Dhamma Daily : พระพุทธศาสนาพูดถึงเรื่อง ฤกษ์ยาม ไว้อย่างไรคะ
ฤกษ์ยาม นั้นสำคัญไฉน คนไทยเราไม่ว่าจะบวชหรือจะเบียด ขึ้นบ้านใหม่ เปิดกิจการถอยรถ ฯลฯ มักนิยม “ดูฤกษ์ดูยาม” ไว้ก่อนเพราะเชื่อว่าจะโชคดีมีสุข เจริญรุ่งเรือง เงินทองไหลมาเทมาทั้งๆ ที่บางคนอาจไม่เคยรู้เลยว่าความเชื่อนี้จริงหรือเท็จอย่างไร
คำถาม : พระพุทธศาสนาพูดถึงเรื่อง“ฤกษ์ยาม” ไว้อย่างไรคะ
ดร.พระมหาบวรวิทย์ รตนโชโต ตอบปัญหานี้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสถึงฤกษ์ยามไว้ในสุปุพพัณหสูตรไว้ดังนี้ “ภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจาประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้าก็เป็นเวลาเช้าที่ดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกายประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเที่ยง เวลาเที่ยงก็เป็นเวลาเที่ยงที่ดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกายประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นก็เป็นเวลาเย็นที่ดีของสัตว์เหล่านั้น”
ดังนั้นฤกษ์ยามคือช่วงเวลาที่เหมาะสมสะดวก และมีความพร้อมในการประกอบกิจการงานนั้น ๆ นั่นเองส่วนการหาฤกษ์ยามในการมุ่งประโยชน์นั้นให้มองไปที่กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม คือ ทำดี พูดดี คิดดี หากมีครบทั้งสามอย่างเมื่อใดก็ถือว่าเป็นฤกษ์อันเป็นมงคล เป็นฤกษ์แห่งความเจริญรุ่งเรืองหากประวิงเวลาในการทำดีก็จะพลาดฤกษ์ยามอันดี คือประโยชน์อันจะพึงมีพึงได้ไปได้
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในนักขัตตชาดกว่า “ประโยชน์ได้ล่วงเลย คนโง่เขลาผู้มัวคอยฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้” หากใครปรารถนาจะให้ชีวิตของตนมีแต่ความเป็นมงคลก็ต้องปฏิบัติตามมงคลนั้น ๆ นั่นเอง
แล้วถ้าเป็นการบวชหรือการสึกล่ะคะ ฤกษ์ยามเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่
กดหมายเลข 2 เพื่ออ่านหน้าถัดไป >>>