องค์ทะไลลามะ

ความสุขของ องค์ทะไลลามะ

ชีวิตของคนคนหนึ่งอาจเริ่มนับจากนาทีแรกที่ลืมตาดูโลกจนถึงเวลาที่ลมหายใจสุดท้ายหลุดออกจากร่าง แต่สำหรับ องค์ทะไลลามะ ชีวิตของท่านเริ่มขึ้นตั้งแต่หลายร้อยปีก่อน และยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร

ในอดีต ทิเบตหาใช่ดินแดนที่สงบสุขเหมือนที่เรารับรู้กันในปัจจุบัน แต่เป็นดินแดนที่มีการรบพุ่งระหว่างชนเผ่าหรือนิกายต่างๆ ที่สลับกันขึ้นมาเป็นใหญ่ ผู้ปกครองซึ่งมีฐานะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณหรือประมุขของนิกายจะทำการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างถอนรากถอนโคน

อย่างไรก็ดี เมื่อศาสนาพุทธแผ่อิทธิพลเข้ามาในทิเบต ชาวทิเบตรับความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด ผนวกเข้ากับวิถีชีวิตของตนอย่างแนบแน่น จุดเริ่มต้นมาจากความปรารถนาของผู้นำที่ต้องการกลับชาติมาเกิดเพื่อปกป้องประชาชนและมรดกของตน ล่วงมาถึงปัจจุบัน ชาวทิเบตเชื่อว่า ““ลามะ”” หรือพระอาจารย์ที่ปฏิบัติดีมากๆ จนบรรลุมรรคผลนิพพานจะสามารถเลื่อนกำหนดเวลานิพพานออกไป เพื่อกลับมาเกิดใหม่และสั่งสอนธรรมะต่อไป ทั้งนี้มิใช่ว่าท่านทำเพื่อต้องการให้ผู้คนยกย่องสรรเสริญ แต่ท่านทำเพราะมีเมตตาปรารถนาจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากวัฏสงสาร จะเห็นได้ว่าศาสนาพุทธวัชรยานของทิเบตเป็นศาสนาที่มีคำสั่งสอน และหลักการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องความตายมากที่สุด

ก่อนปี 1959 ชาวทิเบตกว่า 6 ล้านคนที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเล็กๆ ซึ่งบริหารโดยพระชั้นผู้ใหญ่ จึงใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย โดยมีปณิธานว่าพวกเขาจะใช้เวลาบนโลกนี้เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นเท่านั้น

วันที่ 6 กรกฎาคม 1935 ณ หมู่บ้านเล็กๆ ในแคว้นอัมโด หญิงชาวนาคนหนึ่งได้ให้กำเนิดลูกชายคนใหม่ นางมีลูกสาวลูกชายก่อนหน้านี้หลายคนแล้ว การให้กำเนิดทารกคนนี้จึงไม่น่าจะทำให้นางตื่นเต้นประหลาดใจอะไรนัก แต่นางต้องตกตะลึง เพราะลูกชายของนางลืมตาในขณะคลอด ทั้งที่โดยปกติแล้วทารกแรกคลอดจะยังไม่ลืมตา นางและสามีตั้งชื่อลูกชายคนนี้ว่า ลาโม ธนดุป ตามพระนามของเทพธิดาแห่งความสมหวัง

หลังจากคลอดลูกชายได้ไม่กี่วัน นางสังเกตว่ามีอีกาสองตัวบินมาเกาะที่หลังคาบ้านทุกวัน พวกมันจะบินมาตอนเช้า เกาะอยู่ครู่หนึ่งก่อนบินจากไป ภายหลังนางจึงรู้ว่าอีกาหมายถึงผู้คุ้มครองและมักปรากฏตัวขึ้นเมื่อองค์ทะไลลามะองค์ใหม่ถือกำเนิดขึ้น

วันหนึ่ง ขณะที่ลูกชายของนางอายุได้ 4 ปี คนแปลกหน้ากลุ่มหนึ่งเดินทางเข้ามาในหมู่บ้านและขอพักค้างคืนที่บ้านของนาง จู่ๆ ลาโม ธนดุป ก็ชี้ไปที่คนรับใช้คนหนึ่งและร้องว่า ““เซร่าลามะ! เซร่าลามะ!”” หลังจากที่คนกลุ่มนี้จากไปเพียง 2 – 3 วัน พวกเขาก็กลับมาอีกครั้ง และแสดงตัวว่าพวกเขาคือลามะชั้นสูงที่ปลอมตัวเข้ามาเพื่อค้นหาองค์ทะไลลามะองค์ที่ 14

องค์ทะไลลามะ
เด็กชายลาโมในวัย 4 ขวบ

แท้จริงแล้ว ““เซร่าลามะ”” คือท่าน Kewtsang Rinposhe ซึ่งปกติจำวัดอยู่ที่อารามเซร่าและมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะค้นหานั่นเอง ท่านได้ทำการทดสอบให้เด็กชายลาโม ธนดุป เลือกหยิบสร้อยประคำ บัณเฑาะว์ และไม้เท้า ซึ่งเป็นของใช้เดิมของทะไลลามะองค์ที่ 13 ซึ่งวางปะปนอยู่กับข้าวของอื่นๆ เด็กชายเลือกหยิบได้ถูกต้องพร้อมกับพูดว่า “”ของฉัน ของฉัน””

ในที่สุด หลังจากการค้นหาอันยาวนานกว่า 2 ปี ชาวทิเบตก็พบทะไลลามะองค์ที่ 14

องค์ทะไลลามะ
องค์ทะไลลามะประทับบนบัลลังก์ในพิธีสถาปนาขึ้นเป็นทะไลลามะองค์ที่ 14

องค์ทะไลลามะ ได้รับการสถาปนาเป็นทะไลลามะองค์ที่ 14 ในปี 1940 มีพระนามเต็มว่า จัมเฟล นาวัง ลบซัง เยเช เท็นซิน กยัตโซทะไลลามะองค์ที่ 14 ท่านบวชและรับการศึกษาตามหลักพุทธวัชรยานตั้งแต่อายุ 5 ปี และได้รับดีกรี เกเช ลารามปา ซึ่งเทียบเท่ากับปริญญาเอกด้านปรัชญาพุทธศาสนาเมื่ออายุเพียง 23 ปี

ชีวิตของทะไลลามะองค์ที่ 14 ควรที่จะสงบสุขบนเส้นทางธรรมเฉกเช่นทะไลลามะองค์ก่อนๆ แต่หลังจากการรุกรานของกองทัพรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ในปี 1959 องค์ทะไลลามะต้องลี้ภัยไปยังประเทศอินเดีย นับแต่นั้นความขัดแย้งระหว่างจีนและทิเบตก็ไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด

องค์ทะไลลามะ
เมื่อทรงลี้ภัยไปประเทศอินเดีย – เครดิตภาพ @time.com

องค์ทะไลลามะต้องรับตำแหน่งผู้นำสูงสุดทางการเมืองขณะที่ท่านมีอายุเพียง 15 ปี จวบจนถึงปัจจุบัน ท่านได้เดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ มากกว่า 62 ประเทศใน 6 ทวีปทั่วโลก เพื่อขอความสนับสนุนจากประชาคมโลกให้ช่วยแก้ปัญหาระหว่างจีนกับทิเบตอย่างสันติ ท่านต้องการให้ผู้นำจีนยอมรับเอกลักษณ์และวิถีชีวิตของชาวทิเบต และอยู่ร่วมกันโดยไม่จำเป็นต้องแยกประเทศ

อันที่จริงการเรียกร้องสันติภาพและความยุติธรรมให้ประชาชนรวมไปถึงการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมในทิเบตเป็นภารกิจหนึ่งในสามประการขององค์ทะไลลามะ ซึ่งท่านกล่าวอยู่เสมอว่า เมื่อใดที่ปัญหาได้รับการแก้ไข ท่านพร้อมที่จะยุติบทบาททันที นอกจากนี้ถ้าชาวทิเบตเห็นว่าสถาบันทะไลลามะไม่จำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับการ
ดำเนินชีวิต ก็สามารถยุบได้ตามรัฐธรรมนูญที่ร่างไว้ตั้งแต่ปี 1963

ปัจจุบัน องค์ทะไลลามะดำรงตำแหน่งผู้นำทางศาสนาของชาวทิเบตทั่วโลก และเป็นผู้นำสูงสุดของรัฐบาลพลัดถิ่นที่ดูแลประชาชนหลายแสนคนในธรรมศาลา (Dharamsala) ที่อยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย

แม้จะอยู่ในฐานะสูงส่ง แต่ท่านพูดถึงตนเองว่า ““อาตมาเป็นเพียงภิกษุรูปหนึ่ง ไม่มีอะไรมากกว่านี้ และไม่มีอะไรน้อยกว่านี้””

องค์ทะไลลามะ

 

องค์ทะไลลามะ

องค์ทะไลลามะใช้เวลาร้อยละ 80 กับภารกิจ 2 ประการ ประการแรกคือ การส่งเสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์ เช่น ความเข้าใจ การให้อภัย การมีขันติธรรม ฯลฯ ประการที่สองคือ การส่งเสริมให้ผู้คนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ภารกิจทั้งสองประการนี้เป็นสิ่งที่ท่านจะทำตราบลมหายใจสุดท้าย

““จุดมุ่งหมายของชีวิตคือการอยู่อย่างมีความสุข””

“”จากประสบการณ์ของอาตมา อาตมาพบว่าความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดมาจากการพัฒนาความรักและความเห็นอกเห็นใจ ยิ่งเราห่วงใยในทุกข์สุขของคนอื่น เรายิ่งรู้สึกเป็นสุข””

“”ถ้าเราตระหนักว่าชีวิตทุกชีวิตล้วนปรารถนาที่จะมีความสุขและมีสิทธ์ิที่จะได้รับความสุขโดยเท่าเทียมกัน เมื่อนั้นท่านจะสามารถเข้าอกเข้าใจผู้อื่นและรู้สึกใกล้ชิดกันและกันมากขึ้น””

องค์ทะไลลามะ

 

องค์ทะไลลามะ

 

องค์ทะไลลามะ
เครดิตภาพ @tcnynj.org

ด้วยการต่อสู้โดยยึดหลักอหิงสา ด้วยความเมตตาที่จะเผยแผ่คำสอนเรียบง่าย โดยมีสันติภาพของทุกชีวิตเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด องค์ทะไลลามะจึงเป็นที่รักของคนทั่วโลก ท่านได้รับรางวัลอันทรงเกียรติมากมาย รวมทั้งรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 1989 และในปี 2008 นิตยสาร ไทม์ คัดเลือกให้ท่านเป็นหนึ่งในบุคคลผู้มีอิทธิพลสูงสุด 100 คนแรกในด้านความเป็นผู้นำและผู้ทำการเปลี่ยนแปลงโอกาสนี้ ดีพัก โชปรา กูรูด้านจิตวิญญาณชื่อดังได้เขียนสดุดีองค์ทะไลลามะไว้ว่า

““สำหรับผม ความวิเศษขององค์ทะไลลามะคือการที่ท่านมีความสุขได้อย่างแท้จริงท่ามกลางสถานการณ์วุ่นวายยุ่งเหยิง และสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจสูงสุดก็คือ การที่ท่านบอกให้ผมละทิ้งความเชื่อที่ได้จากหลักการต่างๆ และหันมาเชื่อในพุทธิปัญญาของตนเอง

“”ความมหัศจรรย์ไม่ได้อยู่ตรงที่ว่า เราสามารถค้นพบความสุขดังกล่าวได้ด้วยตัวเอง แต่ความมหัศจรรย์อยู่ตรงที่คนคนหนึ่งทำให้การตามหาความสุขกลายเป็นเรื่องแสนง่าย””

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  Violet

ภาพ  tibetanreview.net, dalailama.com

Secret Magazine (Thailand)

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.