โกรธ แล้วได้อะไร บทความชวนคิด จาก พระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ)
บทความเรื่อง ” โกรธ แล้วได้อะไร ” เขียนโดย พระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ)
มีคนไม่น้อยตั้งคำถามว่า จะละความโกรธได้อย่างไรรู้สึกผิดทุกครั้งที่โกรธออกไป ชอบมีคนทำให้โกรธ ระงับความโกรธไม่ได้ โกรธง่ายหายช้า ชอบโกรธและผูกโกรธ บางคนถึงขนาดบอกว่า ตนเองชอบขับเคลื่อนชีวิตด้วยความโกรธ
ความโกรธเป็นการแสดงออกที่หยาบที่สุดของกิเลสมนุษย์บางคนคิดว่านั่นคือการแสดงพลังอำนาจ แต่ความจริงเขาหารู้ไม่ว่า ความโกรธเป็นไฟเผาลนใจเราให้เสียพลังอำนาจ ทำให้ระบบการทำงานของหัวใจและเลือดในร่างกายผิดปกติ
ข้าพเจ้าเคยทดสอบการตรวจวัดหัวใจและเลือดของคนคนเดียวกันขณะที่นิ่งสงบเปรียบเทียบกับเวลาโกรธ เห็นได้ชัดว่า การเต้นของหัวใจ การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ความดัน และความสะอาดของเม็ดเลือดต่างกันอย่างสิ้นเชิง เราจึงเห็นคนโกรธจัดบางคนถึงกับเป็นลมแน่นิ่งไป
ความโกรธมีแต่ให้โทษ ไม่เคยให้คุณแก่ใคร ความโกรธเผาใจเราก่อน จึงลามออกมาเผาผลาญคนอื่น ใครชอบโกรธโกรธง่าย มีอะไรนิดหน่อยไม่ถูกใจก็โกรธทันที ไม่ยับยั้งตั้งสติอดทนไม่ได้ เท่ากับคนคนนั้นกำลังนอนอยู่ในกองเพลิง คิดดูเวลาเกิดเพลิงไหม้ลุกโพลง ใครอยู่ในกองเพลิงก็ต้องถูกเผาให้ตายสถานเดียว ต้องรีบออกมาจากกองเพลิงให้ได้โดยเร็ว
ความโกรธก็เช่นกัน เมื่อรู้ตัวต้องรีบออกจากกองเพลิงคือความโกรธนั้นโดยเร็ว เพราะจะทำให้เราตายจากมิตรสหาย ตายจากความเชื่อถือของคน ตายจากสถานะที่ควรจะได้รับ เช่น การเป็นผู้นำ ถ้าเราขับเคลื่อนชีวิตด้วยความโกรธ เราจะไม่ได้ยินคำเตือนจากคนดี จะพบแต่คนประจบสอพลอ เอาใจเรา ตามใจเราคนพวกนี้เป็นมิตรปอกลอก กลิ้งกลอกไปวัน ๆ
คนมักโกรธ ยากจะหามิตรแท้ในชีวิต เขาจะคบเฉพาะคนที่ลงให้เขา ยอมเขา ยกเขาให้เป็นที่หนึ่งเท่านั้น ไม่ขัดใจเขาไม่ว่าถูกหรือผิดกับคำถามที่ว่า “โกรธแล้วได้อะไร” ตอบว่า “โกรธแล้วได้ความเสื่อม ความมืดบอดทางสติปัญญาไร้มิตรภาพและความจริงใจ สุขภาพเสื่อมโทรม เกิดโรคร้ายตามมา
ที่สำคัญ โกรธทุกครั้งเสียใจทุกคราว”
บทความน่าสนใจ
ชัยชนะที่น่าชื่นชมคือการ ชนะความโกรธ
5 วิธีระงับความโกรธ แบบผิดๆ ที่ไม่ควรทำตอนหัวร้อน
ทำไมปฏิบัติธรรมแล้วกลายเป็น คนโกรธง่าย เอาซะอย่างนั้น?
ทศพิธราชธรรมข้อที่ 7 อักโกธะ (ความไม่โกรธ)
9 เคล็ดลับการจัดห้อง สร้างโซนดับโกรธ ช่วยใจสงบ
Dhamma Daily : พ่อแม่มีนิสัยยึดมั่นถือมั่น และชอบโกรธ จะมีวิธีช่วยอย่างไร
โกรธให้ดี อย่างนี้ก็มีด้วย เทคนิคการบริหารจัดการกับความโกรธ