บนเส้นทางธรรมไม่มีทางลัด ครูหนุ่ย – งามจิต มุทะธากุล
เชื่อว่าแฟนๆ นิตยสาร ซีเคร็ต รู้จักและคุ้นเคยกับชื่อ “ ครูหนุ่ย – งามจิต มุทะธากุล ” คอลัมนิสต์ของคอลัมน์ Power of Mind กันเป็นอย่างดี
ครูหนุ่ยเขียนบทความให้ ซีเคร็ต มาเป็นเวลา 6 ปี และมีแฟนคอลัมน์อยู่มากมาย (รวมถึงตัวผู้เขียนเองด้วย) แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักตัวจริงของครู เราจึงขอสัมภาษณ์เพื่อให้ผู้อ่านรู้จักครูหนุ่ยมากขึ้นทั้งในมุมชีวิตส่วนตัวและเส้นทางสู่ธรรมกัน ช่วงสายวันหนึ่งเมื่อปลายเดือนเมษายนทีมงานจึงไปพบครูที่บ้านในจังหวัดกาญจนบุรี เราพูดคุยกันอยู่นาน ได้ทั้งความรู้และแรงบันดาลใจในการศึกษาและปฏิบัติธรรมกันถ้วนหน้า
ก่อนอื่นต้องบอกว่า ดีใจมากที่ได้เจอกับครูหนุ่ย เพราะเป็นแฟนคอลัมน์มานานแล้ว วันนี้อยากให้ผู้อ่านได้รู้จักครูมากขึ้นกว่าเดิมเช่นกัน อยากให้ครูหนุ่ยเล่าว่า ครูเริ่มสนใจธรรมะตั้งแต่ตอนไหนคะ
ครูเริ่มสนใจธรรมะตอนอายุประมาณ 15 – 16 ตอนนั้นคุณพ่อส่งไปอยู่ประจำที่ ร.ร.อัมพรไพศาล จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนหญิงล้วน เพราะเป็นเด็กแก่นเหมือนเด็กผู้ชาย โมโหร้าย ใจร้อนมาก (เน้นเสียง) ป๋าไม่ให้เรียนแบบไป – กลับเพราะกลัวไปตีกับคน และคงอยากให้เราได้ฝึกการใช้ชีวิตแบบเด็กผู้หญิงด้วย
เราเป็นเด็กบ้านนอก ต้องปรับตัวและเรียนรู้หลายอย่าง ครั้งหนึ่งมีรุ่นพี่ซึ่งเป็นลูกครึ่ง เขาเป็นหัวโจก เพราะอยู่ประจำมาตั้งแต่อนุบาล วันหนึ่งเขาคงอยากหยอกเราจึงเอาด้ามไม้กวาดมาเคาะหัวเราเบา ๆ แต่เราโกรธมาก พื้นฐานนิสัยเป็นคนขี้โกรธอยู่แล้ว ก็ยิ่งโกรธมากกว่าคนทั่วไป แต่เราไม่กล้าทำอะไร เพราะกลัวว่าพ่อแม่รู้เรื่องแล้วจะเสียใจ
ความโกรธเป็นเหมือนไฟกองใหญ่ที่แผดเผาใจให้เร่าร้อน เราเห็นทุกข์ของความโกรธ เห็นว่าทรมานมาก ไม่อยากมีความรู้สึกแบบนี้ แต่ไม่รู้จะถามใครหรือพึ่งใคร เคยได้ยินว่าธรรมะทำให้คนใจเย็นได้ จึงเข้าห้องสมุดหาหนังสือธรรมะมาอ่าน เล่มแรกคือ กฎแห่งกรรม ของ ท.เลียงพิบูลย์ จากนั้นก็อ่านเรื่อยมา
เริ่มจากการอ่านหนังสือ แล้วมีจุดเปลี่ยนอะไรให้ศึกษาธรรมจริงจังคะ
ช่วงแรกเวลาที่มีปัญหาชีวิตอะไรก็จะอ่านหนังสือธรรมะ แต่ก็เป็นการอ่านในแนวที่ว่ามีความทุกข์อย่างนี้แล้วจะแก้อย่างไร แล้วก็สวดมนต์ ทำบุญไหว้พระที่โน่นที่นี่ และนั่งสมาธิ เป็นอย่างนี้จนกระทั่งอายุสามสิบกว่า ช่วงนั้นทุกข์มากจากการทำธุรกิจและประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540
ปกติตั้งแต่เด็ก เวลามีความทุกข์ ไม่เคยพูดกับใคร ไม่เคยปรึกษาใคร แต่ครั้งนั้นลองดูว่า ถ้าเราเล่าให้ใครฟังชีวิตจะเป็นอย่างไร จึงเล่าความทุกข์ให้เพื่อนฟัง วันแรกเขาก็ยังไม่พูดอะไร แต่วันต่อมาเขามาหาที่ทำงานและบอกว่ามีที่หนึ่งสอนกรรมฐานดี เดี๋ยวพี่พาไป เราก็ลาพักร้อนไปทันที คอร์สนั้นคือ การพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาและสันติสุขของ คุณแม่สิริ กรินชัย ที่ยุวพุทธิกสมาคมฯ ศูนย์ 1 บางแค
การปฏิบัติธรรมครั้งแรกนั้น ครูตั้งใจและปฏิบัติตามคำสอนของท่านอาจารย์อย่างเคร่งครัด จนวันที่ 4 ที่เข้ากรรมฐานจึงเกิดสภาวธรรมเห็นจิตในจิต เหมือนมีใครอีกคนข้างในมาพูดวิพากษ์วิจารณ์ตัวเราว่า เราเป็นคนอย่างนี้ นิสัยไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ จนเรานั่งร้องไห้ ทำให้เราศรัทธาในการปฏิบัติ เข้าใจและรู้แล้วว่า ธรรมะจะให้ผลอย่างแท้จริงเมื่อเรานำมาปฏิบัติ การอ่าน การฟังเป็นเรื่องผิวเผิน สิ่งที่จะเปลี่ยนมนุษย์ได้คือการปฏิบัติเท่านั้น
การปฏิบัติธรรมครั้งแรกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตมากน้อยแค่ไหนคะ
เปลี่ยนไปอย่างมากค่ะ ทุกคนในที่ทำงานบอกว่าเปลี่ยนไป ในความรู้สึกของเรา อะไรที่ไม่ดีในตัวเราลดไปครึ่งหนึ่ง การที่เป็นคนใจร้อน โมโหร้าย ปากไว ไม่ยอมใคร ลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด จนน้องที่ทำงานด้วยกันบอกว่า “ตอนที่พี่กลับมาใหม่ ๆ พวกผมพูดกันว่า จะเป็นไปได้เหรอที่การปฏิบัติธรรมทำให้คนเปลี่ยนจากหน้ามือเป็น…” เราก็ได้แต่ฟังแล้วยิ้ม
นี่คือจุดที่ทำให้เชื่อมั่นในการปฏิบัติธรรมมาก เพราะประสบกับตัวเอง ไม่ได้ฟังจากใคร ถ้าคนอื่นมาบอกความไม่ดีของเรา เราอาจเถียงด้วยอัตตาของเรา เราอาจดื้อรั้นไม่ฟัง แต่เมื่อตัวเราข้างในบอกเอง เราเถียงไม่ได้ มันศิโรราบ แล้วเปลี่ยนเอง เราไม่ต้องคิดว่าจะเปลี่ยนอย่างไร จิตเปลี่ยน กายเปลี่ยนทันที ธรรมะเปลี่ยนแปลงมนุษย์แบบนี้ค่ะ แต่คุณต้องทำจริง
หลังจากนั้นถ้ามีโอกาสครูก็จะไปปฏิบัติธรรมที่ยุวพุทธฯ 7 วันบ้าง 9 วันบ้าง โดยปฏิบัติแนวยุบหนอพองหนอ เรียนกับท่าน อาจารย์เรณู ทัศณรงค์ จากที่เคยปฏิบัติห้องรวมก็มาปฏิบัติคอร์สเข้ม พักห้องเดี่ยว ปฏิบัติเอง เพราะถ้าเราปฏิบัติเอง กำหนดเอง จะกำหนดได้ตรงกับปัจจุบันมากกว่าปฏิบัติรวมกัน และปฏิบัติอย่างเคร่งครัด สำรวมอินทรีย์ การปิดวาจา ช่วยให้การปฏิบัติก้าวหน้าได้เร็ว เป็นอย่างนี้มาสิบกว่าปี จนกระทั่งวันหนึ่งก็รู้สึกว่าเราถึงทางตัน เพราะจิตนิ่งไม่ยอมกำหนด และช่วงนั้นเกิดความรู้สึกว่าอยากจะเรียนรู้เรื่องเวทนา แต่ก็ไม่รู้จะไปเรียนที่ไหน
ขณะที่กำลังเคว้งคว้าง พี่คนเดิมที่พามาที่นี่ก็แนะนำหลักสูตรของท่านอาจารย์โกเอนก้า เมื่อได้เบอร์โทรศัพท์ก็โทร.ไปสอบถาม โชคดีที่มีศูนย์ปฏิบัติธรรมอยู่ที่กาญจนบุรี เราก็ขับรถไปดูเลย ทางศูนย์ก็ใจดีให้คำแนะนำ วันนั้นได้หนังสือมาอ่าน พอได้ศึกษาก็รู้ว่าอยู่ในแนวสติปัฏฐาน 4 จึงสมัครเข้าคอร์สทันที และไปปฏิบัติที่นี่อยู่นาน จนได้ช่วยงานเป็นผู้จัดการหลักสูตร
เมื่อการปฏิบัติต่างไป ผลที่ได้ต่างกันไหมคะ
การปฏิบัติที่นี่ก็เกิดสภาวธรรมต่าง ๆ ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมทุกแนวทางของสติปัฏฐาน 4 มีเป้าหมายเดียวกัน ไม่ว่าคุณจะเริ่มต้นมาอย่างไร สุดท้ายแล้วคุณไปถึงที่เดียวกันหมด ที่เดียวกันที่คุณเจอนั่นแหละยุทธภูมิ
ครูปฏิบัติในแนวของท่านอาจารย์โกเอนก้าอยู่ระยะหนึ่ง ก็ปลีกวิเวกไปปฏิบัติเอง ไปอาศัยวัดที่พระท่านเข้าใจการปฏิบัติของเรา ไปอยู่ 7 วัน 15 วัน ไม่พูดกับใคร พอออกจากกรรมฐานก็กลับบ้าน ไม่ค่อยมีเพื่อนหรือรู้จักใคร เพราะเวลานี้ไม่ใช่เวลามาหาเพื่อน แต่เรามาหาตัวเอง
วันหนึ่งเกิดคำถามผุดขึ้นมาว่า “ที่ไหนที่มีการพูดถึงพระอรหันต์มากที่สุด” ข้างในก็ให้คำตอบว่า “ที่ภาคอีสานมีการกล่าวถึงพระอรหันต์มากที่สุด” แล้วก็ถาม – ตอบต่อไปอีกว่า “แล้วใครล่ะเป็นคนสอน” คำตอบที่ได้มาคือ “หลวงปู่มั่นสอน” แสดงว่าคำสอนและแนวทางการปฏิบัติของหลวงปู่มั่นต้องดีจริง ฉันอยากเรียน แต่เราจะไปเรียนที่ไหนกับใคร เพราะครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ท่านก็สิ้นไปแล้ว อยากเรียนแต่หาครูไม่ได้ จะไปทางอีสานก็ไกลและไม่รู้จักใคร แต่สิ่งหนึ่งในเส้นทางการปฏิบัติของครู เมื่อถึงเวลาอยากเรียนรู้อะไรเดี๋ยวธรรมะจะจัดสรรเอง
ครั้งนี้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นคะ
ช่วงนั้นเที่ยวขับรถไปที่โน่นที่นี่ พอใครบอกว่ามีพระป่าหรือพระธุดงค์ที่ไหนก็ไป ขณะที่กำลังค้นหา วันหนึ่งสามีก็นำหนังสือมาให้ 2 เล่ม ขนาด A4 ปกแข็ง ชื่อหนังสือ บูรพาจารย์ ซึ่งลูกศิษย์ทำถวายเป็นอาจาริยบูชาหลวงปู่มั่น มีประวัติของท่านโดยละเอียด รวมถึงประวัติลูกศิษย์ของท่านที่เป็นพระอรหันต์ด้วย คุณว่าบังเอิญไหม
ครูอ่านหนังสือที่ได้มาและเฟ้นหาว่าหลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติอย่างไรและท่านสอนลูกศิษย์แต่ละรูปอย่างไร แล้วนำมาปฏิบัติ จำได้ว่าเมื่อนานแล้วตอนที่ยังไม่มีครู เราเคยนั่งสมาธิท่องพุทโธมาก่อน และเวลาที่อยากรู้อะไรมักจะไปเข้ากรรมฐาน ครั้งนั้นก็ตั้งใจไปปฏิบัติ 7 วัน แต่ก่อนไปเกิดความคิดว่า “สติ สติ สติมันอยู่ตรงไหน” คิดไปคิดมาก็เปิดตู้หนังสือ หยิบหนังสือที่ไม่เคยอ่านมาก่อนเล่มหนึ่ง พอเปิดขึ้นมาก็พบข้อความว่า “สติก็แม่นจิตนั่นแหละ” ซึ่งเป็นคำสอนของหลวงปู่ขาว อนาลโย จึงถือหนังสือของท่านไปปฏิบัติด้วย
เจ็ดวันนั้นก็เกิดความเข้าใจเรื่องจิตสงบ ได้เห็นจิตและความคิดที่ผุดขึ้นมา เหมือนพรายฟองที่ผุดขึ้นมาในน้ำแล้วก็แตกไป นั่งดูความคิดของเราที่ผุดขึ้นมาแล้วดับไป จากน้นั กลับมาก็ศึกษาและปฏิบัติภาวนาพุทโธมาจนถึงปัจจุบัน
ครั้งหนึ่งขณะนั่งสมาธิเกิดคำพูดขึ้นมาในจิตว่า “เข้าไปในบ้านมันเลย” พอออกจากสมาธิก็หยิบหนังสือ 26 โอวาทธรรม 26 ปี วันละสังขาร หลวงปู่ขาว อนาลโย ขึ้นมาเปิดก็เจอข้อความว่า “ก็เข้าไปในบ้านมันนั่นแหละ…” น้ำตาไหลพรากเลย รู้สึกเหมือนได้รับความเมตตาจากหลวงปู่ ยิ่งทำให้เรามีกำลังใจในการปฏิบัติมากขึ้น ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เข้าใจว่า จิตของมนุษย์ปุถุชนเหมือนบ้านร้างที่เจ้าของทิ้งไปนานจนพวกสิงสาราสัตว์ จิ้งจก ตุ๊กแก หนู มาอาศัยอยู่ สัตว์ทั้งหลายนี้คือกิเลสที่ครองใจมนุษย์ กิเลสมันอยู่ที่ใจ เราต้องวางพุทโธลงไปที่ใจ เมื่อเจ้าของบ้านกลับมาสิงสาราสัตว์ก็ต้องออกไป แม้ว่าเจ้าของบ้านจะกลับมาอย่แู ล้ว เมื่อใดที่เจ้าของบ้านเผลอก็อาจมีจิ้งจก ตุ๊กแก คืออารมณ์ต่าง ๆ โผล่มาอยู่เรื่อย ๆ เราก็ต้องมีสติคอยระวังและจัดการมันด้วยพุทโธ เราจึงจะได้รับผลของการพัฒนาจิตอย่างแท้จริง เมื่อเกิดความเข้าใจตรงนี้ก็กลับมาทำความเพียรเองและศึกษาธรรมและการปฏิบัติเรื่อยมาไม่หยุด
การปฏิบัติธรรมครั้งไหนที่ทำให้ครูรู้ว่าเดินมาถูกทางแล้วคะ
รู้สึกว่าเดินถูกทางมาโดยตลอด แต่ที่ทำให้ศรัทธาของเรามั่นคงก็คือครั้งหนึ่งครูกรรมฐานด้วยการพิจารณาธาตุสี่ทุกอิริยาบถ ในวันที่ 3 ขณะที่นั่งสมาธิพิจารณาธาตุ ครูฟุบลงไปข้างหน้าเกิดความรู้ขึ้นในขณะจิตเดียวว่า เวลาที่กายนี้ไม่มีจิตครอง กายของเราไม่ต่างกับซากสุนัขที่ตายข้างถนนเลย มีเลือดเนื้อ ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟเหมือนกันเลย
ในขณะที่ฟุบก็มีคำหนึ่งผุดขึ้นมาดังมากว่า ปรมัตถธรรม ตอนนั้นยังไม่รู้จักว่าคำนี้หมายความว่าอย่างไร เรายังฟุบอยู่ตรงนั้น ร้องไห้ ๆ คิดว่า เออเราปฏิบัติธรรมจนเจอสภาวธรรมอย่างนี้ได้ด้วยเหรอ มันมีจริง ๆ ด้วย วันนั้นเกิดปีติมาก จนถึงกับกินข้าวกลางวันไม่ลง ตกกลางคืนก็นอนไม่หลับ แม้ปกติจะสำรวมเคร่งครัดมากเวลาปฏิบัติ ตาต้องมองต่ำตลอด แต่คืนนั้นเรากลับลุกขึ้นมามองไปนอกหน้าต่างและเห็นไฟดวงหนึ่งไกล ๆ ก็คิดในใจว่าเป็นไฟอะไร ไฟจากเครื่องบินหรือเปล่า ขณะที่คิดนั้นก็มีหิ่งห้อยตัวหนึ่งบินผ่านหน้าต่างไป ทำให้เกิดความรู้ทันทีว่า
อย่ามัวปีติอยู่ สิ่งที่รู้ในวันนี้เปรียบเหมือนแสงหิ่งห้อย สิ่งที่ต้องรู้ยังอีกมาก และอยู่ไกลโน่น
ครูจึงวางทันที ยกมือขึ้นสาธุ ๆ คำสอนของครูบาอาจารย์ที่มาเตือนสติ ไม่ให้เราหลงไปกับสภาวธรรมที่เกิดขึ้น นับจากนั้นเวลาปฏิบัติแล้วเกิดความรู้อะไร ก็แค่รู้แล้ววางและไปต่อ ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เข้าใจว่า กายเป็นเพียงแค่อุปกรณ์เพื่อให้เราใช้ปฏิบัติธรรม ทำความดีไม่ต้องไปบำรุงบำเรอมันมาก แต่ต้องดูแลรักษาให้ดี จะได้ใช้ทำประโยชน์ให้นาน ๆ รู้แล้วว่าอะไรสำคัญที่สุดที่เราต้องดูแล เมื่อไปส่งอารมณ์กับพระอาจารย์ก็กราบเรียนท่าน ท่านก็ว่าศรัทธาของโยมมั่นคงแล้ว
ผลที่ตามมาจากการปฏิบัติครั้งนั้นคือ เลิกแต่งหน้า การแต่งตัวลดลงอย่างมาก และใส่เสื้อสีขาว เพราะเราเห็นความจริงของชีวิต พอกลับบ้านก็มาค้นคำว่า ปรมัตถธรรม และครูก็เข้าใจได้ว่าคือ สภาวะที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นต่อตาต่อหน้านี่แหละปรมัตถธรรม นี่แหละความจริงของชีวิต เมื่อไหร่ที่เราพิจารณาตรงตามความเป็นจริง เราจะได้เห็นความจริง นี่คือสภาวธรรมที่ทำให้ศรัทธาของครูมั่นคง
หลายคนปฏิบัติธรรม แต่ยิ่งละอัตตาไม่ได้ เกิดจากอะไรคะ
มีเยอะนะคะที่คิดว่าฉันปฏิบัติธรรมแล้วฉันเหนือกว่าคนอื่น เป็นกันเยอะ แค่เข้ามาถือศีล 8 ก็วิเศษกว่าคนอื่นตั้งเยอะแล้ว (หัวเราะ) อย่างหนึ่งที่ครูเรียนรู้คือ ยิ่งรู้อะไรก็อย่าได้ทำตัวเป็นผู้วิเศษเด็ดขาด
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ให้อวดอุตริมนุสธรรม เพราะเขาพิสูจน์ไม่ได้ ทำให้มนุษย์โดนหลอกกันมากมาย กลายเป็นวิธีที่ทำให้บางคนหาประโยชน์ เมื่อเราวิเศษกิเลสจะมาทันทีทุกรูปแบบ สำคัญที่สุดคือเราต้องธรรมดา พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พ้นวิเศษ ตรงนี้ต้องจำใส่ใจ ต้องไปทางนี้ ถ้าคุณทำตัววิเศษกว่าคนอื่น คุณก็กำลังเดินสวนทางกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ต้องมองว่าอะไรคือสาระ อะไรคือแก่น
มนุษย์ควรใส่ใจข้างในคือจิตวิญญาณ เพราะคือแก่นที่ต้องท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏและต้องพัฒนา ร่างกายพอตายแล้วก็เน่า ไม่มีประโยชน์ สิ่งที่มีทั้งหมดในโลกก็หมดความหมาย
อีกกรณีหนึ่งคือปฏิบัติธรรมแล้ว มีสติได้ไม่นานก็เป็นเหมือนเดิม เช่น โกรธเหมือนเดิม ช็อปปิ้งหนักเหมือนเดิม กรณีนี้ควรทำอย่างไรคะ
เรื่องธรรมดาของปุถุชนค่ะ เรื่องนี้กำลังสอนให้คุณได้เห็นความเป็นอนิจจัง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เห็นว่ามันเสื่อม แล้วคุณต้องรู้เท่าทันว่ามันต้องเสื่อมแน่ ๆ เราจึงต้องปฏิบัติจริงต่อเนื่องสม่ำเสมออย่างไม่ลดละ มอบกายถวายชีวิต แต่ก็ถือว่ายังดีกว่าคนที่ไม่ได้ปฏิบัติ คนมีศีล 8 ย่อมดีกว่าคนมีศีล 5 คนมีศีล 5 ก็ดีกว่าคนไม่มีศีล ดีทั้งนั้นแหละ (หัวเราะ)
ปัญหาของมนุษย์ที่ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรมคือไม่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เอาไปใช้ไม่ได้ ต้องปฏิบัติไปจนถึงจุดหนึ่งที่สามารถควบคุมจิตใจได้ คุณจะได้เรียนรู้ว่ากิเลสมันมีอำนาจขนาดไหน แล้วทำอย่างไรจึงจะเอาชนะมันได้ ไม่ใช่แค่การประจันหน้าอย่างเดียว คุณต้องใช้กลยุทธ์หลากหลายวิธี
คุณอยากเรียนที่ไหนก็ให้เรียนถึงที่สุด แต่ละองค์ความรู้เปรียบเหมือนของวิเศษที่คุณได้มาเป็นอาวุธสะสม ไว้เวลาที่คุณจะสัประยุทธ์กับกิเลสก็หยิบมาใช้ จะใช้อะไรก็ต้องเห็นตัวกิเลสก่อน ชนะบ้างแพ้บ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะเราเป็นทาสกิเลสมานับภพนับชาติไม่ถ้วน การจะประกาศอิสรภาพจากกิเลส เขาไม่ปล่อยคุณง่าย ๆ หรอก คุณต้องรู้เท่าทัน ต้องเอาจริง ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างจริงจัง ทำจริงต้องได้จริง
เมื่อเราไม่หยุดเรียนรู้ เราจะมีกำลังมากขึ้น เมื่อมีกำลังมากพอก็จะสามารถประหารกิเลสได้ แต่ถ้ากำลังไม่พอก็สะสมไปเรื่อย ๆ ความรู้หรือปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมอย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็นอริยทรัพย์ ไม่หายไปไหน เพราะไม่ใช่ปัญญาที่เกิดจากหัวสมอง แต่เป็นปัญญาที่เกิดจากจิต เป็นคุณภาพของจิต ความรู้จะได้รับการพัฒนาเรื่อย ๆ ไม่ต้องเสียกำลังใจไป
เมื่อถึงช่วงเข้าพรรษา เรามักได้รับข่าวแจ้งมาจากครูหนุ่ยว่า ครูจะไปปฏิบัติธรรม 3 เดือน
ใช่ค่ะ ทำมา 3 พรรษาแล้ว วันหนึ่งไปทำบุญคนเดียว ตอนขับรถกลับบ้านก็คิดว่า จะเข้าพรรษาแล้ว พรรษานี้เราจะทำอะไรดี คิดทำอะไรก็ดูน้อยไป เข้ากรรมฐาน 3 เดือนเลยดีกว่า อยากรู้ว่าเข้ากรรมฐานไม่พูดสามเดือนจะเป็นอย่างไร สามเดือนนั้นก็ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด กินมื้อเดียว ปิดวาจา และตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะปฏิบัติให้เหมือนเป็นสามเดือนสุดท้ายของชีวิต ซึ่งก็ให้ผลมาก กลับออกมาพรรษานั้นมีสิ่งที่อยากบอกกับทุกคนว่า คุณทุกคนต้องฝึกเตรียมตัวตายเอาไว้ก่อน อย่าไปหวังว่าตอนพะงาบ ๆ แล้วมีคนมากระซิบว่า พุทโธ ๆ แล้วจิตจะยึดพุทโธได้ในตอนนั้น คุณแน่ใจได้อย่างไรว่าจะยึดพุทโธได้ ถ้าจิตไม่เคยคุ้นมาก่อน
ครูจึงจัดคอร์ส วิถีสู่ความตาย เป็นองค์ความรู้ที่คนอยู่ก็ได้ประโยชน์ คนจะตายก็ตายดี เป็นเรื่องที่รู้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีกับตัวเองเท่านั้น ผลจากการอบรมก็ดีมาก ผู้เรียนเป็นหมอและพยาบาลเสียส่วนใหญ่ ก็ทำสองสามคอร์สค่ะ
ครูขอย้ำเลยว่า คุณต้องฝึกตั้งแต่ตอนนี้ อย่าหวังเลยว่าจะมีใครมากระซิบข้างหูคุณให้ท่องพุทโธ อัตตา หิ อัตโนนาโถ เอาให้เรามั่นใจว่าเราไปได้เอง ไปได้รอด ไม่ต้องหวังพึ่งใคร แล้วก็มีทางเดียวคือฝึก ไม่มีทางอื่น ไม่มีทางลัด ไม่มีขาย ไม่มีใครช่วยได้ ต้องฝึกเองเท่านั้น เป็นทางเดียว
ไม่ว่าคุณจะอ่านหรือฟังมามากแค่ไหน สิ่งที่คุณได้ยินได้อ่านมาก็ยังเป็นเพียงแค่ความเชื่อ คุณเชื่อในความรู้ของคนอื่น ความรู้ของพระพุทธเจ้าก็เป็นของพระพุทธเจ้า เมื่อไหร่ที่เราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจนได้ลิ้มรสของสภาวธรรม นั่นแหละคือความรู้ของเรา และจะเกิดได้ทางเดียวคือปฏิบัติเท่านั้น
ทุกพรรษาครูจึงมีเป้าหมายว่าจะไปพิจารณาเรื่องอะไรอย่างจริงจัง และมีบันทึกไว้ รอให้ตายก่อนค่อยเอามาเปิดเผยว่าเรียนรู้อะไร (หัวเราะ) การไปปฏิบัติธรรมอยู่พรรษาคล้ายกับการไปฝึกเทคนิคต่าง ๆ ในการรับมือกับกิเลส เพื่อนำมาใช้ในสนามจริงคือชีวิตประจำวัน
ครูหนุ่ยเคยไปบวชด้วยใช่ไหมคะ
ครูเคยบวชชีอยู่หนึ่งเดือน ซึ่งตอนนั้นไม่ได้กำหนดหรอกว่าจะบวชหนึ่งเดือน เมื่อเหตุปัจจัยมาถึงพร้อม ครูก็บอกกัลยาณมิตรว่าจะบวชแล้วไปปฏิบัติที่พุทธคยา 15 วัน ที่บวชเพราะอยากรู้วิถีของนักบวช และที่ไปพุทธคยาก็เพราะเห็นคนบอกว่าไปปฏิบัติแล้วเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จึงต้องไปให้รู้เอง ครูไปพักที่วัดไทยและไปปฏิบัติที่พุทธคยา ก็ได้ความรู้กลับมา แต่สำหรับเรามองว่า ที่นี่ไม่ได้เหมาะสำหรับไปเข้ากรรมฐาน แต่เป็นที่แสวงบุญ ครบ 15 วันก็กลับ
การบวชทำให้ได้เรียนรู้ชีวิตของนักบวช ในที่สุดก็ตกผลึกว่า เรายังต้องการทำงานทางโลก คือการออกมาเผยแผ่ มาพูดเรื่องความรู้ต่าง ๆ สำหรับตัวเองคิดว่า ถ้าอยู่ในสมณเพศแล้วคือต้องวางทางโลกเลย ตอนนี้ก็ยังไม่ใช่เวลา เรายังอยากช่วยคน และยังมีหน้าที่สำคัญคือความเป็นแม่และเป็นภรรยา ต้องทำให้จบ
อีกอย่างคือ เมื่ออยู่ในสมณเพศได้เห็นว่ากิเลสมาทุกทิศทาง ลาภสักการะสำคัญที่สุด ที่พังกันเพราะตรงนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า อะไรเป็นเหตุให้ละเสีย ถ้าเราเป็นฆราวาสไม่มีใครมาให้อะไรเราหรอก เราจะได้ไม่ต้องทำแบบฝึกหัดอันนี้
ทราบว่าครูหนุ่ยได้เรียนศาสตร์ต่างๆ อย่างการสะกดจิตบำบัด (Hypnotherapy) และโปรแกรมภาษาสมอง (Neuro-Linguistic Programming: NLP) ศาสตร์เหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอย่างไรคะ
พุทธศาสนาสอนเรื่องการพัฒนาจิต การชำระจิตให้ผ่องใส การสะกดจิตและ NLP ก็เป็นการทำงานกับจิตเหมือนกัน เป้าหมายของพุทธศาสนาคือให้จิตดำเนินกลับไปสู่สภาวะเดิมคือธาตุรู้ ส่วน NLP และสะกดจิตเป็นการเรียนรู้ที่จะนำศักยภาพของจิตมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตของมนุษย์ แค่สอนให้เรารู้จักกับพลังชนิดหนึ่งแล้วก็สอนวิธีนำพลังงานนั้นไปใช้ เมื่อเทียบกับความรู้ทางพุทธศาสนาแล้ว ศาสตร์พวกนี้ก็ยังเป็นความรู้ขั้นพื้นฐานในระดับปุถุชนที่ยังต้องแสวงหาความสุข ความสำเร็จในทางโลก
ครูสนใจเรื่องการสะกดจิตมานานแล้ว เคยอ่านหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการ ต่อมาก็อ่านหนังสือ เราจะข้ามเวลามาพบกัน ของ Dr. Brian L. Weiss และหนังสือของท่านทุกเล่มที่แปลเป็นภาษาไทย สนใจการทำงานของท่าน เรียกว่าท่านเป็นแรงบันดาลใจก็ได้ วันหนึ่งบังเอิญเห็นในอินเทอร์เน็ตว่ามีคอร์สสอนการสะกดจิตบำบัด ตื่นเต้นมาก อยากเรียนแต่ก็คิดอยู่นานเพราะค่าเรียนสูงมาก
ครั้งแรกไปเรียนการสะกดจิตบำบัดแล้วมั่นใจว่าตัวเองทำได้และไม่ขัดแย้งต่อการปฏิบัติธรรม จึงกลับไปเรียนซ้ำอีกครั้งในคอร์สเดิม ต่อมาก็ได้ไปเรียนคอร์สสะกดจิตย้อนอดีตชาติบำบัดกับลูกศิษย์ของ Dr. Brian L. Weiss ที่เปิดสอนในประเทศไทย การไปเรียนสะกดจิตย้อนอดีตชาติบำบัดนี้มีหลายคนตั้งคำถามว่าหลงทางหรือเปล่า งมงายหรือเปล่า มันเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ เรื่องการระลึกชาตินั้นในคำสอนของพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่จริง ไม่ใช่เรื่องงมงาย แต่ถ้าจะถามว่าการระลึกชาติในกระบวนการการบำบัดนั้นจริงหรือเปล่า ครูตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในวิสัยของปุถุชนที่จะรู้ได้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า มันเป็นการบำบัดวิธีหนึ่ง ถ้าวิธีการมันสามารถแก้ปัญหาให้คุณได้ มันก็น่าจะเพียงพอแล้ว
แล้วครูก็ไปเรียน NLP เรียน Master Coach และอื่น ๆ อีกมากมาย อ่านหนังสือทุกวัน ครูมั่นใจว่าศาสตร์ต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ง่ายและเร็วขึ้น ทำให้เกิดการเรียนรู้ในระดับจิตใต้สำนึกได้อย่างลึกซึ้ง
ศาสตร์สมัยใหม่เหล่านี้มีส่วนในการสอนธรรมะของครูอย่างไรคะ
ครูนำศาสตร์เหล่านี้มาใช้เป็นเครื่องมือในการนำธรรมะให้เข้าสู่ใจของคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น การสอนธรรมควรปรับปรุงไปตามยุคสมัย เทคนิคใหม่ แต่เนื้อหาเดิม เพราะพระธรรมคำสอนนั้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เด็กสมัยนี้พอพูดเรื่องฟังเทศน์ฟังธรรมก็ทำหน้าเหมือนถูกบังคับให้กินของไม่อร่อย บางคนได้ยินแล้วเดินหนี การนำศาสตร์สมัยใหม่มาผสมผสานกับประสบการณ์ทางโลกและทางธรรมทำให้เกิดรสชาติที่กลมกล่อมในแบบของครู
หลายคนที่ได้เรียนรู้กับครู บอกว่าครูพูดธรรมะแล้วเข้าใจง่าย นั่นเพราะครูถ่ายทอดจากประสบการณ์ พูดภาษาธรรมดา เปรียบเทียบกับสิ่งที่มองเห็นได้รอบ ๆ ตัวเรา แม้มีเพียงประโยคสองประโยคที่พูดธรรมะแล้วทำให้คนเกิดความรู้ความเข้าใจ ก็เป็นประโยชน์มากแล้ว งานของครูตรงนี้เป็นเหมือนยาแรงที่ช่วยให้คนผุดขึ้นมาจากความทุกข์ได้เร็ว คนที่มีความทุกข์เหมือนกับคนที่กำลังจะจมน้ำ ในขณะที่คนกำลังจมน้ำ ไปสอนว่ายน้ำให้เขาตอนนั้น เขาจะเรียนได้ไหม เรียนไม่ได้หรอก
ฉันใดก็ฉันนั้น คนที่กำลังดำผุดดำว่ายอยู่ในทะเลทุกข์ จะไปสอนธรรมะเขา ก็ไม่มีกะจิตกะใจจะฟัง เราต้องช่วยให้เขามีสติสตังขึ้นมาก่อน ทำให้เขามีกำลังใจ แล้วจึงบอกให้เขาไปเรียนว่ายน้ำหรือไปปฏิบัติธรรมต่อไป เราทุกคนควรจะเรียนว่ายน้ำเอาไว้ก่อน หมั่นศึกษาธรรมะเสียตั้งแต่ตอนนี้
ณ วันนี้เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของครูหนุ่ยคืออะไรคะ
เป้าหมายทางโลกคือ การได้เดินทางไป สอนวิชาชีวิตให้แก่นักศึกษา ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพราะคนกลุ่มนี้เป็นอนาคตของชาติ เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ อยากพัฒนาพวกเขาให้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ดี มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวของชีวิต ช่วยคลายปมให้พวกเขา แล้วจึงใช้ธรรมะอบรมจิตเพื่อมีชีวิตที่ดีงาม เรียนรู้ว่าปมในชีวิตของมนุษย์เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์มากแค่ไหน เพื่อที่พวกเขาจะได้เลี้ยงลูกได้ดี ไม่สร้างปมให้เกิดขึ้นในชีวิตของลูก มีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน รู้วัตถุประสงค์ของการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ และสอนการใช้ชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัย รู้บทบาทของตัวเองและเล่นให้ถูกบท ปัญหาของมนุษย์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดมาจากการเล่นผิดบท มีอัตตา ยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกู จึงเล่นผิดบทอยู่เสมอ ถ้าทุกคนเล่นตรงตามบทบาทของตน โลกก็ไม่มีปัญหา นี่เป็นการลดละอัตตาในชีวิตประจำวัน
อีกอย่างหนึ่งคือ ถ้ามนุษย์มีความเข้าใจชีวิต รู้จักตัวเอง รักตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเอง เขาจะมีความมั่นคงอยู่ในใจ เขาไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้สึกหรือคำพูดของใครมาสนับสนุนหรือประคับประคองใจเขา ไม่สำคัญเลย โลกธรรม 8 จะกระทบเขาได้น้อยมาก เพราะเขารู้ว่าเขาเป็นใคร ทำอะไร เพื่ออะไร เราต้องรู้จักตัวเองและเข้าใจตัวเองให้ได้ นี่คือสิ่งที่อยากแบ่งปัน และครูก็มีโอกาสไปสอนนักศึกษาปี 1 และปี 4 มาบ้างแล้ว
ปีนี้อายุ 60 เต็ม รู้สึกว่าชีวิตเพิ่งเริ่มต้นจริง ๆ หกสิบปีที่ผ่านมาเราถูกเตรียมพร้อมเพื่อที่จะทำงานนี้ไปจนกว่าเราจะตาย ทุกประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ทั้งสุขทุกข์ ความสำเร็จหรือล้มเหลว การงานอาชีพ การศึกษาธรรมะ ความรู้ทั้งหมดถูกนำมาผสมผสานบ่มเพาะจนกลายเป็นหลักสูตรเปิดห้องเรียนวิชาชีวิตที่ให้ความรู้ในทุกมิติของชีวิต
สำหรับเป้าหมายทางธรรมของครูคือ นิพพาน บางคนว่า โอ้โห ช่างกล้านะ จะไปนิพพานเลยเหรอ ครูไม่ได้รู้สึกว่านิพพานนั้นสูงส่งจนเราแตะต้องไม่ได้ ที่พระพุทธเจ้าทรงลำบากพากเพียรมา 20 อสงไขยเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อนิพพานหรือ และพระธรรมที่พระองค์ทรงสอนไม่ใช่เพื่อให้ทุกคนไปนิพพานดอกหรือ เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เราก็ต้องนิพพานตามพระบรมศาสดาของเรา
คุณต้องถามตัวเองว่า คุณเข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร ถ้าคุณต้องการความสุข การปฏิบัติของคุณก็จะให้ผลเป็นความสุข ถ้าคุณปรารถนานิพพาน เข็มทิศของคุณจะชี้ตรงไปนิพพานอย่างมั่นคง ผลที่ได้จากการปฏิบัติก็คือปัญญา นิพพานคือจิตบริสุทธิ์จากกิเลส กิเลสจะหมดไปจากจิตได้ด้วยปัญญา
ถ้าคุณเดินตรงไปอย่างไม่ลดละต่อเนื่องสม่ำเสมอ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง เส้นทางนี้สั้นที่สุดแล้ว
Secret’s Quote
จิตใจเข้มแข็งที่ต่อสู้กับอารมณ์ต่างๆ
ได้นั้นเกิดจากการปฏิบัติ ไม่มีทางอื่น
ทุกอย่างมาจากการฝึกฝนอย่างจริงจัง
และต่อเนื่องเท่านั้น
ครูหนุ่ย – งามจิต มุทะธากุล
ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 234
เรื่อง : เชิญพร คงมา ภาพ : วรวุฒิ วิชาธร