ตรงกับวันเสาร์ที่ 23 มกราคม
ก่อนวันงาน
ก่อนวันสี่เป็งราวหนึ่งสัปดาห์ ชาวบ้าน ภิกษุและสามเณรจะเดินขึ้นดอยไปหา ไม้จี้ หรือ ไม้หนามจี้ (เชื่อกันว่าการเลือกใช้ไม้ที่มีหนามจะทำให้มีสติปัญญาแหลมคมรู้แจ้ง) ไม้หอม (ห้ามใช้ไม้ที่มีกลิ่นเหม็น มีรสเผ็ดหรือเปรี้ยวเด็ดขาด เพราะถือว่าไม่เป็นมงคล) และไม้ไผ่ลำใหญ่ๆ นำมาตัดเป็นท่อนยาวๆ ก่อนจะลิดหนามแล้วปอกเปลือกไม้ออกให้เกลี้ยงเกลา ตากแดดทิ้งไว้ให้แห้งสัก 4-5 วัน เพื่อนำไปถวายวัดเป็น “ตานหลัว”
แต่ละบ้านจะเตรียม “ไม้หลัว” ตามจำนวนสมาชิกในบ้าน อย่างน้อยคนละ 1 ท่อนหรือมากกว่านั้นก็แล้วแต่ จะเป็นเลขคู่หรือไม่ ไม่สำคัญ เมื่อลำเลียงไม้หลัวถึงวัดแล้ว ชาวบ้าน ภิกษุ และสามเณรจะช่วยกันนำไม้หลัวทั้งหมดมาก่อเป็นรุปกระโจมทิ้งไว้หน้าโบสถ์ ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันก่อนหน้าที่จะทำพิธี พร้อมกับโยงฝ้ายหรือสายสิญจน์ไปยังพระประธานของวัด เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการเตรียมพิธีตานหลัวหิงไฟพระเจ้า
เช้าของวันสี่เป็ง
ย่างเข้าตีสี่ของวันขึ้นสิบห้าค่ำเดือนสี่เหนือ (วันสี่เป็ง) ภิกษุและสามเณรทั้งหมดของแต่ละวัด จะฝ่าความหนาวเย็นออกมาทำพิธี เริ่มด้วยเจ้าอาวาสทำหน้าที่บอกกล่าวพระประธานในโบสถ์ ก่อนจะเริ่มจุดกองไฟให้สว่างโชติช่วง เพื่อบูชาพระรัตนตรัยและสร้างไออุ่นให้พระประธาน
ขณะเปลวไฟลามเลียกองไม้หลัว ก็จะมีเสียงลั่นเปรี๊ยะๆ สลับกับเสียงระเบิดตูมตามของไม้ไผ่แทรกขึ้นให้ได้ยินเป็นระยะๆ นับเป็นความชาญฉลาดของบรรพบุรุษที่นำไม้ไผ่มาเป็นไม้หลัว เพราะเชื่อกันว่าเมื่อไม้ไผ่ปล้องใหญ่ๆ ถูกความร้อน ก็จะแตกเสียงดังลั่นขึ้นไปถึงสรวงสวรรค์เพื่อให้เทวดาเบื้องบนช่วงอนุโมทนา ทั้งยังเป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านตื่นนอนและเตรียมตัวมาวัด เพื่อร่วมงานบุญในยามรุ่งสาง
อาจกล่าวได้ว่า ตานหลัวหิงไฟพระเจ้าเป็นงานบุญแห่งการร่วมแรงร่วมใจของฆราวาสทั้งหมู่บ้านและพระสงฆ์ที่จะต้องหาไม้หลัวมารวมกันให้มากๆ ส่วนการหิงไฟพระเจ้าคือการเผากิเลสตัณหา ปล่อยทุกข์ปล่อยโศกให้หมดไปกับกองไฟ เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนกับการผิงไฟให้คลายหนาว
เพราะเมื่อกายอุ่นขึ้น เราก็มีความสุขและกำลังใจในชีวิตต่อไป
ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี
หากอยากเป็นส่วนหนึ่งของงาน “ตานหลัวหิงไฟพระเจ้า” แนะนำว่าต้องเตรียมตัวเคลียร์งานแต่เนิ่นๆ หนึ่งปีมีครั้งเดียว พลาดแล้วพลาดเลย และมีเพียงแค่สองจังหวัดคือเชียงใหม่และแพร่ สำหรับเชียงใหม่ส่วนมากเป็นวัดที่อยู่แถบชนบทและสามารถหาฟืนได้ง่าย เช่น วัดยางหลวง และวัดป่าแดด อ.แม่แจ่ม วัดพระธาตุดอยกู่ อ.ดอยสะเก็ด ส่วนที่จังหวัดแพร่ ต้องมุ่งหน้าไปยังวัดสูงเม่น อ.สูงเม่น