การตักบาตร

สาเหตุที่ ” การตักบาตร ” ต่างจากการทำบุญวิธีอื่น

เคยสงสัยไหมคะ เราตักบาตรทำไม การตักบาตร มีความสำคัญอย่างไร? เรื่องนี้พระอาจารย์มีคำตอบ

พระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ) กล่าวไว้ในบทความ การตักบาตร มีความสำคัญอย่างไร ว่า

การตักบาตร เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญมาก

พระอาจารย์มองว่า วิถีชีวิตชาวพุทธที่เริ่มต้นวันใหม่ด้วยการให้เป็นวิถีชีวิตที่มีคุณค่ามาก เริ่มต้นชีวิตวันใหม่ด้วยการให้ เหมือนพระอาทิตย์ทอแสงขึ้นมาแล้วให้แสงสว่าง คนไทยเป็นคนชอบให้ แต่ไม่ชอบรักษาศีล ไม่มีชนชาติใดให้ทานเก่งเท่ากับคนไทย จนก็ให้ รวยก็ให้ ให้เป็นเรื่องใหญ่มาก การทำบุญ คือการให้ทาน การทำบุญเหมือนเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ การทำบุญมีอยู่ 3 วิธี คือ ทาน ศีล เจริญสมาธิภาวนา

เราทำขั้นพื้นฐานกันอยู่บันไดขั้นแรก แสดงว่าใจเราเป็นกุศล การให้เป็นเรื่องที่ดี ใจคนไทยเป็นบุญเป็นกุศลมาก ชอบให้ ทำให้เราผ่อนคลาย บางคนเครียดแล้วทำบุญ การทำบุญเป็นวิธีคลายเครียดอย่างหนึ่ง เหมือนกับจิตตสปา คุณค่าของมนุษย์เริ่มต้นที่รู้สึกภูมิใจ พอถึงจุดหนึ่งก็จะต่อไปอีกว่า เป็นผู้ให้ที่ทำให้คนอื่นภูมิใจ เหมือนกับเราตักข้าวใส่บาตรพระ เราภูมิใจที่มีชีวิตสังขารทุกวันนี้ เราเป็นผู้ให้ พระเป็นผู้รับ

สังเกตไหมว่า การทำบุญตักบาตรต่างจากการทำบุญอย่างอื่น เพราะเวลาที่เราให้ปกติ ผู้ให้จะสูงกว่าผู้รับ โดยธรรมชาติของผู้รับเป็นหนี้บุญคุณของผู้ให้ ทีนี้พอเราถวายอะไรแด่พระสงฆ์ เราจะมีความรู้สึกว่าขอบคุณ ที่ท่านมารับถึงหน้าบ้าน ถ้าท่านไม่เดินผ่านบ้านเรา เราจะถวายได้อย่างไร และเราไม่ได้เจาะจงด้วยว่าพระที่เดินมาชื่ออะไรไม่มีใครถาม มีพระฝรั่งรูปหนึ่งบวชที่วัดเรา บวชวันแรกคนทั้งโบสถ์กราบ เขาตกใจ เขางง ตื่นเช้าขึ้นมาออกไปบิณฑบาต คุณยายกับหลานนั่งอยู่ด้วยกัน พอพระฟรานซิสเดินมา กราบลงไป แล้วเอาข้าวใส่บาตร

 

การตักบาตร
Image by Sasin Tipchai from Pixabay

 

ปรากฏว่าเขากลับไปถามพระอาจารย์เป็นแบบนี้ทั้งประเทศไหม เราก็บอกว่าให้พิสูจน์เอง โดยซื้อตั๋วให้โยมพาไปวัดป่าภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ เขาก็กลับมาบอกว่า ผมเชื่อแล้วว่าที่นี่คือเมืองพุทธเหมือนกันหมดทั้งประเทศ มีแต่ความสงบร่มเย็น มันเป็นวิธีลดทิฏฐิมานะที่ดีมาก ลดทิฏฐิมานะอย่างไร บวชเสร็จแล้วพ่อแม่กราบลูก นายพลเอกกราบนายทหารที่ขับรถให้ ณ วันที่บวช ไม่ว่าคุณจะใหญ่มาจากไหนก็ต้องไหว้พระสงฆ์ ไหว้ในสมมุติสงฆ์

เพราะฉะนั้นพระอาจารย์คิดว่าการบวชเป็นวิธีการที่กลับตาลปัตร วิถีชีวิตของเด็กคนหนึ่งซึ่งมีความรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนแปลงชีวิต แต่เปลี่ยนไม่ได้ แล้วก็เข้าพิธีตามระบบของคณะสงฆ์ หลังจากนั้นมันจะพลิกหมด เคยกินเหล้าก็ต้องหยุดกินเหล้า เคยสูบบุหรี่ก็ต้องหยุดสูบบุหรี่ เคยเที่ยวก็ต้องหยุด กติกาของชีวิตเปลี่ยนไปหมด เวลาใส่บาตรพระก็ต้องอธิษฐานจิต ให้โยมมีความสุขความเจริญ มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ อายุยืน ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน คิดอยู่ในใจ นี่คือสิ่งที่พระคิดอยู่ในใจ เราจะได้ยินพระให้พรในตอนท้าย ในขณะที่โยมเวลาใส่บาตร เชื่อว่าหลาย ๆ คนจะรู้สึกว่าเวลาใส่บาตรต้องคิดอะไร

เด็ก ๆ อาจสงสัยก็ได้ว่า ต้องคิดอะไร ไม่ต้องคิดอะไร คิดว่าทำอย่างไรให้เรามีความสุข เจริญรุ่งเรือง ไม่มีไข้เจ็บเบียดเบียน ให้วิถีชีวิตของเราไม่มีสิ่งบดบัง ทางเดินข้างหน้าปลอดโปร่ง มีผู้อุปการะ มีผู้ดูแลมีผู้คุ้มกันปกป้องคุ้มครอง มีคนชี้แนะเวลาที่เดินหลงทาง อธิษฐานในสิ่งดี ๆ อะไรก็ได้ที่เป็นพร แต่ไม่ใช่การขอ เป็นการอธิษฐานเพื่อที่เราจะได้ทำ โดยอาศัยพระเป็นประจักษ์พยาน มันเหมือนเราตั้งใจจะทำอะไร แล้วมีพระเป็นประจักษ์พยาน เป็นอธิษฐานบารมี

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  พระราชญาณกวี

Image by truthseeker08 from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

ทำบุญให้ดี ทำทีเดียวได้ครบทั้งทาน-ศีล-ภาวนา

อานิสงส์แห่งการทำบุญกับพระอาพาธ

20 นาทีบนรถแท็กซี่ที่ฉันได้ทำบุญโดยไม่รู้ตัว

สมาทานศีลที่ใจใช่วาจา และทำบุญให้ได้บุญ

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.