ครูบาศรีวิชัย

ตนบุญแห่งล้านนา ครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย

ตนบุญแห่งล้านนา ครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย

ซีเคร็ต ขอนำเสนอเรื่องราวของท่าน เพื่อร่วมน้อมรำลึกถึงคุณความดีของ ครูบาศรีวิชัย พระมหาเถระผู้ได้รับสมญานามว่า “ตนบุญแห่งล้านนา” อันมีความหมายว่า “นักบุญแห่งล้านนา”

หากเอ่ยถึงศูนย์รวมพลังแห่งศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของชาวล้านนา หนึ่งในนั้นคือ ครูบาศรีวิชัย พระอริยสงฆ์ผู้มีบทบาทสำคัญต่อพุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้ จนเป็นที่เลื่องลือกล่าวขาน ยังความเลื่อมใสศรัทธาถึงปัจจุบัน นอกจากท่านเป็นผู้นำในการสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพและบูรณปฏิสังขรณ์วัดสำคัญอีกหลายแห่งทั่วภาคเหนือแล้ว ครูบาศรีวิชัยยังถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตรที่งดงามและถือปฏิบัติตามธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด

 

กำเนิดนักบุญ

ครูบาศรีวิชัยเป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 5 คน ของนายควายและนางอุสา ชาวบ้านปาง ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนเล่ากันมาว่า ก่อนตั้งท้องบุตรคนนี้ นางอุสาฝันว่าตนเดินเข้าไปในป่าลึก เห็นต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ มีสัตว์หลายชนิดมาอาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิ์ ต่างเอื้อเฟื้อเมตตาต่อกัน นางอุสาและนายควายเข้าใจว่าเป็นนิมิตที่ดี แสดงว่ากำลังจะมีผู้มีบุญมาเกิด

จวนถึงเวลาพลบค่ำของวันที่ 11 มิถุนายนพ.ศ. 2421 ขณะที่นางอุสาคลอดบุตรก็เกิดเหตุการณ์น่าอัศจรรย์ ท้องฟ้าสว่างโล่งกลับมืดครึ้ม พายุพัดกระหน่ำ ทั้งเสียงฟ้าร้องและฟ้าผ่าจนสะเทือน ทั้งสองจึงตั้งชื่อบุตรชายว่า “อ้ายฟ้าฮ้อง” หรือเด็กชายฟ้าร้อง

ชีวิตในวัยเยาว์ อ้ายฟ้าฮ้องเป็นเด็กเงียบขรึม สันโดษ ไม่สุงสิงกับเพื่อนวัยเดียวกัน ชอบเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย และรักความสงบตามธรรมชาติ ชอบกินแต่ผักกับน้ำพริก ใจบุญ วันหนึ่งอ้ายฟ้าฮ้องนำปลาที่พ่อจับมาขังไว้ไปปล่อย พร้อมขอให้พ่อเลิกล่าสัตว์ โดยให้เหตุผลว่าเป็นบาป เพราะแม้เป็นสัตว์ก็ยังรักชีวิต นายควายและนางอุสาแปลกใจเพราะไม่เคยสอนเรื่องนี้มาก่อนจึงคิดว่าบุตรชายของตนต้องครองผ้าเหลืองเป็นแน่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์

ฟ้าฮ้องในวัยหนุ่มขยันขันแข็ง ช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา แตกต่างจากคนวัยเดียวกัน เมื่ออายุ 17 ปีได้ขอพ่อแม่บวชเรียน เพราะคิดว่าเหตุที่พ่อแม่และครอบครัวพี่น้องมาอยู่ในที่ทุรกันดาร ยากจน ไม่ไปเกิดอยู่ในเมืองที่มีเงินทองร่ำรวย หรือเป็นเพราะชาติปางก่อนสร้างและสะสมกรรมดีไว้น้อยนัก ส่งผลให้ชาตินี้มีชีวิตยากลำบาก หากตนบวชจะได้กระทำกรรมดีเป็นอานิสงส์ เป็นเนื้อนาบุญแก่บุพการี ส่งผลดีในชาติภพต่อไป

ระหว่างนั้น พระครูบาขัตติยะ ธุดงค์จากเชียงใหม่จนถึงบ้านปาง ท่านเป็นพระเถระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา จึงนิมนต์ท่านให้อยู่จำพรรษาที่วัดบ้านปาง นายควายและนางอุสาจึงให้ฟ้าฮ้องฝากตัวเป็นศิษย์พระครูบาขัตติยะเพื่อศึกษาธรรมะสมความตั้งใจ

ฟ้าฮ้องบรรพชาเป็นสามเณรขณะอายุ 18 ปี เรียนหนังสือและศึกษาพระธรรมคำสอนจนสามารถอ่านเขียนภาษาไทยพื้นเมืองได้ ทั้งเรียนรู้อักขระโบราณ ภาษาบาลีและสันสกฤตที่จารึกไว้ในตำราพระธรรมบนใบลานจนแตกฉาน

เมื่อว่างจากการเรียนมักเดินขึ้นไปบนเนินเขาเหนือวัดบ้านปาง เพื่อปลีกวิเวกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเช่นเดียวกับพระ-ครูบาขัตติยะ

เมื่อสามเณรอายุย่างเข้า 21 ปี ได้อุปสมบทที่อุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมี พระครูบาสมสมโณ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์มีฉายาว่า “สิริวิชโยภิกขุ” หรือชื่อเต็มว่า “พระศรีวิชัย สิริวิชโย”

หลังอุปสมบทท่านกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านปางได้ 1 พรรษา พระครูบาขัตติยะได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ต่าง ๆ จนหมดสิ้นพิจารณาเห็นว่าพระศรีวิชัยรักสันโดษประพฤติตามธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดซึ่งหาได้ยากในหมู่สงฆ์ จึงให้พระศรีวิชัยเดินทางไปยังวัดดอยแต อำเภอแม่ทาจังหวัดลำพูน เพื่อศึกษาพระธรรมต่อกับพระครูบาอุปละ พระผู้ปฏิบัติเคร่งครัดที่ชาวลำพูนนับถือที่สุดในสมัยนั้น พระศรีวิชัยเพียรเรียนวิชาเป็นเวลา 1 พรรษา จึงกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านปางเช่นเดิม และสืบต่อเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปางหลังครูบาขัตติยะจาริกไปยังถิ่นอื่น ในปี พ.ศ. 2444

 

 

ศุภนิมิตบันดาล

หลังดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านปางได้ไม่นาน พระศรีวิชัยพิจารณาว่า การบำเพ็ญสมณธรรมในสถานที่ที่อยู่ไม่ไกลจากครอบครัวและญาติพี่น้องต้องเกี่ยวข้องกับชุมชนอย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงชวน พระปั๋น พระเพื่อนร่วมวัดเสาะหาสถานที่สร้างวัดบ้านปางแห่งใหม่ในสถานที่วิเวก เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานโดยเร็ว

ทั้งสองจาริกไปทางทิศตะวันตกของวัดบ้านปางได้ไม่ไกลนัก ก็พบเนินเขาแห่งหนึ่งที่เหมาะควรกับสมณวิสัย พระศรีวิชัยจึงตั้งสัตยาธิษฐานกับพระรัตนตรัยและเหล่าเทพยดาอารักษ์ทั้งปวงในบริเวณนั้นว่า “อาตมาจะขอสร้างวัดวาอารามขึ้นมา ณ ที่แห่งนี้ หากจะบังเกิดความเจริญรุ่งเรือง นำมาซึ่งความสุขสวัสดีแล้วไซร้ ก็ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวง จงดลบันดาลให้ศุภนิมิต ได้ปรากฏขึ้นกับอาตมาในค่ำคืนนี้เถิด”

คืนใกล้รุ่งสางของวันเดียวกันนั้นเอง พระศรีวิชัยก็บังเกิดนิมิตฝันว่า ท่านยืนบนเนินเขาแห่งนั้นในคืนวันเพ็ญ เบื้องบนเป็นพระจันทร์เต็มดวงลอยเด่นกลางเมฆขาวบนฟ้าท่านยืนชมจันทร์ที่ส่องแสงสว่างนวลอย่างเพลิดเพลินได้ไม่นานนัก ดวงจันทร์ก็ค่อย ๆ เคลื่อนลงมาจนถึงจุดที่ท่านยืน พระศรีวิชัยอ้าแขนรับดวงจันทร์ไว้ ทันใดนั้นร่างของท่านบังเกิดแสงสว่างจ้า สุกสกาวไปด้วยรัศมีแห่งเดือนเพ็ญ แล้วท่านก็สะดุ้งตื่น

ท่านเชื่อว่านิมิตดังกล่าวคงต้องเป็นศุภนิมิตดั่งสัตยาธิษฐานจึงเริ่มสร้างวัดใหม่ขึ้น โดยมีพระเณรและชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธาร่วมแรงกายแรงใจปรับสถานที่บนเนินเขา ก่อกำแพงหินสร้างเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาส จนสำเร็จเป็นวัดแห่งใหม่ชื่อว่า “วัดจ๋อมศะหรีทรายมูลบุญเรือง” แต่ชาวบ้านยังเรียกว่า “วัดบ้านปาง” จนถึงปัจจุบัน

 

เคร่งครัดยิ่งในศีลาจารวัตร

พระศรีวิชัยตั้งมั่นบำเพ็ญศีลาจารวัตรและปฏิบัติธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด มุ่งตรงต่อนิพพานเพียงสิ่งเดียว ท่านงดการเสพเมี่ยง หมาก พลู ยาสูบ ละเว้นบริโภคเนื้อสัตว์โดยสิ้นเชิง ฉันอาหารเพียงวันละมื้อลูกศิษย์และญาติโยมเล่าขานต่อมาว่า พระ-ศรีวิชัยรับภัตตาหารทุกอย่างที่ชาวบ้านถวายอาหารที่มีเนื้อสัตว์ท่านก็ให้ลูกศิษย์ ไม่ได้กำหนดว่าต้องฉันเพียงผักเช่นเดียวกับท่านมีเพียงน้ำเต้าเท่านั้นที่ท่านงดฉันอย่างเด็ดขาดเพราะตอนที่ท่านเกิด ครอบครัวยากจนไม่มีเงินซื้อหม้อดินใส่รก บิดาของท่านต้องนำรกใส่ในผลน้ำเต้าแห้งแล้วฝังไว้ใต้ต้นพิกุลเปรียบดังครรภ์ของมารดาที่หุ้มห่อไว้ ท่านจึงไม่ฉันน้ำเต้า

ศีลาจารวัตรของพระศรีวิชัยเป็นที่เลื่องลือ ผู้คนพากันนำวัตถุปัจจัยมาถวายเพื่อหวังผลบุญอันบริสุทธิ์ แม้แต่กลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งอีก้อ ม้ง ขมุ มูเซอ ที่นับถือวิญญาณบรรพบุรุษยังน้อมเคารพ พระศรีวิชัยถืออุเบกขาบารมี ไม่นับถือผู้มีลาภยศ ไม่ดูแคลนคนอนาถา ไม่นิยมคำสรรเสริญ ไม่เกลียดชังคำติเตียน และไม่ยินดีหรือรังเกียจในปัจจัยที่ได้รับ หากแต่นำปัจจัยที่ได้ไปให้ทานแก่ภิกษุสามเณร ยาจกวณิพก และคนอนาถา

ชาวล้านนาเชื่อว่าพระศรีวิชัยเป็นผู้บริสุทธิ์ที่มีลักษณะเป็น “ตนบุญ” หรือ “ตุ๊เจ้าต๋นบุญ” ซึ่งหมายถึง “พระผู้มีบุญมาเกิด” เป็นผู้สะสมบุญมาแต่ชาติปางก่อนและผลบุญนี้ยังประโยชน์สุขและสามารถแบ่งปันให้ผู้อื่น ผู้คนเรียกท่านว่า “ครูบาศรี-วิชัย” หรือเรียกกันว่า “ครูบาศีลธรรม” (ครูบามาจากภาษาบาลี “ครุปิ อาจาริโย” ต่อมาจึงเพี้ยนเป็นคำว่าครุปาและครูบา ในที่สุดหมายถึงผู้เป็นครูอาจารย์ชาวล้านนาเรียกแทนพระสงฆ์ที่ได้รับความยกย่องอย่างสูง)

 

ตนบุญแห่งพุทธภูมิ

ครูบาศรีวิชัยตั้งมั่นจาริกไปทั่วล้านนาหมายบูรณปฏิสังขรณ์ซากปรักหักพังของศาสนสถาน เพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาและรากเหง้าจารีตล้านนาดั้งเดิมที่เคยเสื่อมถอยในช่วงกลียุค โดยตั้งอธิษฐานบารมีให้ปรากฏเห็นภาพในนิมิต เพื่อแสดงให้เห็นว่าสถานที่รกร้างแห่งนั้นสามารถบูรณปฏิสังขรณ์จนประสบความสำเร็จ

ตลอดเส้นทางการจาริกของท่าน มีพระ เณร และชาวบ้านที่ศรัทธาท่าน คอยติดตามช่วยงาน และขอฝากตัวเป็นศิษย์จำนวนมาก ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ครูบาศรีวิชัยจึงถูกเพ่งเล็งและถูกกล่าวหาหลายครั้งแต่สุดท้ายความบริสุทธิ์ของท่านก็ทำให้ท่านหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งปวง

ครูบาศรีวิชัยเริ่มต้นการบูรณะที่พระเจดีย์บ่อนไก่แจ้ จังหวัดลำปาง เป็นแห่งแรก ต่อเนื่องไปยังวัดอื่น ๆ ทั้งในจังหวัดลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยาแม่ฮ่องสอน ตาก นับจำนวนได้มากกว่าร้อยแห่ง ส่วนใหญ่เป็นวัดสำคัญของล้านนาในปัจจุบัน เช่น วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ วัดพระธาตุหริภุญชัย วัดพระพุทธบาทตากผ้า จังหวัดลำพูน วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง วัดพระศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา วัดพระธาตุแม่เจดีย์ จังหวัดเชียงรายวัดพระสิงห์ วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่

วัดเหล่านี้มีตำนานกล่าวถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าต่าง ๆ กันไป เช่น วัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน มีตำนานเล่าว่า “ดูกรอานนท์ สถานที่แห่งนี้จะปรากฏชื่อว่าพระพุทธบาทตากผ้าโดยนิมิตที่เราตถาคตมาหยุดพักตากผ้ากาสาวพัสตร์ และจะเป็นปูชนียสถานที่สักการะของมหาชนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจะอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนตลอด 5,000 วษา…” เป็นต้น

 

พระไตรปิฎกฉบับล้านนา

ระหว่างที่ครูบาศรีวิชัยบูรณะวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ ท่านเกรงว่า พระไตรปิฎกฉบับล้านนาอาจสูญหายหรือเสื่อมสภาพตามกาลเวลา ท่านและบรรดาสานุศิษย์จึงได้รวบรวมพระไตรปิฎกที่ถูกทิ้งอยู่ตามวัดต่าง ๆ ทั่วเขตล้านนานำมารวมกัน แล้วทำการสังคายนาจัดหมวดหมู่และจารธรรมใบลาน (การเขียนเรื่องราวธรรมะลงในใบลาน) ขึ้นมาใหม่ เพื่อไว้เป็นหลักฐานให้พระภิกษุศึกษาค้นคว้า ประพฤติตามธรรมวินัยสืบอายุบวรพระพุทธศาสนาต่อไป

ผลงานการสังคายนาพระไตรปิฎกฉบับล้านนาของครูบาศรีวิชัยได้รับการยกย่องจากหมู่สงฆ์ว่า ท่านเป็นผู้ทรงความรู้ทางด้านพระไตรปิฎก มิใช่เพียงพระบ้านป่าธรรมดาแต่เป็นพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติชอบและศึกษาธรรมวินัยอย่างแจ่มแจ้ง ทั้งแสดงถึงความตั้งมั่นสู่นิพพานโดยแท้ ดั่งข้อความบนใบลานที่ท่านมักเขียนเป็นภาษาล้านนาไว้ในตอนท้ายว่า “ปรารถนาขอหื้อข้าได้ตรัสประหญาสัพพัญญูโพธิสัตว์เจ้าจิ่มเทอะ” 

 

 

เส้นทางสู่พระบรมธาตุดอยสุเทพ 

เหตุการณ์สำคัญอันเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวล้านนาถึงบารมีของครูบาศรีวิชัยคือ การสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพในปี พ.ศ. 2477 หลังจากหลวงศรีประกาศ ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ และ เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ปกครองเชียงใหม่ กราบนมัสการครูบาศรีวิชัยเพื่อปรึกษาเรื่องการนำไฟฟ้าขึ้นไปประดับองค์พระธาตุดอยสุเทพ ปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวเชียงใหม่

ครูบาศรีวิชัยได้ตั้งจิตเป็นสมาธิอธิษฐานต่อคุณพระรัตนตรัยเพื่อขอนิมิตหมายเรื่องงานครั้งนี้ ปรากฏในนิมิตว่ามีตาปะขาว (บางตำราเรียกชีปะขาว) จูงแขนนำท่านจากวัดพระสิงห์ เห็นเป็นถนนให้ท่านเดินไปสักการบูชาองค์พระบรมธาตุดอยสุเทพท่านจึงกล่าวตอบผู้ที่มาปรึกษาว่า การที่จะนำไฟฟ้าขึ้นบนดอยนั้นไม่สำเร็จ แต่หากสร้างทางขึ้นดอยจะสำเร็จ และสร้างเสร็จได้ภายใน 6 เดือน

เจ้าแก้วนวรัฐและหลวงศรีประกาศต่างประหลาดใจ เพราะหลายปีก่อนราชการเคยคิดสร้างถนนแล้ว แต่ไม่มีงบประมาณเพียงพอจึงต้องล้มเลิกความคิดไป ครั้งนี้ด้วยความศรัทธาและความเชื่อมั่นในตัวท่านครูบาศรีวิชัย จึงเริ่มดำเนินการอีกครั้ง โดยพิมพ์ใบปลิวนับแสนแผ่นประกาศต่อประชาชนทั่วไป และที่ศรัทธาในท่านครูบาศรีวิชัยถึงการสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพโดยประกอบพิธีเป็นครั้งแรกในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477

ในวันนั้นครูบาศรีวิชัยประกาศต่อหน้าประชาชนที่ไปร่วมสร้างถนนว่า “การสร้างทางครั้งนี้นับว่าเป็นการใหญ่อย่างยิ่ง จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีเทวดามาช่วย ท่านทั้งหลายจงมีความมั่นใจและร่วมมือกันอย่างจริงจัง แล้วจะเห็นผลสำเร็จอย่างแน่นอน”

ราวกับเป็นวาจาสิทธิ์ มหาชนเกิดพลังกายพลังใจ ผู้คนหลั่งไหลกันเข้ามาช่วยบุกป่าสร้างทาง บ้างส่งเสบียงและสิ่งจำเป็นเพื่ออำนวยความสะดวกจนสามารถฝ่าป่าเขาสร้างทางจนถึงพระธาตุดอยสุเทพได้สำเร็จลุล่วง ภายในเวลาเพียง 5 เดือน 22 วันโดยไร้เครื่องจักรหรืองบประมาณจากทางการและเปิดใช้ถนนครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2478 ตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า “ถนนศรีวิชัย”

 

สิ้นแสงธรรมพระมหาเถระ

นอกจากครูบาศรีวิชัยสร้างคุณความดีต่อพุทธศาสนาไว้มากมาย ดังผลงานการสร้างทาง บูรณะวัดวาอารามและโบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองแล้ว ธรรมเทศนาของท่านยังยึดเหนี่ยวหัวใจของชาวล้านนาให้คงมั่นในศีลธรรมและความดี รวมถึงแก่นแท้ของธรรม แม้ท่านทำงานหนักจนทำให้อาพาธเป็นระยะเรื่อยมา แต่ครูบาศรีวิชัยก็ไม่หวั่นเกรงความตายแต่อย่างใด ด้วยเห็นแจ้งว่าเป็นธรรมดาจึงตั้งมั่นอยู่ในมรณานุสสติครั้งหนึ่งหมอฝรั่งเตือนว่า หากท่านไม่ฉันยาก็จะหมดทางรักษา ท่านตอบว่า “อย่าว่าแต่อาตมาจะตายเลย หมอเองก็จะต้องตายเหมือนกัน ไม่ว่าเป็นหมอดีวิเศษอย่างไรก็หลีกหนีความตายไปไม่ได้”

จนถึงปี พ.ศ. 2481 ขณะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิงเชื่อมระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ครูบาศรีวิชัยพิจารณาสังขารที่ชราลงทุกขณะ เห็นกาลแตกดับในอนาคตอันใกล้ก่อนการสร้างสะพานสำเร็จจึงให้สานุศิษย์พาท่านเดินทางกลับสู่วัดบ้านปางอารามแห่งแรกในชีวิตนักบุญของท่าน

ครูบาศรีวิชัยมรณภาพเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2481 สิริรวมอายุ 59 ปี 40พรรษา เหลือไว้เพียงแสงศรัทธาที่ขจรไกลเกินเขตล้านนา ไม่เพียงเป็นศูนย์รวมใจของชาวล้านนาเท่านั้น แต่ยังเป็นปูชนียบุคคลที่ชาวพุทธทั่วประเทศเคารพนับถือ

ทั้งภาพถ่าย อนุสาวรีย์ และชื่อเรียกสถานที่สำคัญที่ท่านร่วมสร้าง คืออนุสรณ์ที่พุทธศาสนิกชนรำลึกถึงคุณงามความดีต่อพระอริยสงฆ์โดยเนื้อแท้ท่านนี้

 

 

ตนบุญแห่งล้านนา “ครูบาศรีวิชัยสิริวิชโย” 

“ หากผู้ใดเล็งเห็นว่าพระธรรมคำสั่งสอนเป็นความจริงอันบริสุทธิ์ ผู้นั้นย่อมเล็งเห็นพระพุทธเจ้าได้ทุกเมื่อ ข้อปฏิบัติให้พ้นจากความทุกข์ คือ รักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์เสียก่อน สมาธิความตั้งมั่นจึงจะมี แล้วความตั้งมั่นแห่งสมาธิก็มีได้เมื่อบริสุทธิ์แล้ว สมาธิเกิดแล้ว ก็ปลุกให้ปัญญาเกิดขึ้นได้ ให้ระลึกถึงตัวอยู่เสมอว่าไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นธาตุทั้ง 4 ขันธ์ทั้ง 5 อาการทั้ง 32 เป็นของโสโครก เป็นตัวทุกข์ ตัวแก่ ตัวเจ็บ ตัวตาย ไม่ใช่ตัวตนที่จะติดตามไปในโลกหน้าได้ ให้เห็นแจ้งด้วยปัญญา ประหารกิเลสหมดแล้ว จิตจะเป็นวิมุตติหลุดพ้นจากความทุกข์

” ความจริงบริสุทธิ์ที่จะทำให้ผู้คนจากทุกข์ดังนี้ เป็นมหาลาภอันประเสริฐ เพราะทรัพย์สมบัติทั้งหลายอันเป็นทรัพย์ภายนอกที่เอาไปด้วยไม่ได้ แต่คำสั่งสอนแนะนำให้ผู้ปฏิบัติตามพ้นจากทุกข์ในบัดนี้ไปตราบถึงนิพพาน เป็นอริยทรัพย์สำหรับติดตัวไปทุกชาติ ประเสริฐกว่าสมบัติอันมีในโลกนี้หมื่นเท่าแสนเท่าพญามัจจุราชนั้นไม่มีความกรุณา หนุ่มหรือแก่ก็เอาชีวิต ไม่ควรประมาทจึงควรรักษาศีลฟังธรรม สร้างบุญให้เป็นที่พึ่งแก่ตัวตั้งแต่บัดนี้”

ครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย

ถอดความจากตอนหนึ่งของธรรมเทศนา เรื่องอานิสงส์การรักษาศีล จารึกไว้เมื่อจำพรรษา ณ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2478

 

ข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบ

  • สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2537), ตำนานครูบาศรีวิชัยแบบพิสดาร และตำนานวัดสวนดอก
  • ชมรมพุทธศาสน์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (2542), พระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย
  • พระสมชาย ธมฺมสาโร (พรมมา) (2555),“ศึกษาบทบาทพระครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย ในฐานะนักบุญแห่งล้านนา : กรณีศึกษาการบูรณะปฏิสังขรณ์ศาสนสถานในล้านนา”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตร-มหาบัณฑิต (พระพุทธศาสนา), บัณฑิตวิทยาลัย :มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • ศูนย์ใบลานศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (2558), คัมภีร์ล้านนา

 

เรื่อง อุราณี ทับทอง ภาพ วรวุฒิ วิชาธร

ภาพปก ขอขอบคุณพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย โทร. 0-3423-2859 เว็บไซต์ www.thaiwaxmuseum.com

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

บทฝึกหัดการผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ โดยหลวงปู่ติช นัท ฮันห์

คำสอนเพื่อปล่อยวางความทุกข์จาก หลวงปู่แหวน สุจิณโณ อริยสงฆ์แห่งเมืองเชียงใหม่

10 คำสอน หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม สำหรับเตือนสติในการดำเนินชีวิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.