เมื่อชาตินี้มีกรรม ก็ควรเข้าใจกรรมเพื่อจะได้ไม่ต้อง ก้มหน้ารับกรรม

วลีเด็ดคนไทย ได้ยินอยู่บ่อยๆ นั้นคือคำว่า “ชาตินี้มีกรรม” นัยยะน่าจะเป็นการบ่นก่นว่าวาสนา แต่ก็อีกนั่นแหละ ส่วนใหญ่บ่นแล้วไม่เห็นทำอะไร เพราะพร้อม ก้มหน้ารับกรรม อยู่แล้ว

พระพุทธเจ้าบรมศาสดา ทรงสอนเรื่องหลักกรรมว่าเป็นสัจธรรมที่มนุษย์ทุกคนต้องประสบพบเจออยู่ทุกขณะ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม คำว่า “กรรม” ในที่นี้ มีหลายคนที่เข้าใจผิดว่า เป็นอำนาจลึกลับที่ดลบันดาลชีวิตให้เป็นไป หรือเข้าใจว่ากรรมก็คือดวงคนนี่แหละ การที่ร่ำรวยหรือยากจนก็เพราะกรรมเก่าในอดีตชาติปางก่อน มองกรรมในแง่ของผลร้ายของกระทำชั่วในอดีตชาติ มองกรรมในแง่ชั่วร้าย ไม่ดี  เป็นเรื่องทุกข์ เรื่องโศก มุ่งไปเฉพาะในอดีตเท่านั้น เราจึงมักได้ยินคำพูดเหล่านี้อยู่บ่อยๆ

“ชาตินี้มีกรรม”

“ก้มหน้ารับกรรม”

“ชดใช้กรรม”

“สุดแต่เวรกรรมจะพาไป”

แล้วความหมายที่ถูกต้องของ “กรรม” คืออย่างไร ?

ก้มหน้ารับกรรม

คำว่า “กรรม” นี้ ความหมายที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาที่แท้จริงที่พุทธองค์ทรงตรัสสอน หลักพื้นฐานบอกไว้ว่า กรรมก็คือการกระทำนั่นเอง การกระทำอันนี้ไม่ได้หมายถึงตัวผล แต่เป็นตัวการกระทำ ในแง่เป็นเหตุมากกว่าเป็นผล จะมุ่งกาลเป็นอดีตก็ได้ ปัจจุบันก็ได้ อนาคตก็ได้ ไม่เฉพาะต้องเป็นอดีตอย่างเดียว คือปัจจุบันที่ทำอยู่ก็เป็นกรรม จะมองในลักษณะว่าดีหรือชั่วก็ได้ทั้ง 2 ด้าน คือกรรมดีก็มี กรรมชั่วก็มี เป็นคำที่เป็นกลางๆ โดยแสดงออกได้ทั้งทางกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ

เพราะฉะนั้นในความหมายที่ถูกต้องแล้ว กรรมจึงหมายถึง “การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา จะแสดงออกทางกายก็ตาม (กายกรรม) วาจาก็ตาม (วจีกรรม) ทางใจก็ตาม (มโนกรรม) เป็นอดีตก็ตาม ปัจจุบันก็ตาม อนาคตก็ตาม ดีหรือชั่วก็ตาม เป็นกรรมทั้งนั้น”

ทั้งนี้การจะให้เข้าใจ “กรรม” ให้ถูกต้อง จำเป็นต้องมีทัศนคติ 2 ประการคือ

1. ทัศนคติต่อตนเอง

ก้มหน้ารับกรรม

เห็นกรรมแล้วรู้สึกย่อท้อ ทอดธุระ ยอมแพ้ ถดถอย และไม่คิดปรับปรุงตนเอง เช่น คำพูดในประโยคว่า “ชาตินี้มีกรรม” หรือว่า “เราทำมาไม่ดี ก็ก้มหน้ารับกรรมไปเถิด” การพูดอย่างนี้ถ้ามองเผินๆ ก็อาจจะเข้าใจได้ว่าผู้พูดมุ่งหมายว่า ในเมื่อตนเองทำไว้ไม่ดีก็ต้องยอมรับผลของการกระทำนั้น เป็นความรู้สึกรับผิดชอบต่อตนเอง แต่ในทางพุทธศาสนาไม่ต้องการให้หยุดชะงักแค่นั้น แต่ต้องการให้คิดปรับปรุงตนเองต่อไป จำทำให้ต้องมีทัศนคติต่อตนเองให้ได้ 2 ขั้นตอนคือ

(1) เราจะต้องมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง
(2) ในเมื่อยอมรับส่วนที่ผิดแล้ว จะต้องคิดแก้ไขปรับปรุงตนเองเพื่อให้ถูกต้อง และดีขึ้นต่อไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราสอบตก เราก็ต้องยอมรับว่าเราสอบตก แล้วหาทางแก้ไขว่าสอบตกเพราะอะไร ผิดพลาดตรงไหน เพื่อจะได้ปรับปรุงจุดอ่อนตรงนั้น จะได้สอบได้ต่อไป ไม่ใช่ไปโทษว่าเป็นกรรมเก่าไม่ดี จึงสอบไม่ได้ ต้องไปบนบานศาลกล่าว ต้องไปผูกดวงใหม่

2. ทัศนคติต่อผู้อื่น

เมื่อพบเห็นคนอื่นได้รับภัยพิบัติเหตุร้ายอะไรขึ้นมา เราต้องพิจารณาถึงความเป็นเหตุเป็นผล เมื่อเห็นผลหรือสิ่งใดปรากฏขึ้นมา ก็ให้พิจารณาว่านี่ต้องมีเหตุ เมื่อเขาได้ประสบผลร้าย ได้ถูกลงโทษอย่างนี้มันก็ต้องมีเหตุ ซึ่งอาจจะเป็นการกระทำไม่ดีของเขาเอง อันนี้แสดงถึงความมีเหตุมีผล คือวางใจเป็นกลาง พิจารณาให้เห็นเหตุผลตามความเป็นจริงเสียก่อน อย่างนี้ก็เป็นการแสดงอุเบกขาที่ถูกต้อง เพื่อจะได้ดำรงธรรมไว้

ดำรงธรรมอย่างไร การวางใจเป็นกลาง ในเมื่อเขาสมควรได้รับทุกข์โทษนั้นตามสมควรแก่การกระทำของตน เราต้องวางอุเบกขา เพราะว่าจะได้เป็นการรักษาธรรมไว้ แต่จะหยุดเพียงแค่อุเบกขานี้ไม่ได้ ต้องมีกรุณาตามมาด้วย คือต้องคิดว่า เมื่อเขาได้รับทุกข์ภัยแล้ว เราควรจะช่วยเหลืออะไรได้บ้างเพื่อให้เขาพ้นทุกข์นั้น และพบความสุขเจริญได้อย่างไร อันนี้มีความเมตตากรุณาแฝงอยู่ด้วย ไม่ใช่เป็นสักแต่ว่าอุเบกขาอย่างเดียว บางทีคนเราลืมตรงจุดนี้ไปเสียหมด พอไปเห็นคนยากจนอะไรต่ออะไร ก็มองว่าเป็นกรรมของสัตว์หมด เลยไม่ได้คิดแก้ไขปรับปรุงหรือช่วยเหลือกัน ทำให้ขาดความกรุณาไป

ฉะนั้นแนวทางที่ถูกต้องในแง่ทัศนคติต่อผู้อื่นจึงควรมี 2 ขั้นตอนคือ

(1) มีอุเบกขาด้วยเหตุผล เพื่อรักษาความเป็นธรรมหรือดำรงธรรมของสังคมไว้
(2) มีเมตตากรุณา เพื่อประโยชน์ของบุคคลและคนส่วนใหญ่ด้วย

เชื่อเหลือเกินว่า ถ้าพุทธศาสนิกชนสร้างทัศนคติและค่านิยมในเรื่องกรรมให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักธรรมของพุทธองค์แล้ว จะพร้อมสู้ต่อไปด้วยศักยภาพที่มี เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา เป็นศาสนาแห่งการลงมือกระทำ เป็นศาสนาที่เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ ไม่เชื่อในอำนาจดลบันดาล เป็นศาสนาแห่งเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์ นั่นคือทุกๆ คนสามารถเก็บเกี่ยวผลได้เท่าที่ตนได้หว่านเหตุไว้

เข้าใจกรรมให้ถ่องแท้ แล้วถ้าไม่อยาก ก้มหน้ารับกรรม ก็สร้างแต่กรรมดีซะ จะได้ “เชิดหน้ารับกรรม” ตลอดไป

 

เรื่อง “Ghibli”

ที่มาข้อมูล : เพจ “พุทธาคม ปาฏิหาริย์อำนาจบุญ อริยะเหนือโลก”

ภาพ : www.pexels.com

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.